กกต.เตือนนักวิชาการเดินสายคุยเลือกตั้งให้ดู กม.-รายงานผลรู้ไม่เกิน 4 ทุ่ม
กกต.จัดสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชนรับมือศึกเลือกตั้ง 66 เกาะติดสถานการณ์ นำเสนอข่าวถูกต้องตามข้อเท็จจริง “เลขาฯ” เตือนนักวิชาการเดินสายออกรายการคุยเลือกตั้ง ให้อ่านกฎหมายก่อน การันตีรายงานคะแนนไม่ใช้แอปฯ ทราบผลไม่เกิน 4 ทุ่ม
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 ที่โรงแรมทีเค. พาเลซ & คอนเวนชั่น กทม. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดสัมมนาเสริมสร้างความรู้และความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนเลือกตั้ง ส.ส. กับสื่อมวลชนในการรายงานข่าวเลือกตั้ง 2566 โดยผู้เข้าอบรมประกอบด้วย สื่อมวลชนจากสถานีโทรทัศน์ 19 แห่ง สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์ 11 แห่ง สื่อมวลชนสำนักข่าวต่างประเทศ 7 แห่ง สื่อมวลชนสื่อออนไลน์ และสื่อวิทยุและเครือข่ายของสำนักงาน กกต. 7 แห่ง รวมผู้เข้ารับการอบรม 100 คน
มีนายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า ความสับสนของประชาชนไม่ได้เกิดจากสื่อมวลชนนำเสนอ แต่ขอฝากถึงคนที่ไปออกรายการ ก่อนไปออกรายการก็ขอให้ศึกษากฎหมาย ทราบว่าบางท่านเป็นคนที่ประชาชนรู้จักดี แต่การให้ความเห็นไม่ได้ดูกฎหมายเลย ทำให้ทางสำนักงานฯเราต้องออกไปชี้แจงกับเรื่องนี้มาก เพราะการเลือกตั้งคือการใช้กฎหมายเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
นายแสวง กล่าวอีกว่า ยอมรับว่างาน กกต.มีความสับสนอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.การรายงานผล 2.บัตรเลือกตั้ง เรื่องการรายงานผลนั้น การรายงานผลมี 2 อย่างคือ 1.แบบเป็นทางการ 2.อย่างไม่เป็นทางการ อย่างที่ทราบว่าผลแบบเรียลไทม์หลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาเราก็ทำ และครั้งนี้ก็เป็นแบบเรียลไทม์แต่ไม่ได้ใช้แอพพลิเคชั่น เป็นการรายงานแบบนำผลคะแนน 5/18 คือเมื่อได้รับผลจากการรวมคะแนนเราจะเอาผล 5/18 ไปปิดประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง และนำคะแนนเข้าระบบทราบคะแนนไม่เวลา 19.00 น. และไม่เกินเวลา 22.00 น.ก็ทราบผลร้อยเปอร์เซ็นต์แบบไม่เป็นทางการ ส่วนที่ว่าแล้วทำไมกกต.ไม่ใช้แอพพลิเคชั่นรายงานผล ก็ด้วยเพราะแอพพลิเคชั่นนั้นยังไม่สามารถแก้ไขระบบที่มีคนกรอกข้อมูลผิดพลาดได้ เพราะเราต้องใช้คนกรอกข้อมูลที่เป็น กปน. หลังเลือกตั้งแล้วเขาต้องมากรอกคะแนนกว่า 70 ชุด ก็อาจจะเหนื่อยล้า และอาจจะมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งหน่วยงานจากเราผิดไม่ได้ ครั้งนี้เราจึงต้องการความถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ต้องเร็วขึ้นแน่นอน วันนี้เราทำเพื่อสื่อมวลชนและประชาชน เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง ซึ่งตอนนี้เราทำระบบเสร็จแล้ว แต่ต้องเราการซักซ้อมกับทางสื่อมวลชนในการใช้ระบบที่จะรายงานผล
นายแสวง กล่าวด้วยว่า เมื่อหลายคนถามว่าความโปร่งใสอยู่ที่ไหนนั้น ต้องบอกว่าความโปร่งใสบางอย่างเห็นได้เลย เช่นการที่เห็นประชาชนไปเลือกตั้ง การนับคะแนนหน้าหน่วย ส่วนการตรวจสอบก็สามารถตรวจสอบได้จากผลคะแนนที่ปิดที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง ส่วนเรื่องบัตรทำไมไม่อำนายให้ประชาชนให้มีสัญลักษณ์พรรค ซึ่งตามกฎหมายกำหนดไว้ทั้งสีของบัตร รวมถึงหมายเลยของผู้สมัคร กฎหมายเขียนว่าต้องแตกต่างอย่างชัดเจน แต่ถ้าอยากทำให้มีชื่อ สัญลักษณ์พรรคนั้นมันจะไม่เป็นไปตามกฎหมาย และมันจะเกิดความสับสนให้ประชาชนได้ เป็นเหตุให้คนไปร้องได้ว่า กกต.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ส่วนเรื่องของหมายเลขที่อยากให้เป็นหมายเลขเดียวกันแต่เราทำ
สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สื่อมวลชนติดตามข่าวสารเกาะติดสถานการณ์ นำเสนอข่าวสารการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงเผยแพร่สู่สาธารณในวงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายในการประชาสัมพันธ์ให้สามารถเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในเชิงลึกและเชิงกว้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสื่อมวลชนนับเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับทราบข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว ตลอดทั้งตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกตั้ง กระบวนการ และขั้นตอนการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
ในการนี้ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับฟังการบรรยายพิเศษจากรองเลขาธิการ กกต. พร้อมคณะ ได้แก่ นายกิตติพงษ์ บริบูรณ์ พร้อมคณะ บรรรยายในหัวข้อ กระบวนการจัดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก และ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ บรรยาย การป้องกันการทุจริตการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 และ น.ส.สุรณี ผลทวี บรรยายในหัวข้อการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ และนายวีระ ยี่แพร บรราย การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ของสื่อมวลชนในการเลือกตั้ง ส.ส. 2566