ปชป. ตั้งคำถาม 5 ข้อ พท. ชี้แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่งผลเสียต่อประเทศชาติ
ปชป. ตั้งคำถาม 5 ข้อ ถึงเพื่อไทย ชี้นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ส่งผลเสียต่อประเทศชาติ สร้างผลประโยชน์ทับซ้อนให้คนบางกลุ่มมากกว่าประโยชน์ประชาชน
นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย ประธานคณะกรรมการต่างประเทศ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายภายในรัศมี 4 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือน ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องใช้งบประมาณมากกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น ไม่เห็นด้วยและจะส่งผลเสียต่อประเทศชาติอย่างมหาศาล และเชื่อว่านโยบายนี้มีวาระแอบแฝง มีผลประโยชน์ทับซ้อนเพียงบางกลุ่มมากกว่าประโยชน์ของประชาชน ซึ่งแตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่สร้างหนี้สาธารณะหรือบั่นทอนการทำงานของระบบการเงิน และลดหนี้ครัวเรือน เพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งมีเสถียรภาพและยั่งยืน
โดยขอตั้งคำถาม 5 ข้อ ถึงพรรคเพื่อไทย และท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ต่อนโยบายนี้ ดังนี้
1. พรรคประชาธิปัตย์มีความเชื่อว่า พรรคการเมืองต้องออกแบบนโยบายที่มีความรับผิดชอบ และเป้าหมายเศรษฐกิจต้องชัดเจน มีที่มาที่ไปของเงิน ไม่ใช่เงินมาจากไหนยังไม่ทราบ รวมถึงอยากถามถึง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยว่า “การนำเสนอนโยบายแบบนี้ทำได้ไหม ควรจะมีกฎกติกาอย่างไร ไม่ใช่ใครจะพูดอะไรก็ได้..??”
“วันหนึ่งบอกว่า 5 แสนล้านบาท อีกวันบอกเอาจากงบส่วนกลาง 30% หรือ 3 หมื่นล้านบาท ทุกอย่างไม่ตรงกัน และล่าสุดทราบว่าเขาได้ไปชี้แจง กกต.แล้ว คำถามจึงอยู่ที่ กกต. ว่า พรรคการเมืองเสนอนโยบายแบบนี้ได้หรือไม่ แล้วผลกระทบเป็นอย่างไร” นายเกียรติ กล่าว
2.พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการนำภาษีของประชาชนไปแจกคนรวย ซึ่งใน 55 ล้านคน มีคนที่ควรช่วย 10-15 ล้านคนเท่านั้น ที่เหลืออีก 35 ล้านคน ไม่ได้ต้องการเงินช่วยเหลือ การทำแบบนี้เป็นการเอาเงินภาษีประชาชนไปช่วยคนที่เขามีรายได้เพียงพออยู่แล้ว จะอ้างว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นฟังไม่ขึ้น เพราะมีอีกหลายวิธีที่ทำได้ การทำแบบนี้เป็นภาระงบประมาณ สร้างหนี้อย่างมากให้ประชาชนโดยไม่จำเป็น
3. ทำไมตั้งแต่อายุ 16 ปี ซึ่งถ้าอยากจะช่วยนักเรียนนักศึกษา ให้ช่วยคนที่กู้เงิน กยศ. ดีกว่า แบบนี้เห็นด้วย แต่ไม่เห็นด้วยถ้าจะช่วยนักเรียนที่ขับรถไปเรียน หรือพ่อแม่ผู้ปกครองขับรถไปรับส่ง
4. ภาษีมีจำกัด ภาระของประเทศมีเยอะ การใช้เงินทุกบาทต้องเข้าเป้า ไม่ใช่กระจายเป็นเบี้ยหัวแตก ทำไมไม่ช่วยคนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 1 หมื่นบาท วิธีนี้ง่ายกว่าเงินถึงมือประชาชนทันที ไม่ต้องผ่านกระเป๋าดิจิทัลให้ยุ่งยาก
5. ทำไมต้องเป็นเงินดิจิทัล หรือเป็นเพราะบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด หรือ XPG เมื่อปี 2021 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งน่าสนใจว่า XPG กำลังเริ่มเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แล้วแสนสิริก็เข้ามาซื้อหุ้น ทั้งที่ธุรกิจของแสนสิริส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ คำถามว่าทำไมพอดีกันแบบนี้..??? แล้วใครจะได้ประโยชน์กันแน่ ประชาชน หรือคนในครอบครัว เราเคยเห็นภาพนายกไปเจรจา FTA ที่พ่วงธุรกิจดาวเทียมไปด้วยทุกครั้ง..!! ทำไมต้องบังคับให้คน 80% ของประชากรต้องใช้เงินดิจิทัล คนที่จะขายเงินสกุลดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัวหรือไม่ ตนก็ไม่ทราบ
นอกจากนี้ยังพบปัญหาร้านค้าพร้อมรับเงินดิจิทัลไหม..?? เวลาร้านค้าไปขึ้นเงินกับขึ้นกับใครได้จำนวนเต็มหรือโดนหักเท่าไหร่..?? ที่สำคัญเราทราบกันดีว่าเงินดิจิทัลมีความผันผวนมากในต่างประเทศได้รับผลกระทบมากมาย ใครรับความเสี่ยง ประชาชนรับได้ไหม..?? แต่นโยบายนี้ บริษัทสกุลเงินดิจิตอลมีแต่รวยทันที
เราต้องเห็นประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักก่อน ซึ่งมีหลายวิธีที่ใช้เงินน้อยแต่ได้ผลมาก แต่วิธีนี้ใช้เงินมากแต่ได้ผลน้อย รั่วไหลได้มาก..!!