รุมยื่น กกต.ยุบ “เพื่อไทย” สอบนโยบาย “เงินดิจิทัล” กังขาที่มางบประมาณ

รุมยื่น กกต.ยุบ “เพื่อไทย” สอบนโยบาย “เงินดิจิทัล” กังขาที่มางบประมาณ

ไม่ปล่อยผ่าน! 2 นักร้อง “ศรีสุวรรณ-เรืองไกร” รุมยื่น กกต.ลุยสอบนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ของ “เพื่อไทย” อาจไม่เข้าเงื่อนไข-ปกปิดข้อมูลที่ควรแจ้งให้ทราบตามกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่ กังขาตัวเลขที่แจง ตรงกับข้อเท็จจริงเพียงใด

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2566 เมื่อเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้วินิจฉัยคำชี้แจงนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย เป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือไม่

ทั้งนี้สืบเนื่องจากการที่ กกต. ได้เปิดเผยข้อมูลการชี้แจงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ต้องใช้เงิน ตามมาตรา 57 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ซึ่งนโยบายที่เป็นที่พิพากษ์วิจารณ์คือนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งระบุว่าต้องใช้วงเงินถึง 5.6 แสนล้านบาทในการดำเนินนโยบายนั้น แต่ปรากฏว่าในเอกสารชี้แจงของพรรคการเมืองดังกล่าวระบุที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการว่า จะใช้การบริหารงบประมาณปกติ และบริหารระบบภาษีนั้น ซึ่งเป็นการชี้แจงตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ตามมาตรา 57 หรือไม่

ส่วนรายละเอียดของที่มาของวงเงินที่ระบุว่าจะนำมาจาก

1.ประมาณการรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้นในปี 67 : 260,000 ล้านบาท

2.ภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย : 100,000 ล้านบาท

3.การบริหารจัดการงบประมาณ : 110,000 ล้านบาท

4.การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน : 90,000 ล้านบาท

ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นที่สงสัยว่าจะตรงกับข้อเท็จจริงเพียงใดหรือไม่ เพราะวงเงิน 5.6 แสนล้านบาทต้องนำมาใช้ในครั้งเดียวก่อนเริ่มโครงการ จะอ้างนำภาษีที่ได้จากผลคูณต่อเศรษฐกิจจากนโยบาย 1 แสนล้านบาทมารวมก่อนไม่ได้ ส่วนการตัดงบประมาณที่ซ้ำซ้อนก็ไม่แจ้งให้ชัดว่าจะตัดงบประมาณด้านใด ตัดงบบัตรคนจน ตัดงบผู้สูงอายุ ใช่หรือไม่ เป็นต้น

ที่สำคัญ หากพรรคเพื่อไทยจัดสรรเงินที่จะต้องนำมาใช้จ่ายตามกรอบวงเงินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่จะต้องใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาทนั้น จะไปกระทบกับวงเงินงบประมาณจากนโยบายการใช้จ่ายเงินอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยที่มีรวม 70 นโยบาย 15 ด้าน ตามเอกสารชี้แจง ซึ่งกำหนดกรอบวงเงินที่ใช้ดำเนินการตลอดระยะเวลา 4 ปี ตามวาระรัฐบาล รวมเป็นเงินประมาณ 3 ล้านล้านบาทด้วย

“การชี้แจงนโยบายดังกล่าว อาจไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดไว้หรือไม่ ซึ่ง กกต./นายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องพิจารณาและวินิจฉัยว่านโยบายหาเสียงดังกล่าว มีความเป็นไปได้ หรือมีการปกปิดข้อมูลที่ควรจะแจ้งหรือไม่ หากมีการปกปิด ก็อาจจะเข้าข่ายผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 73 (5) เป็นการจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองได้ แต่ถ้า กกต. ไม่ยอมวินิจฉัย สมาคมฯและผู้มีส่วนได้เสีย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะนำความไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อไป” นายศรีสุวรรณ ระบุ

รุมยื่น กกต.ยุบ “เพื่อไทย” สอบนโยบาย “เงินดิจิทัล” กังขาที่มางบประมาณ

  • "เรืองไกร" เอาด้วยยื่น 3 ข้อหา หวังยุบ "เพื่อไทย"

วันเดียวกัน ที่สำนักงาน กกต. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบใน 3 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย ทั้งประเด็นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ขึ้นเวทีปราศรัย รวมถึงประเด็นการหาเสียง และนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยนายเรืองไกร กล่าวว่า วันนี้ยื่นขอให้ กกต.ตรวจสอบใน 3 ประเด็น

