ยิงลูกโดด ล็อก ส.ส.เขต กลยุทธ์เอาตัวรอด “ฝ่ากระแสลุง”
ปรากฎการณ์แบบนี้คงพอจะบอกอะไรได้ไม่มากก็น้อยว่า ใครเป็นต่อใครเป็นรอง ในเมื่อการแข่งขันมีเดิมพันสูงลิบ เพราะผู้ชนะที่จะได้เป็น ส.ส.ในแต่ละเขต มีได้แค่หนึ่งเดียวเท่านั้น
การเลือกตั้ง ปี 66 หลายพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีการแข่งขันสูงระหว่างพรรคการเมือง มีปรากฏการณ์ที่สอดคล้องกันอย่างหนึ่งคือ บรรดาผู้สมัคร ส.ส.แบบเขต หลายคน ต่างดิ้นรนเพื่อให้ตัวเองได้เป็นผู้แทนฯ จนแทบจะไม่สนพรรคตัวเอง หรือไม่ยอมแบกพรรคตัวเองให้หนักคูณสองไปด้วย
การเดินสายหาเสียงพบปะชาวบ้านของผู้สมัคร ส.ส.หลายคนในหลายภาค ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันคือ บัตรเลือกตั้งใบแรก ขอให้เลือกตัวเอง หรือตัวผู้สมัครเขต ส่วนบัตรใบสองที่ให้ลงคะแนนเลือกพรรค ชาวบ้านจะเลือกพรรคไหนก็ว่ากันไป
กลยุทธ์เอาตัวให้รอดในสังเวียนของนักเลือกตั้ง เกิดขึ้นให้เห็นในอีสานมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้โดยเฉพาะผู้สมัครจากพรรคที่กระแสนิยมไม่ร้อนแรง มักจะใช้วิธีการนี้ เนื่องจากคิดว่าชาวบ้านมีตัวเลือกในใบที่สองคือ เลือกพรรคในดวงใจได้อยู่แล้ว
ทำให้บางพรรคที่กระแสพรรคนำตัวบุคคล ต้องออกมาแก้เกม ยืนยันชัดเจนว่า ไม่มีพรรคพี่พรรคน้องอย่างแน่นอน
วิธีการทำนองเดียวกันนี้ เริ่มระบาดให้เห็นในภาคใต้ เมื่อการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองที่ช่วงชิงฐานคะแนนเดียวกัน ต้องเอาตัวรอดเข้าป้ายเป็น ส.ส. ให้ได้ ส่วนคะแนนพรรคใบสองชาวบ้านจะเลือกใครก็ช่าง
ผู้สมัครจากบางพรรคเดินหาเสียง บอกกับประชาชนแบบไม่อ้อมค้อม เลือกผมเป็น ส.ส.เขตไปยังไงก็เป็นรัฐบาลร่วมกัน เข้าไปเลือกลุง…เป็นนายกฯ อยู่ดี
หรือหัวหน้าพรรคบางพรรค ที่เข้าใจสถานการณ์การแข่งขันกันอย่างดุเดือดในภาคใต้ ถึงกับออกปากบอกลูกพรรคว่า “เอาตัวเองเข้าไปให้รอด ของหัวหน้าหรือพรรคไม่ต้องห่วง”
เราจึงได้เห็นหลายพื้นที่ภาคใต้ ป้ายผู้สมัครจากพรรคที่ต้องแข่งกับลุง… เลือกนำเสนอเฉพาะตัวผู้สมัครและเบอร์ตัวเองเท่านั้น ไม่ขึ้นรูปคู่กับหัวหน้าพรรค รวมถึงเบอร์พรรค ที่ปกติต้องนำเสนอด้วยนั้น ก็เลือกไม่ติด ปล่อยให้ว่างไว้ ป้องกันคนสับสน
ดังนั้น เมื่อคู่แข่งลุงใช้กลยุทธ์ยิงลูกโดด ฝ่ากระแสความนิยม คือเน้นตัวผู้สมัคร เพราะถึงอย่างไรก็ไปบรรจบกันในท้ายที่สุด คือโหวตสนับสนุนลุงอยู่ดี
ทางทีมงานพรรคลุง… ก็ไม่ยอมโดนชิงคะแนนส่วนนี้ แก้ทางด้วยการยิงลูกคู่ คือหาเสียงทำความเข้าใจให้เลือกทั้งคนและพรรคลุง แบบม้วนเดียวจบไปเลย ไม่ต้องมารักพี่เสียดายน้อง
ปรากฎการณ์แบบนี้คงพอจะบอกอะไรได้ไม่มากก็น้อยว่า ใครเป็นต่อใครเป็นรอง ในเมื่อการแข่งขันมีเดิมพันสูงลิบ เพราะผู้ชนะที่จะได้เป็น ส.ส.ในแต่ละเขต มีได้แค่หนึ่งเดียวเท่านั้น