วิวาทะ..ยกเลิกเกณฑ์ทหาร | เศรษฐา ทวีสิน
“เศร้าใจ” คือความรู้สึก หลังจากเห็นนักการเมืองท่านหนึ่งแสดงเหตุผล ที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกเกณฑ์ทหารในการสัมภาษณ์ข่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้ใช้การอธิบายเพิ่มเติม ผมไม่มั่นใจว่าทัศนคติของท่านจะถูกเปลี่ยนด้วยเหตุผลเหล่านี้หรือเปล่า
ข้อแรก ท่านบอกว่า การเกณฑ์ทหารจำเป็นต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดี ทำให้ประเทศอื่นค้าขายกับเรา
ผมเห็นด้วยแต่ส่วนเดียว คือความมั่นคงเป็นรากฐานของเศรษฐกิจที่ดี แต่ผมไม่เห็นด้วยว่าการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นความจำเป็นต่อความมั่นคง ซ้ำยังส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจในการดึงคนบางกลุ่มออกจากระบบเศรษฐกิจ ไปทำหน้าที่เป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับวิชาชีพที่เขาได้ร่ำเรียนมา
กลายเป็นว่าเสียโอกาสทั้งของคนนั้นและของประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาได้ไม่เต็มศักยภาพ เปรียบได้ว่าเป็นปรากฏการณ์สมองไหลแต่เกิดขึ้นภายในประเทศเอง (Domestic brain drain)
ข้อที่สอง ท่านบอกว่าปัจจุบันทหารก็สมัครใจอยู่แล้วแต่ไม่พอต่อความจำเป็น จึงต้องมีระบบเกณฑ์
ผมไม่เห็นด้วยและจะผลักดันให้ทหารกองทัพมาจากการสมัครใจเต็มรูปแบบเท่านั้น ด้วยหลักคิดว่า ขนาดของกำลังพลในปัจจุบันนั้นใหญ่เกินไปและไม่สอดคล้องกับการรักษาความมั่นคงอย่างแท้จริง
และกองทัพจะสามารถชักจูงให้มีการสมัครอย่างเพียงพอได้ เมื่อมีการยกระดับการฝึกฝน ปฏิบัติงาน ให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น แข่งขันกับภาคประชาชนที่ก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้
ข้อถัดมา ท่านบอกว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารส่งเสริมให้ไม่รักชาติ
ผมคิดว่าการที่เยาวชนจะรักชาติหรือไม่นั้น “ไม่เกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร” สำหรับผม จะแสวงหาสิทธิทำงานและโอกาสในการดำเนินชีวิตของเขาอย่างมีเสรี และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศไม่เป็นการไม่รักชาติแต่อย่างใด ฉะนั้น การโยงว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารหมายถึงการไม่รักชาตินั่นผมคิดว่าไม่ถูกต้อง กลับกันผมมองว่าเรารักชาติได้หลายรูปแบบ
การยกเลิกเกณฑ์ทหารและเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจเต็มรูปแบบ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สถาบันทหารได้คนที่เป็นมืออาชีพ มีความตั้งใจทำอย่างภาคภูมิใจ ทำงานเต็มที่ ให้สมกับเป็นสถาบันอันทรงเกียรติ เป็นสถาบันที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ข้อสุดท้าย ท่านอ้างว่าพลเรือนไม่ควรยุ่งเกี่ยวในการวางแผนหรือคิดแทนกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความมั่นคง
ผมเสนอว่าหน้าที่ของกองทัพควรทำงานร่วมกับพลเรือนในเรื่องของการวางแผนกำลังพล เพื่อสร้างความเชื่อใจระหว่างประชาชนและกองทัพ ซึ่งกลไกที่สำคัญคือการชี้แจงและวางแผนร่วมกับรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกให้มาทำหน้าที่นี้ครับ
จากประเด็นที่ท่านได้กล่าวไปทั้งหมด ผมจึงรู้สึกเศร้าใจที่ประชาชนไทยมีผู้นำที่มองว่าการรักชาติแสดงออกได้โดยการเกณฑ์ทหารเพียงอย่างเดียว
ทัศนคติเหล่านี้เป็นการด้อยคุณค่าความเห็น ความรักชาติ ของประชาชนคนไทยอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง (ที่ไม่ได้เกณฑ์ทหาร) ครู หมอ ข้าราชการ ผู้พิการ หรืออื่นๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้เข้าไปเกณฑ์ทหาร
ในการตรงกันข้าม ผมมองว่าการยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบาย เรายังมีเรื่องอื่นๆ ที่จะมาเสริมทำให้ประชาชนคนไทยมีความภาคภูมิใจกับสถาบันนี้มากขึ้น ใช้กลไกอื่น (นอกจากการบังคับ) ที่จะผลักดันให้สถาบันทหารมีความเป็นมืออาชีพ มีเกียรติมากยิ่งขึ้น ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนทุกส่วน เป็นทหารเพื่อชาติอย่างแท้จริง
*จากบรรณาธิการ : พรรคการเมืองใดหรือท่านใดต้องการร่วมเสนอแนวคิดในเชิงนโยบาย สามารถส่งข้อคิดเห็นมาที่ [email protected]