ป.ป.ช.แถลงจับสด จนท.เขตราชเทวี เรียกรับเงิน 3.2 ล้าน กทม.สอบวินัยร้ายแรง
"ป.ป.ช." สนธิกำลังร่วม "ตำรวจสอบสวนกลาง-ป.ป.ท." จับสดรวบเจ้าพนักงานเขตราชเทวี เรียกรับผลประโยชน์ 3.2 ล้านบาท กทม.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงทันที เจ้าตัวปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช., นายพิศิษฐ์ พัฒนกิจจำรูญ ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ ร่วมกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป., พ.ต.อ.อภิชาติ โพธิจันทร์ รอง ผบก.ปปป., พ.ต.อ.ธนวัฒน์ หิ้นยกฮิ่น ผกก.1 บก.ปปป.
พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. นำโดย นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท., พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2, นายสุภาพ ศิริ ผู้อำนวยการกองอำนวยการต่อต้านการทุจริต, พ.ต.ต.จักรกฤษณ์ ประจันพล ผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวยการด้านคุ้มครองพยาน
และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง. นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ง., นายกมลสิษฐ์ วงศ์บุตรน้อย ผู้ช่วย เลขาธิการ ป.ป.ง., นายปิยะ ศรีวิกะ ผู้อำนวยการกองคดี 2 และนายภัทระ หลักทอง ผู้อำนวยการกองป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ร่วมกันจับกุม นายประมวล (สงวนนามสกุล) อายุ 57 ปี ดำเนินคดีในความผิดฐาน “เป็นเจ้าพนักงาน เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใด ในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149, “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต” มาตรา 157 ณ ลานจอดรถ โรงแรมแห่งหนึ่งในพื้นที่ แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
กรณีนี้สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย กรณี จนท.สนง.เขตราชเทวี ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เรียกรับเงินจากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน พฤติการณ์ กล่าวคือ จนท. สนง.เขต แจ้งให้ บริษัทฯ เข้าไปชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามแบบ (ภ.ร.ด.2) และผู้เสียหายได้มอบหมายให้ ตัวแทนซึ่งเป็นพนักงานของ บริษัทฯ เข้าไปติดต่อและต่อมาตัวแทนของผู้เสียหายได้กลับมาแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่า จนท.สนง.เขตราชเทวี ได้บอกว่า บริษัทฯ จะต้องชำระค่าภาษีประมาณ 40 กว่าล้านบาท แต่หากนำเอาเงินมาให้ จนท.สนง.เขตราชเทวี รายดังกล่าว จำนวน 3 ล้านบาท จะเก็บเรื่องดังกล่าวไว้ ทำให้ บริษัทฯ ไม่ต้องชำระเงินจำนวน 40 กว่าล้านบาท
จากนั้นบริษัทฯ ได้ให้ตัวแทนติดต่อแจ้งว่ายอดภาษีที่แจ้งมานั้นมีจำนวนสูงเกินจริงซึ่ง จนท.สนง.เขต ได้ตอบว่าเงินที่เคยเสนอไปจำนวน 3 ล้านบาท ขอเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 3,500,000 บาท เพราะต้องเอาไปแบ่งกรรมการอีกหลายท่าน ต่อมาผู้เสียหายแจ้งว่าจะนำพนักงานบัญชีของบริษัทฯไปขอทราบรายละเอียด ก็ได้คำตอบว่าสามารถลดราคาลงได้เหลือ 3,200,000 บาท ผู้ร้องเรียนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวของ จนท.สนง.เขตราชเทวีเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายจงใจเรียกรับเงินเพื่อไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว ไม่เก็บภาษีเข้ารัฐฯ จึงมาร้องเรียนเพื่อให้ตรวจสอบและในขณะที่ผู้เสียหายได้ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนอยู่นั้น ตัวแทนของผู้เสียหายได้โทรศัพท์เข้ามาหาและแจ้งว่าได้นัดหมายกับ จนท.สนง.เขตราชเทวีคนดังกล่าวเพื่อให้เข้ามาพบผู้เสียหายในวันศุกร์ที่ 31 มี.ค. 66 เวลา 14.00 น. ที่โรงแรมฯ เพื่อรับฟังรายละเอียดจาก จนท.สนง.เขตด้วยตนเอง
กระทั่ง 31 มี.ค. 66 เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ประสานและวางแผนการจับกุมร่วมกับผู้เสียหายเพื่อกำหนดแนวทางและรวบข้อมูลพยานหลักฐาน จนกระทั่ง จนท.สนง.เขตฯ ได้ขับรถมาที่โรงแรมฯ เพื่อพบตัวแทนผู้เสียหายเพื่อขึ้นไปพบกับผู้เสียหาย โดยทั้งสองได้พูดคุยเพื่อเจรจาต่อรองกัน สรุปได้ว่าผู้เสียหายต้องจ่ายเงินทั้งสิ้นเป็นเงินจำนวน 3,200,000 บ.พร้อมทั้งนัดหมายส่งมอบเงินให้กับ จนท.สนง.เขตฯ ในวันที่ 4 เม.ย. 66 เวลา 14.00 น.
ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. 2655 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป.พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ผู้เสียหายนำเงินสดจำนวนทั้งสิ้น 3,200,000 บาท มาลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานที่ กก.1 บก.ปปป.เพื่อเป็นพยานหลักฐาน ต่อมาวันที่ 4 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 16.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปปป. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. ได้ร่วมกันวางแผนเพื่อแสวงหาพยานหลักฐานและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ ผู้เสียหายนำเงินสดซึ่งลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานแล้ว นำมามอบให้ จนท.สนง.เขตฯ ที่ โรงแรมฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ฯ เฝ้าสังเกตการณ์อยู่บริเวณโดยรอบ
เมื่อผู้ต้องหาได้เดินทางมาถึงโรงแรมฯ ที่เกิดเหตุได้ใช้รถยนต์ราชการของสำนักงานเขตราชเทวีทะเบียน 2 กพ 6108 กทม และเมื่อผู้เสียหายได้ส่งมอบเงินแล้ว จนท.สนง.เขตฯ กำลังเดินทางกลับเมื่อถึงบริเวณลานจอดรถโรงแรมฯ เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานเพื่อเข้าทำการตรวจค้น ขณะทำการตรวจค้น พบว่ามีเงินสดจำนวน 3,200,000 บาท อยู่ภายในถุงกระดาษสีขาว ที่จนท.สนง.เขตฯ ถือติดตัวมาด้วย เจ้าหน้าที่ฯจึงทำการตรวจสอบเงินสดต่อหน้าผู้ต้องหา พบว่าหมายเลขธนบัตรตรงกับหมายเลขธนบัตรที่ลงบันทึกประจำวันไว้จึงได้แจ้งพฤติการณ์และข้อกล่าวหาให้ผู้ต้องหาทราบ นำส่ง พงส.กก.1 บก.ปปป. โดย พงส. บก.ปปป. จะได้สอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำส่งสำนวนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาตามกฎหมายต่อไป
จากการสอบถามผู้ต้องหา ให้การปฏิเสธตลอดในข้อกล่าวหา โดยให้การว่าสิ่งของที่รับมาจากผู้เสียหายนั้นตนคิดว่าเป็นเอกสารแต่รับว่ารับสิ่งของดังกล่าวมาจากผู้เสียหายจริง
- กทม.ตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรงทันที
วันเดียวกัน นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย พล.ต.อ.อดิรศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมแถลงข่าว การจับกุมเจ้าหน้าที่ฝ่ายรายได้ สำนักงานเขตราชเทวีดังกล่าว โดยนายเฉลิมพล กล่าวว่า ในนามของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ได้ฝากขอบคุณทางหน่วยงานที่ได้ร่วมมือในวันนี้ ในการร่วมกันกำจัดเนื้อร้ายของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนโยบายของฯกทม. ได้ย้ำตลอดว่า จะไม่ทนให้เกิดการทุจริตขึ้นในหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเคสนี้ค่อนข้างน่ากังวลเนื่องจากผู้ที่ถูกจับกุมเป็นระดับบริหารของสำนักงานเขตที่มีหน้าที่ในการดูแลกิจการสาธารณะของประชาชน แต่กลับใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตเสียเอง การจับกุมในวันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เป็นตัวอย่างของหน่วยงานกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีข้าราชการและลูกจ้างเกือบแสนคน โดยกำชับใช้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้องมีการตรวจสอบผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ให้เกิดพฤติกรรมทุจริต
รองปลัด กทม. กล่าวอีกว่า กรณีนี้จะต้องมีการดำเนินการทางอาญาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่วนการดำเนินการทางวินัยทางปลัดกรุงเทพมหานครจะเริ่มดำเนินการในวันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) ด้วยการตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยเบื้องต้นจะให้ออกจากราชการไว้ก่อน เช่นเดียวกับการทุจริตรายอื่นๆ ทั้งนี้เพราะว่าผู้ว่าฯ กทม. ย้ำเสมอว่าเมื่อมีการกระทำทุจริตไม่ได้สงสารผู้กระทำผิด แต่สงสารคนในครอบครัวที่ต้องร่วมรับผลกระทบ จึงฝากให้ข้าราชการลูกจ้างปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และขอให้ข้าราชการลูกจ้างทุกคนเป็นข้าราชการที่ดี
ส่วน พล.ต.อ.อดิศร์ กล่าวว่า อยากให้ประชาชนแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานหลักที่ท่านให้ความไว้วางใจ (ปปช. /ปปท./ปปง./ปปป.) เพื่อให้ดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้องและทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ แม้แต่ในเรื่องของการไม่ออกใบอนุญาต เอาเวลามาทำเป็นตัวให้ประชาชนนั้นมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยทางกรุงเทพมหานครพร้อมที่จะประสานงานกับทุกหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และกราบขอโทษประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องลักษณะแบบนี้ พร้อมทั้งขอบคุณทั้ง 4 หน่วยงานที่ช่วยดำเนินการช่วยทำให้เขตราชเทวีสะอาดขึ้นและเป็นเคสตัวอย่างให้กับหน่วยที่มีพฤติกรรมลักษณะนี้ต้องคำนึงในเรื่องที่จะทำ อะไรไม่ถูกต้องและขอให้เลิกเสีย