ประเด็นแรก จากกรณีที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย นายชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายณัฐวุฒิ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยด้วยถ้อยคำว่า “รับเงินหมา กาเพื่อไทย” ว่า คำพูดดังกล่าวเข้าข่ายฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 73 (5) จึงได้รวบรวมหลักฐานประกอบด้วยคลิปวิดีโอ ในการปราศรัยที่ จ.อุดรธานี เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงข้อความจากแพลตฟอร์มจากพรรคเพื่อไทย ทั้งเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ของพรรค

ประเด็นที่ 2 กรณีที่นายณัฐวุฒิ ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย แต่ขึ้นเวทีไปปราศรัยช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงได้อย่างไร เนื่องจากนายณัฐวุฒิ นอกจากไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคแล้ว ยังต้องคำพิพากษาคดีบุกรุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นองคมนตรี โดยเจ้าตัวอ้างว่าอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย โดยการกระทำของนายณัฐวุฒิ บ่งบอกถึงการเป็นดาวเด่นของพรรคเพื่อไทย จึงเกิดคำถามว่าเป็นการชี้นำครอบงำพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาเคยยื่นร้องในประเด็นดังกล่าวมาแล้วครั้งหนึ่ง ขณะนั้น กกต. ได้ชี้แจงว่านายณัฐวุฒิ ได้ขึ้นไปแค่สวมเสื้อของพรรคอย่างเดียว จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง โดยเรื่องนี้ตนเทียบเคียงกรณีที่นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ขึ้นเวทีปราศรัยของพรรคพลังประชารัฐ เมื่อปี 2562 และสวมเสื้อของพรรค โดยไม่ได้ปราศรัยแต่อย่างใด จึงได้รวบรวมหลักฐานเพื่อให้ กกต. พิจารณา เพราะถ้าเกิดว่าการกระทำของนายณัฐวุฒิ เข้าข่ายผิดมาตรา 28, 29 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง สามารถเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคต่อไป

ประเด็นสุดท้าย ขอให้ กกต. ตรวจสอบนโยบายของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 ให้กับประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ได้พูดถึงบนเวทีปราศรัย ซึ่งพบฐานข้อมูลว่ามีประชาชนที่สามารถรับสิทธินี้ได้ 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยการใช้ถ้อยคำว่างบประมาณกับการหาเสียงในนโยบายดังกล่าว นั่นหมายถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินตามมาตรา 140 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งการใช้งบประมาณดังกล่าวจะใช้ได้เฉพาะกฎหมายการเงิน การคลัง ไม่สามารถใช้หาเสียงในลักษณะดังกล่าวได้ ซึ่งข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เลขาธิการ กกต.ต้องรับฟัง ซึ่งกรณีการหาเสียงในลักษณะนี้ทำเกินกรอบการใช้งบประมาณแผ่นดินหรือไม่

ทั้งนี้จากตัวเลขที่ใช้งบประมาณมากถึง 5.6 แสนล้าน ที่พรรคเพื่อไทยชี้แจงว่าเป็นเงินมาจากการจัดเก็บภาษี 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ที่รัฐบาลคำนวณการจัดเก็บภาษีได้เพียง 2.67 แสนล้านบาท แต่ตัวเลขการจัดเก็บภาษีดังกล่าวถูกรวมอยู่ในกรอบการจัดเก็บงบประมาณปี 2567 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งไม่มีเงินเหลือไว้ใช้กับนโยบายดังกล่าวแล้ว

“ผมท้าให้ใครก็ได้มาถกกฎหมายงบประมาณด้วยกัน กางกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กางรัฐธรรมนูญมาถกกัน พวกท่านเป็นกรรมาธิการงบประมาณมา 4 ปี แต่ทำไมถึงตกในประเด็นนี้ ข้อมูลที่บอกว่าจะเก็บเพิ่มได้อีกนั้นไม่ใช่ ซึ่งสำนักงบประมาณได้อธิบายเงินที่จ่ายผ่านกระทรวงต่างๆ หน่วยงานต่างๆ เป็นร้อยโครงการ ซึ่งเงินเอาไปใช้หมดแล้ว ดังนั้นกรณีกระเป๋าเงินดิจิทัลจะต้องกลับไปหรืองบประมาณใหม่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่รื้องบของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ถึงแม้ว่าจะรื้อได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะจัดเก็บภาษีได้ตามที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้” นายเรืองไกร ระบุ

นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า ด้วยเหตุนี้จึงมองว่าผิดมาตรา 73 (5) หรือไม่ เพราะนโยบายดังกล่าวก่อนเงินจะตกไปในกระเป๋าของประชาชน จะต้องผ่านกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาลก่อน แล้วหน่วยงานรัฐไหนจะรับเงินดิจิทัลตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียง