โฆษกศาลยุติธรรมเตือน ปชช.เที่ยวสงกรานต์ปลอดภัย 7 วันอันตราย "เมาไม่ขับ"
โฆษกศาลยุติธรรม ออกโรงเตือนประชาชน เที่ยว "สงกรานต์" ปลอดภัย "7 วันอันตราย" ระมัดระวังอุบัติ หลีกเลี่ยงการทำผิดกฎจราจร ยกปี 65 มีคนโดนคดี "เมาแล้วขับ" กว่า 1.5 หมื่นคน
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวว่าสัปดาห์นี้กำลังเข้าสู่ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทย ซึ่งพี่น้องประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อใช้เวลาอยู่กับครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ ร่วมงานบุญสงกรานต์ตามประเพณี ตลอดจนใช้เวลาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ก็ขอให้วางแผนการเดินทาง ศึกษาเส้นทางเพื่อเลือกเส้นทางที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการทำผิดกฎหมายจราจร ซึ่งจะเป็นการลดความความเสี่ยงต่อการสูญเสียใด ๆ
นายสรวิศ กล่าวอีกว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุก ๆ ปี หน่วยงานภาครัฐร่วมกันรณรงค์การลดอุบัติเหตุการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และการกระทำผิดกฎหมายจราจร และเฝ้าติดตามสถิติต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมรวบรวมสถิติคดีกระทำผิด พ.ร.บ.จราจรทางบก ฯ เมื่อนำมาเปรียบเทียบย้อนหลัง 2 ปี ช่วงการรณรงค์ 7 วันอันตราย ระหว่าง พ.ศ. 2564 - พ.ศ. 2565 พบว่า ในปี 2564 มีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาคดี รวมทั้งสิ้น 13,103 คน ข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอันดับหนึ่งคือ
- ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 12,213 คน คิดเป็น 93.21 %
- ข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 816 คน คิดเป็น 6.23 %
- ขับรถขณะเสพยาเสพติด จำนวน 40 คน คิดเป็น 0.31 %
- ขับรถโดยประมาท จำนวน 34 คน คิดเป็น 0.26 % ตามลำดับ
ในปี 2565 มีผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ขึ้นสู่การพิจารณาพิพากษาคดี รวมทั้งสิ้น 17,909 คน ข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุดอันดับหนึ่งคือ
- ขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 15,608 คน คิดเป็น 87.15 %
- ข้อหาขับรถโดยไม่มีใบอนุญาต จำนวน 1,274 คน คิดเป็น 7.11 %
- ขับรถขณะเสพยาเสพติด จำนวน 980 คน คิดเป็น 5.47 %
- ขับรถโดยประมาท จำนวน 47 คน คิดเป็น 0.26% ตามลำดับ
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า หากดูจากสถิติ 2 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นว่าผู้กระทำความผิดข้อหาขับรถขณะเมาสุรา มีจำนวนเพิ่มขึ้น 3,395 คน คิดเป็น 27.8 % สะท้อนให้เห็นว่าผู้ขับขี่ยังขาดความระมัดระวังอยู่มาก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้อื่นที่ใช้ถนนร่วมกัน ดังนั้น ขอให้พี่น้องประชาชน ขับขี่อย่างปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทางและรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อช่วยลดอัตราการเกิดคดีกับตนเองและลดปริมาณคดีเข้าสู่ศาลด้วย