กต.แจงปม 6 กกต.บินดูงานเมืองนอก เหตุเตรียมใช้ระบบติดตามเลือกตั้งเรียลไทม์
กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงเหตุผลละเอียดยิบ ปม 6 กกต.บินนอกดูงานเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ช่วงโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 66 เหตุเตรียมใช้ระบบติดตามเลือกตั้งแบบเรียลไทม์
เมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2566 นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยความคืบหน้าในการเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรว่า กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพื่อให้คนไทยในต่างประเทศได้มีโอกาสลงคะแนนใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง โดยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพื่อหารือเกี่ยวกับกฎระเบียบการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร รวมถึงการมีวิทยากรจาก กกต. บรรยายให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์แก่เจ้าหน้าที่ สอท.และสกญ. ของไทยในต่างประเทศ เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเกิดความเรียบร้อยและถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีความโปร่งใส รวมถึงป้องกันความผิดพลาดต่าง ๆ
ในการเตรียมพร้อม มีทั้งการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง การจัดคูหาเลือกตั้ง การเตรียมการจัดส่งบัตรเลือกตั้ง การประสานงานกับไปรษณีย์และสายการบิน ตลอดจนสนามบิน รวมทั้งการเดินทางของ กกต. เพื่อไปตรวจเตรียมความพร้อมของพื้นที่ในต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าการเลือกตั้งจะเป็นไปโดยราบรื่น มีประสิทธิภาพ โดยพิจารณาจากสภาพและข้อจำกัดในแต่ละภูมิภาค อาทิ คณะไปออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อตรวจสอบระบบและขั้นตอนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทย สืบเนื่องจากปัญหาการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับมายังประเทศไทยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เพื่อให้ทราบถึงขึ้นตอนที่ชัดเจนในการขนส่งบัตรเลือกตั้งและป้องกันปัญหามิให้เกิดกับการขนส่งบัตรเลือกตั้งกลับประเทศไทยในการเลือกตั้งในครั้งนี้
คณะไปแอฟริกาใต้ เคนยา และโมร็อกโก เพื่อตรวจเยี่ยม หารือและติดตามการเตรียมการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เนื่องจากแอฟริกาเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่และการคมนาคมขนส่งค่อนข้างยากลำบาก รวมทั้งได้มีการหารือเพื่อแก้ไขข้อจำกัดของการไม่มีเที่ยวบินตรงจากแอฟริกาไปประเทศไทย
ในส่วนของภูมิภาคยุโรปและอเมริกา คณะไปตรวจเยี่ยมความพร้อมในการจัดการลงคะแนนและพบปะชุมชนคนไทย พร้อมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อดำเนินการหาวิธีแก้ไข เนื่องจากมีชุมชนคนไทยขนาดใหญ่และมีคนไทยพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งบางแห่งไม่มีเที่ยวบินของสายการบินไทยและมีเที่ยวบินตรงจำกัด จึงต้องมีการหารือเพื่อวางแนวทางการส่งถุงเมล์บัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วกลับประเทศไทยที่เหมาะสม
ในส่วนของการส่งและรับบัตรเลือกตั้งในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้ กต. ได้นำประสบการณ์ที่ผ่านมามาปรับใช้เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยจะให้เจ้าหน้าที่ของ สอท.และสกญ.ในประเทศที่การขนส่งและระบบไปรษณีย์มีปัญหาและไม่สะดวกเดินทางถือบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้วมาส่งที่ประเทศไทยด้วยตนเอง
นางกาญจนา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้นำระบบดิจิทัล คือ ระบบติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร หรือระบบ OVMS (Overseas Voting Monitoring System) มาใช้ในการติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของ สอท.และสกญ. ทุกแห่ง โดยระบบสามารถประมวลผลความคืบหน้าในการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรบน dashboard ได้แบบ real time สามารถสนับสนุนการบริหารจัดการการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยการดำเนินการเหล่านี้เป็นไปเพื่อประกันให้การเตรียมการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม มีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา เพื่อรักษาสิทธิของพี่น้องคนไทยในต่างประเทศ
นางกาญจนา กล่าวด้วยว่า ในการเลือกตั้งในอนาคต กต. เตรียมหารือ กกต. ให้พิจารณาถึงวิธีเลือกตั้งโดยลงคะแนนแบบ i-Vote ซึ่งสอดคล้องกับการก้าวไปสู่การเป็น e-Government ของรัฐบาล โดย i-Vote สามารถใช้ระบบ blockchain เข้ามาช่วยในการบันทึกขั้นตอนการลงทะเบียนและการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง กอปรกับ i-Vote จะเป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมให้คนไทยทั้งในและต่างประเทศสามารถลงทะเบียนและใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้อย่างกว้างขวางและสะดวก ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย โดยหวังว่า กกต. จะสามารถพัฒนา i-Vote ได้ทันสำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง อนึ่ง ปัจจุบันมีหลายประเทศทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางหลายแห่งในกลุ่มประเทศอาเซียน เอเชีย และยุโรปได้เริ่มใช้ i-Vote อย่างกว้างขวางมากขึ้นเรื่อย ๆ