ประธาน กกต.ลงนามตั้ง 30 อนุกรรมการฯชี้ขาดข้อโต้แย้งระหว่างเลือกตั้ง 66

ประธาน กกต.ลงนามตั้ง 30 อนุกรรมการฯชี้ขาดข้อโต้แย้งระหว่างเลือกตั้ง 66

เตรียมพร้อมรับมือศึกเลือกตั้ง 66 ประธาน กกต.ลงนามตั้ง 30 อรหันต์นั่งอนุกรรมการฯ ชี้ขาดปัญหา-ข้อโต้แย้งระหว่างเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ตามที่ กกต.ได้มีคำสั่ง ที่ 48 /2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ลงวันที่ 22 มี.ค. 2564 และคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่แต่งตั้งอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง แทนตำแหน่งที่ว่าง 

เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุไว้ในระเบียบกกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน และการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2566 และงานอื่นตามที่กกต.มอบหมาย ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งนั้น อาศัยอำนาจตามมาตรา 37 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยกกต. พ.ศ. 2560 และข้อ 74 ของระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. 2561 และแก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2566 

กกต.จึงมีคำสั่ง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง จำนวน 30 คณะ อาทิ นายพีระพันธ์ เหมะรัต เป็นประธานอนุกรรมการ นายอัศวิน โชติพนัง เป็นอนุกรรม การพันตำรวจโท สมชัย ประชาเสริมศาสตร์ เป็นอนุกรรมการ นางกาญจนา วีณานันท์ เป็นอนุกรรมการ นายไชยยา ตาบทิพย์วัฒนา เป็นอนุกรรมการ เป็นต้น

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง มีอำนาจในการพิจารณาและวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง ตามระเบียบ กกต.ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยขี้ขาด พ.ศ.2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3 ) พ.ศ. 2566 และการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และที่เกี่ยวกับการยื่นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทุกระดับ และงานอื่น ๆ ตามที่กกต.มอบหมาย  

ส่วนกรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนอนุกรรมการวินิจฉัยขี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้ง คณะหนึ่งอาจไปร่วมพิจารณากับคณะอนุกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งในอีกคณะหนึ่งเพื่อให้ครบองค์ประชุมในการพิจารณาและทำความเห็นก็ได้  โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2566 เป็นต้นไป