มองให้ทะลุถึง ‘หัวใจ’ อย่าหลงกล ‘นักการเมือง’
ใกล้การเลือกตั้งเข้ามาทุกขณะ ทำให้แต่ละพรรคการเมืองต่างผุดนโยบายออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อให้ประชาชนได้ตัดสินใจเลือกกันมากมาย แต่ต้องไม่ลืมว่าประชาชนเองก็ต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่านโยบายเหล่านั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำได้จริงมากแค่ไหน
ผลโพลการเมือง จาก 'เนชั่นโพลศึกเลือกตั้ง 66' ภายใต้ความร่วมมือโครงการ 'Road to The Future : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย' ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเครือเนชั่น กับภาควิชาการ เป็นการสะท้อนบางส่วนของทิศทางการเมืองไทย ที่อาจจะได้เห็นหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 66 วันนี้ เราได้เห็นภาพนักการเมืองขยันขันแข็ง ออกมาชูนโยบายหาเสียงกันอย่างคึกคัก บางนโยบายสะท้อนถึงการเข้ามาแก้ปัญหา บางนโยบายถูกตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้
ประเทศไทยอยู่ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนผ่าน ทั้งระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมไปถึงกรอบความคิด เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ต้องยอมรับว่า โควิด 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกเปลี่ยนไปเยอะมาก ทั้งระบบเศรษฐกิจ การเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สภาพแวดล้อม ทุกอย่างรวมไปถึงความนึกคิดของคนก็เปลี่ยนไปด้วย การหาเสียงของนักการเมือง การชูนโยบายของแคนดิเดทที่จะเข้ามาเป็นผู้แทนประชาชนในการบริหารประเทศ ต้องคำนึงถึง 'ภาพของความเป็นจริง' โครงสร้างประชากร ปมปัญหาที่ต้องแก้อย่างเร่งด่วน เพื่อปูทางสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุครุ่งเรืองของประเทศ
หากลงลึกไปดูในเนชั่นโพล จะเห็นว่า 5 เรื่องหลัก ที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลใหม่แก้ปัญหา ประกอบไปด้วยเรื่องเหล่านี้ 1. สร้างงาน เพิ่มรายได้ ฝึกอาชีพ 32.07% 2. ลดค่าครองชีพ เช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เดินทาง ค่าน้ำ ไฟฟ้า แก๊ส 27.47 % 3. แก้ปัญหาหนี้สิน 12.68 % 4. แก้ปัญหาสิ่งเสพติด 5.79 % และ 5. พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ประปา ไฟฟ้า ถนน ขนส่ง ระบบสื่อสาร สวนสาธารณะ 4.35 %
เมื่อถามถึงเหตุผลของการเลือก ส.ส.ทั้งแบบแบ่งเขตที่ตัวบุคคล และแบบรายชื่อ ส่วนใหญ่เหตุผลแรกนำมา คือ เรื่อง มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีภาวะผู้นำ รวมถึงมีนโยบายที่ดี การเลือกตั้งรอบนี้พรรคการเมืองหลายพรรคต่างนำเทคโนโลยี มาเป็นนโยบายหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเอไอ บล็อกเชน ดิจิทัลวอลเล็ต แน่นอนว่า การนำเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาใช้ถือว่าเป็นเรื่องดี ถ้าทำได้จริง แต่การอธิบายให้ละเอียดเข้าใจง่าย ย่อมเป็นเรื่องที่ต้องมาคู่กัน อย่าปล่อยให้ประชาชนเข้าใจอะไรผิดๆ
ความสวยงามของประชาธิปไตย คือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศ แสดงออกทางความคิดอย่างเป็นอิสระเพื่อนำประเทศไปสู่ทิศทางที่ควรจะเป็น วันเลือกตั้ง คือ วันที่คนไทยเลือกได้เองว่าจะให้ประเทศถูกบริหารโดยนักการเมืองแบบไหน อย่าเพียงแค่ 'หลงกลคารมนักการเมือง' ในช่วงหาเสียงที่แต่ละนโยบายขายฝันจนแทบจะคิดว่าเป็นเรื่องจริง บางนโยบายดูเหมือนว่าทำง่ายเหลือเกินแทบจะเสกหินให้เป็นทองได้ในพริบตา ดังนั้น ต้องมองให้ทะลุถึง 'หัวใจ' และ 'แก่น' ของนโยบายแต่ละพรรค และตัวนักการเมือง ผู้แทนของพวกเรา และบทเรียนในครั้งที่ผ่านๆ มา ประกอบการตัดสินใจ ...14 พ.ค.66 ประเทศไทยต้อง “เปลี่ยน” ไปทางที่ดีขึ้น!!