‘ก้าวไกล’ ตั้งเป้า คว้า 160 ที่นั่ง ‘พิธา’ นายกฯ คนที่ 30 ?
"ครั้งนี้โหวตเตอร์รุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์แล้วจาก 400 เขต เราสามารถได้ถึง 160 ที่นั่ง เขตที่เราชนะในปี 62 เราจะรักษาเอาไว้ได้ ส่วนเขตใหม่พรรคก้าวไกลจะสามารถได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นเช่นกัน"
พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้รับความนิยมจาก “คนรุ่นใหม่” ก่อนจะต่อยอดไปสู่รุ่นวัยกลางคน ผ่านผลงานในสภาที่แม้จะอยู่ใน “ขั้วฝ่ายค้าน” แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงผ่านการเสนอกฎหมาย การออกกฎหมาย และการอภิปรายในหลายประเด็น
การเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 “พรรคก้าวไกล” จึงมีคะแนนนิยมสูงกว่าพรรคการเมืองรุ่นพี่หลายพรรค และมีแนวโน้มที่พรรคจะเติบโตไปข้างหน้า
“เนชั่นสุดสัปดาห์ กับ 3 บก. ” มีโอกาสสนทนากับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถึงความพร้อม ความคาดหวัง ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ใช่น้องใหม่อีกต่อไป ก้าวผ่านหลายเหตุการณ์จนทำให้พรรคแข็งแกร่งพอตัว
“พิธา” เปิดฉากกล่าวว่า “ถึงวันนี้ผมพร้อมที่เป็นนายกฯ ผมทำงานร่วมกับทีมงานเต็มที่ ผมทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน ก่อนที่จะมาเป็น ส.ส. แม้ประสบการณ์จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ทุกอย่าง คุณอาจจะมีประสบการณ์ความมั่นคง แต่ตอนนี้ความมั่นคงเป็นเรื่องไซเบอร์ซิเคียวริตี้ คนที่จะสู้กับเรื่องแบบนี้ไม่มีใครมีประสบการณ์”
โดยเท่าที่ลงพื้นที่หาเสียงประชาชนก็พร้อมที่จะเลือกพรรคก้าวไกลทั้งสองใบ หลายคนคิดว่าพรรคก้าวไกลเสียเปรียบ แต่ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลได้เปรียบ เพราะคนเห็นว่า 4 ปีที่ผ่านมา เราทำงานในสภาได้ดี อีกทั้งบัตรสองใบ คนต่างจังหวัดอาจจะชอบ คนในพื้นที่อยากเลือกพรรคก้าวไกล เขาก็ทำได้ และบางพื้นที่เขาชอบพรรคเก่า ส่วนคนมาเลือกพรรคก้าวไกลซึ่งก็มีจำนวนมาก ตรงนี้เป็นความได้เปรียบของเรา
“เมื่อเกมยุทธศาสตร์เปลี่ยน เราต้องทำในสิ่งที่เราควบคุมได้ ทำให้ยุทธศาสตร์เข้ากับพรรคก้าวไกล เราต้องการเป็นพรรคมวลชน เราก็ต้องมี ส.ส. เขตเยอะๆ ก็ต้องวางยุทธศาสตร์ตรงนี้”
สำหรับความแตกต่างของการเลือกตั้งปี 2562 กับ ปี 2566 “พิธา” อธิบายว่า นอกสภาสังคมเปลี่ยนไปเยอะมาก ในสภาพรรคก้าวไกลก็ทำให้เปลี่ยนไปเยอะ ปี 62 เรามีเวลา 2 เดือน ตอนนั้นคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ บอกว่าต้องการให้เป็นพรรคระดับชาติ ส่ง ส.ส. ครบ 350 เขต มันเลยออกมาแบบที่เห็น ตอนนี้มีเวลา 2 ปี ที่คัดเลือกผู้สมัครทั้ง 400 เขต ผ่านการคัดเลือก 4 ด่าน
“เราทดสอบผู้สมัครอย่างหนัก เพื่อต่อยอดให้พรรคก้าวไกลเป็นสถาบันทางการเมืองด้วย และการเลือกตั้งครั้งต่อไปมันจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น เพราะหากไม่มีคุณธนาธร ไม่มีผม พรรคก้าวไกลก็ไปต่อได้”
ส่วนข้อครหาพรรคก้าวไกลเหมือนพรรคที่ไม่สามารถร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นได้ “พิธา” มองว่า “ผมคิดว่าเป็นจุดเด่น ใครๆไม่รัก ผมก็ดีใจ เพราะแสดงว่าเรามาถูกทาง และจะซื้อใจเขาให้ได้ เขาเคยมองว่าเราเป็นแกะดำ แต่จริงๆแล้วเราเป็นแกะขาว ที่จะทำให้การเมืองเป็นปกติ ทำให้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยเป็นปกติ และให้กลไกข้าราชการเป็นปกติ”
สำหรับข้อครหาเลยป้าย พรรคก้าวไกลทะลุฟ้า และพรรคก้าวไกลคุมไม่ได้ “พิธา” กล่าวด้วยความมั่นใจว่า “ตอนนี้ป้ายขยับแล้ว ผมอนุมานว่าป้ายคือสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าทุกพรรคเวลาดีเบต ยอมรับว่าป้ายมีปัญหา ต้องมีการแก้ไขไม่ให้โทษรุนแรง หลายพรรคบอกว่าหมิ่นประมาทกับอาฆาตมาดร้ายไม่เหมือนกัน แต่บางพรรคบอกว่าต้องขยับให้มากขึ้นเข้าไปอีก ผมก็โอเค จบการเลือกตั้งเราก็ไปหารือกันในสภา”
