‘นโยบายแจกเงิน’ ยุคแข่งตัวเลขประมูลขอคะแนน
นโยบายแจกเงินจากการหาเสียงของแต่ละพรรคการเมือง เกือบทุกพรรคใช้เป็นตัวชูความโดดเด่นของพรรคตนเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าล่าสุดปีงบประมาณ 2566 การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท ดังนั้นต้องคิดด้วยว่าแจกเงินอย่างไรไม่ให้กระทบคลัง
การเลือกตั้งทั่วไปกำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 หลังจากการรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อเสร็จเรียบร้อยไปแล้วเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2566 มีพรรคการเมืองสมัครรวม 43 พรรค แบ่งเป็นการสมัคร ส.ส.เขต 4,781 คน และสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1,899 คน รวมทั้งมีการเสนอรายชื่อเพื่อเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีรวม 63 คน โดยบางพรรคส่งรายชื่อครบ 3 คน ขณะที่บางพรรคส่งรายชื่อเพียง 1 รายชื่อ เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือก
หลังจากที่ทุกพรรคการเมืองได้หมายเลขพรรคการเมืองและหมายเลขผู้สมัครเป็นที่เรียบร้อยแล้วได้มีการหาเสียงอย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าพรรคที่ได้เลขตัวเดียวจะง่ายต่อการรณรงค์หาเสียง แต่ก็ไม่ใช่ตัวแปรของการตัดสินใจเลือกทั้งหมด โดยผู้ใช้สิทธิออกเสียงยังให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคที่มีจุดยืนในแต่ละเรื่อง และให้ความสำคัญกับนโยบายการหาเสียง ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความหลากหลายทางนโยบาย รวมทั้งมีการออกแบบนโยบายให้โดนใจผู้มีสิทธิออกเสียงมากที่สุด
หนึ่งในนโยบายที่ประชาชนให้ความสำคัญ คือ นโยบายการดูแลประชาชน โดยในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา นโยบายการดูแลประชาชนหลายนโยบายได้เสียงตอบรับที่ดี และพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ เช่น นโยบายด้านสาธารณสุข รวมถึงการเลือกตั้งครั้งนี้มีข้อเสนอจากพรรคการเมืองในการจ่ายเงินให้ประชาชนในรูปแบบต่างๆ เช่น กระเป๋าเงินดิจิทัล การเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การจ่ายเงินให้ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น การจ่ายเงินให้ผู้พิการเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ บางพรรคการเมืองได้นำเสนอนโยบายการยกเว้นภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงการนำเสนอนโยบายเพิ่มการลดหย่อนภาษี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายนโยบายดังกล่าวย่อมมีผลต่อฐานะการคลังของรัฐบาล โดยในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2564-2566 พบว่าสัดส่วนรายได้ที่จัดเก็บได้ต่อจีดีพีลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ามูลค่าจีดีพีจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา แม้ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่เป็นสัญญาเตือนให้รัฐบาลใหม่รับทราบถึงสถานะการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล
ในขณะที่การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2550 มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 146,200 ล้านบาท และใน 10 ปี ต่อมา ในปีงบประมาณ 2560 มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นมาเป็น 552,921 ล้านบาท ล่าสุดปีงบประมาณ 2566 กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 695,000 ล้านบาท นี่จึงเป็นอีกประเด็นสำคัญสำหรับพรรคการเมืองที่แข่งขันการนำเสนอนโยบายที่มีผลต่อการใช้จ่ายงบประมาณ อย่าให้เป็นเพียงการแข่งตัวเลขเพื่อประมูลขอคะแนนเสียง