ป.ป.ช.-กทม.ประชุมร่วมขับเคลื่อนภาครัฐ-ปชช. ส่งเสริมป้องปราบโกง
ป.ป.ช.- กทม.ร่วมประชุมขับเคลื่อนส่งเสริม "ประชาชน-ภาครัฐ" มีส่วนร่วมป้อง-ปราบ "คอร์รัปชัน" ขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริต-เน้นสร้างคุณธรรมความโปร่งใส
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2566 พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะประธานกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ สปท.) ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน และหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2566 ร่วมกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.)
โดยมีนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. รศ.ดร.มาณี ไชยธีรานุวัฒศิริ ที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. นายศรชัย ชูวิเชียร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นางแก้วตา ชัยมะโน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. และ นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า การประชุมคณะอนุกรรมการ สปท. เขตพื้นที่กรุงเทพมหานครในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี เนื่องจากในปี 2565 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงไม่ได้จัดให้มีการประชุม นโยบายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการต่อสู้กับปัญหาการทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีการกำหนดสาระสำคัญในเรื่องกรอบระยะเวลาในการไต่สวนคดีทุจริต กำหนดความรับผิดชอบให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. อำนวยการและบริหารคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. โดยการดำเนินการเองในเรื่องร้ายแรงและมอบหมายให้หน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ท. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการในเรื่องไม่ร้ายแรงตลอดจน ติดตามการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดมาตรฐานและความเป็นเอกภาพ ในการทำงาน ซึ่งผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการทางคดีจะส่งผลสู่ประสิทธิภาพความสำเร็จไปสู่การป้องปราม ปัจจุบัน คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. กำลังเร่งรัดสะสาง งานค้างเก่า โดยมีการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน อันจะส่งผลไปสู่ความเป็นธรรม รวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และความมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มุ่งเน้นการปฏิบัติงานในด้านการป้องกัน นำการปราบปราม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการทุจริต หรือหากเกิดการทุจริตขึ้น เพื่อลดความเสียหาย หรือลดการแพร่กระจายของปัญหาไปสู่พื้นที่อื่น ๆปัจจัยสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าด้านการปราบปรามหรือการป้องกันการทุจริต จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องการแจ้งเบาะแส และการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต เพื่อนำมาจัดการกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็วโดยมีกลไกสนับสนุนในเรื่องงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัดจะมีคณะกรรมการผลักดันการดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ จังหวัด เป็นศูนย์กลาง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้นำ และมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการ ร่วมกับหัวหน้าสำนักงานจังหวัดและผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ท. เขต
พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการปกครองรูปแบบพิเศษ แม้จะไม่มีกลไกในรูปแบบคณะกรรมการระดับจังหวัด แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ความสำคัญและดูแลพื้นที่นี้เป็นพิเศษ ในฐานะศูนย์กลางทางการบริหาร ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเกือบทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน ดังนั้น คณะอนุกรรมการ สปท. กทม. ชุดนี้ จึงเป็นกลไกความร่วมมือที่แสดงถึงความตั้งใจที่จะดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานครร่วมกัน ขอขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และท่านผู้บริหารกรุงเทพมหานครทุกท่าน ที่ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเชื่อว่าความตั้งใจนี้ จะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองหลวงที่ทันสมัย โปร่งใส ปลอดจากสินบน และการทุจริตทุกรูปแบบได้อย่างแท้จริง
นายชัชชาติ กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประชาชนและหน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เป็นเรื่องสำคัญอันดับต้น กรุงเทพมหานครพร้อมให้ความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช.ในการดำเนินการดังกล่าว และจะใช้ แนวทางการป้องกันการทุจริต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณของ กทม. ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณา แนวทางการประสานความร่วมมือระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. และศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร หรือ ศปท.กทม.ซึ่งหลังจากการประชุมคณะอนุกรรมการในเดือนธันวาคม 2564 ทั้ง 2 หน่วยงานได้มีความร่วมมือดำเนินการในเรื่องสำคัญ 4 เรื่อง ได้แก่ การขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงาน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานของรัฐ และ การประสานการดำเนินการต่อเรื่องกล่าวหาร้องเรียน