‘แคนดิเดตนายกฯ’ นอกกระแส หลายวงการขยับสู่พื้นที่การเมือง
“แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” นอกกระแส ต่างคนต่างมีดีกรี และมีแนวทางการทำงานแตกต่าง หลากหลาย ที่สนใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง แม้อาจจะไม่หวังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่การมีส่วนร่วมทางการเมือง อาจเป็นโอกาสเปิดตัว และสร้างกระแสในพื้นที่การเมืองได้เช่นกัน
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการสมัคร ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และจับเบอร์พรรคการเมือง พร้อมกับให้แต่ละพรรคการเมือง ส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อไปแล้ว
ชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมือง “บิ๊กเนม” ไม่เกินความคาดหมาย เพราะแต่ละชื่อเป็นตัวละครหน้าฉากการเมืองอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมีหลายพรรคการเมืองเช่นกัน ที่เสนอชื่อ"แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนอกกระแส"
“กรุงเทพธุรกิจ” พาไปทำความรู้จักแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี นอกกระแสการเมือง ของแต่ละพรรค หลายคน หลายคนเป็นนักการเมือง และหลายคนคือหน้าใหม่ มีโปรไฟล์ที่น่าสนใจ
พรรคไทยพร้อม เบอร์ 28 ส่งผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อ 27 คน เสนอชื่อ "วิทยา อินาลา" และ "วิษณุ กรองกันภัย" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“วิทยา” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เมกาเคม (ประเทศไทย) ส่วน “วิษณุ” เป็นประธานมูลนิธิร่มบุญ ช่วยกันก่อรากสร้างฐานพรรคไทยพร้อม มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 โดยพรรคนี้มีฐานเสียงอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน
นโยบายของพรรคต้องการเสนอผลักดันให้ กระทรวงมหาดไทย กำหนดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ต้องมาจากคัดสรรเสนอชื่อจากกระทรวงมหาดไทย และให้ประชาชนเป็นผู้เลือกเข้ามาพัฒนา แทนการแต่งตั้ง
พรรคพลัง เบอร์ 9 ส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 13 คน เสนอชื่อ "ชัยยพล พสุรัตน์บรรจง" และ "ลิขสิทธิ์ ใสกระจ่าง" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“ชัยยพล” มีคอนเนกชันกับสายสหพันธ์ครูทั่วประเทศ มีประสบการณ์ทำงานภาครัฐผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง เป็นนักพูด พิธีกร ในหลายเวที
“ลิขสิทธิ์” ผ่านงานภาคเอกชน อดีตรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ควบคุมดูแลงานด้านการบริหารหนี้สิน ประสบการณ์ทางการเมือง เคยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
พรรคไทยชนะ เบอร์ 13 ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน เสนอชื่อ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และปลัดกระทรวงการคลัง
หากย้อนไปในปี 2562 หม่อมเต่า “จัตุมงคล” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย และนั่งเก้าอี้ รมว.แรงงาน ภายหลังการเลือกตั้ง แต่ “ม.ร.ว.จัตุมงคล” ต้องพ้นจาก รมว.แรงงาน ก่อนที่ “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” จะเข้ามานั่งเก้าอี้ รมว.การอุดมศึกษาฯ ในโควตาของพรรครวมพลังประชาชนชาติไทยแทน
จากนั้นได้มีการตั้งพรรคไทยชนะ ซึ่งใช้คำคล้ายกับโครงการรัฐ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะเป็นพรรคสำรองของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หรือไม่ จนกระทั่งกลางปี 2564 มีการจดทะเบียนพรรคการเมือง ก่อนจะมาเสนอชื่อ “จัตุมงคล” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้
พรรคเพื่อชาติ เบอร์ 24 ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 38 คน เสนอชื่อ "เรวัต วิศรุตเวช" และ "ร.อ.จารุพล เรืองสุวรรณ" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“เรวัต” เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการแพทย์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเคยเป็นผู้ถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดิน
“ร.อ.จารุพล” เป็นหลานแท้ๆ ของ “จารุบุตร เรืองสุวรรณ” อดีตประธานรัฐสภาผู้ล่วงลับ และเป็นลูกชายของ “พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ” อดีต กกต. และยังมีศักดิ์เป็นญาติกับ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” อดีตรมว.มหาดไทย มีดีกรีเป็นอดีตอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
พรรคไทยเป็นหนึ่ง เบอร์ 33 ส่งผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อ 24 คน เสนอชื่อ "พล.อ.ประสูตร รัศมีแพทย์" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดย “พล.อ.ประสูตร” เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลทหารสูงสุด รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (ด้านพลังงาน) จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่น 14 (ตท.14) และจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 (จปร.25) รุ่นเดียวกับ “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” อดีต ผบ.ทบ.
พรรคเพื่อชาติไทย เบอร์ 36 ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 32 คน เสนอชื่อ "คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “คฑาเทพ” เคยรับราชการตำรวจ ต่อมาได้เข้าสู่งานการเมืองโดยการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดอำนาจเจริญ ในปี 2557
จากนั้นจัดตั้งพรรคการเมืองในปี 2561 ในชื่อพรรคพลังไทยรักไทย ก่อนจะส่งให้ “คฑาเทพ” ได้นั่งเก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อปี 2562 ชื่อของ “คฑาเทพ” อยู่ในลิสต์ของพรรคเล็กที่โหวตสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” แต่ภายหลังยุบสภา “คฑาเทพ” มาต่อยอดการเมืองกับพรรคเพื่อชาติไทย
พรรคมิติใหม่ เบอร์ 39 ส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 30 คน เสนอชื่อ "ปรีชา ไข่แก้ว" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี “ปรีชา” ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลต้นแบบ 2565 จากอดีตที่เคยบวชเรียน จนกระทั่งได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเขาอิติสุคโต จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นานถึง 33 ปี
โดย “ปรีชา” มีนโยบาย สร้างรายได้ให้กลุ่มเกษตรกรชาวเขาได้ปลดหนี้ ยึดหลักการให้ความรู้และแนวทางจัดสรรทรัพยากร การทำเกษตรกรรมที่ถูกวิธี ผลักดันเรื่องการเกษตร ราคาพืชผลการเกษตร
พรรคประชาภิวัฒน์ เบอร์ 40 ส่งผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อ 17 คน เสนอชื่อ "สมเกียรติ ศรลัมพ์" และ "พล.ต.ไชยนาจ ญาติฉิมหลี" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“สมเกียรติ” เคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงวัฒนธรรม เคยนั่งเก้าอี้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน อีกทั้งยังอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครสวรรค์
“พรรคประชาภิวัฒน์” ถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีสายสัมพันธ์กับวัดพระธรรมกาย เป็นพรรคเพื่อพระพุทธศาสนา ครั้งหนึ่ง “สมเกียรติ” เคยเสนอให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ จนเกิดการถกเถียงกันในวงกว้าง
พรรคไทยธรรม เบอร์ 41 ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 คน เสนอชื่อ "กิติกร วิชัยเรืองธรรม" "อโณทัย ดวงดารา" และ "รัตติกาล โสวะภาส" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดย “กิติกร” เป็นแพทย์ Intervension full time ประจำศูนย์หัวใจ และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลพิษณุเวช
อย่างไรก็ตาม “พรรคไทยธรรม” มีชื่อของ “อุ๊บ” วิริยะ พงษ์อาจหาญ นักปั้นมือทอง อยู่ในลิสต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยธรรม ลำดับที่ 1 โดย “วิริยะ” ระบุว่า ได้เตรียมตัวมาเป็นปีแล้ว มีเจตนารมณ์ในการช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว
“ผมจะเป็นตัวแทนของกลุ่ม LGBTQ ในการขับเคลื่อนความเท่าเทียมกันในสังคม รวมถึงจะเป็นตัวแม่ที่มีจุดยืนชัดเจนในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คือเรื่องความยากจนของคนในสังคม ให้ประชาชนมีสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
พรรคราษฎร์วิถี เบอร์ 44 ส่งผู้สมัครส.สบัญชีรายชื่อ 10 คน เสนอชื่อ "สุชาติ บรรดาศักดิ์" และ "รัฐฐาน์ พีรวิชญ์ธนาภัศ" เป็น แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“สุชาติ” นั่งเก้าอี้ ส.ส. นนทุบรี 3 สมัย สมัยแรกสังกัดพรรคประชากรไทย สมัย 2 และ 3 สังกัดพรรคไทยรักไทย ปี 2550 สังกัดพรรคประชาราช แต่แพ้การเลือกตั้ง เช่นเดียวกับปี 2554 สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แพ้การเลือกตั้งเช่นกัน
กระทั่งปี 2561 “สุชาติ” ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ มาสังกัดพรรคพลังพลเมืองไทย รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค และประธานสรรหาผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังพลเมืองไทย ต่อมาในปี 2564 ได้จัดตั้งพรรครวมไทยรักชาติขึ้น และนั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค
พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เบอร์ 49 ส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 10 คน เสนอชื่อ "ณัชพล สุพัฒนะ" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
“ณัชพล” เป็นรู้จักในฉายา “มาร์ค พิทบูล” เป็นคนดังในโลกออนไลน์ ที่มักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “พล.อ.ประยุทธ์” ตั้งแต่ในยุค คสช. เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก Pitbullzone ซึ่งมีผู้ติดตามหลายแสนคน
การเลือกตั้งปี 2562 “ณัชพล” นั่งเก้าอี้รองหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก่อนประกาศลาออกจากพรรคไทยศรีวิไลย์ ภายหลังเกิดความขัดแย้งกับ “เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ คนปัจจุบัน
พรรศชาติรุ่งเรือง เบอร์ 52 ส่งผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อ 11 คน เสนอชื่อ "พิมไหมทอง ศักดิพัตโภคิน" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดย “พิมไหมทอง” ให้สโลแกนของพรรคเอาไว้ว่า “รีโนเวทชีวิตใหม่ ให้ประชาชน การเมืองของคนรุ่นใหม่ เพื่อหัวใจไทยทุกชน”
พรรคพลังสังคม เบอร์ 53 ส่งผู้สมัครส.ส. บัญชีรายชื่อ 14 คน เสนอชื่อ "ณฐพร ชลายนนาวิน" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดย “พรรคพลังสังคม” มีฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา และส่งผู้สมัครลงชิง ส.ส.เขต จังหวัดนครราชสีมา หลายพื้นที่
“พรรคพลังสังคม” มีนโยบายที่ชูมาตั้งแต่ต้น นโยบายโฉนดใบเดียว โฉนดเป็นของคนรากหญ้า โดยจะเข้าไปแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ให้ราษฎรได้มีสิทธิ์ในการทำมาหากินอย่างถูกต้อง
ทั้งหมดคือ “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” นอกกระแส ต่างคนต่างมีดีกรี และมีแนวทางการทำงานแตกต่าง หลากหลาย ที่สนใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง แม้อาจจะไม่หวังนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี แต่การมีส่วนร่วมทางการเมือง อาจเป็นโอกาสเปิดตัว และสร้างกระแสในพื้นที่การเมืองได้เช่นกัน