“ที่บอกว่าเราเป็นพรรคการเมืองซ้ายสุดขั้ว ผมคิดว่าพรรคการเมืองปัจจุบันไม่มีซ้าย ไม่มีขวา เราคิดในเรื่องเสรีนิยมประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการมีความจำเป็น ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มีมากขึ้น ผมคิดว่าพรรคก้าวไกลเป็นตัวแทนของคน 99 เปอร์เซ็นต์ ที่โดนกดขี่”
“เราไม่ได้คิดว่าเขาเป็นขวา เราไม่สนใจเขา แต่เขาเป็นคนโดนกดขี่ ผมเป็นนักการเมือง ไม่ว่าความเชื่อทางการเมืองของประชาชนจะเป็นอย่างไร ผมมีหน้าที่ทำให้เขาอยู่ดีกินดี”
ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแจกเงิน แต่ทำไมมาหาเสียงด้วยการแจกเงิน “พิธา” ออกตัวว่า นิยามคำว่าแจกไม่เหมือนกัน ประชานิยมจะกู้มาแจก แล้วแจกครั้งเดียวจบ แล้วก่อนจะเลือกตั้งถึงมาแจกอีกครั้ง แต่เราแจกแบบรัฐสวัสดิการ เงินมาจากการรีดไขมันจากงบประมาณ ไม่ใช่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโตแล้วเอาเงินในอนาคตมาใช้ และเราแจกแบบไม่พิสูจน์ความจน เพราะหากพิสูจน์ความจนจะตกหล่นตลอด
สำหรับเป้าหมายของพรรคก้าวไกลต้องได้ ส.ส. กี่ที่นั่ง “พิธา” กล่าวว่า “คราวนี้น่าจะทะลุ 100 เสียง เนื่องจากคู่แข่งตัดกันเยอะ มีจำนวนพรรคมากกว่าปี 62 ขณะเดียวกันโหวตเตอร์รุ่นใหม่เพิ่มมากขึ้น เมื่อวิเคราะห์แล้วจาก 400 เขต เราสามารถได้ถึง 160 ที่นั่ง เขตที่เราชนะในปี 62 เราจะรักษาเอาไว้ได้ ส่วนเขตใหม่เราจะสามารถได้ ส.ส. เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะครั้งก่อนหลายพื้นที่เราแพ้พรรคการเมืองใหญ่เพียงแค่ 5 เปอร์เซ็นต์ เราจึงมีโอกาส”
โดยคาดหวังว่าจะได้ ส.ส. เขต 50 ที่นั่ง ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขอให้ได้ตามโพลคาดการณ์เอาไว้ เราใช้นโยบายเข้าหาประชาชน เราจะขยายฐานออกไปยังพื้นที่ชนบทมากขึ้น
เมื่อถามว่า คู่แข่งของพรรคก้าวไกล จากการวิเคราะห์หนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย “พิธา” มองว่า “ผมมองว่าคนที่ไม่ตัดสินใจมีมากขึ้น ผมเชื่อว่าเราไม่ได้แข่งกันในขั้วเดียวกันเท่านั้น จะมีการข้ามขั้วมาเลือกอีกฝั่งด้วย ที่สำคัญทุกประเทศหากประชาชนออกมาใช้สิทธิต่ำกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ กระสุนชนะกระแส หากออกมาใช้สิทธิ์ 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป กระแสชนะกระสุน
“ผมคิดว่าจะทำให้ขั้วฝ่ายค้านเดิมสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคก้าวไกลหวังว่าจะเข้ามาเป็นลำดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้เป็นลำดับหนึ่ง ก็ควรจะให้สิทธิ์พรรคลำดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน”
หลังการเลือกตั้งปี 62 พรรคอนาคตใหม่ ถูกคำสั่งยุบพรรค ครั้งนี้มีความกังวลเกมยุบพรรคหรือไม่ “พิธา” ตอบด้วยความมั่นใจว่า “ผมไม่กังวล เพราะพรรคก้าวไกลไม่ประมาท ทีมกฎหมายเราค่อนข้างละเอียด เราป้องกัน เพื่อไม่ให้ตกม้าตาย และเกมยุบพรรคมีราคาที่เขาต้องจ่ายสูงกว่า”
อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลยังกังวลเรื่องบัตรเลือกตั้ง เนื่องจาก ส.ส. เขต ไม่มีชื่อ ประชาชนอาจจะจำชื่อผู้สมัครได้ แต่เมื่อเข้าคูหาจำเบอร์ไม่ได้ อาจจะทำให้เกิดปัญหา และยังมีการข้ามเขตไปมาด้วย ซึ่งจะทำให้ประชาชนลำบาก พรรคก้าวไกลจึงต้องแก้เกมให้จำพรรคก้าวไกลให้ดี
เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะสู้ระบบอุปถัมภ์ได้หรือไม่ “พิธา” กล่าวว่า เรามีหัวคะแนนธรรมชาติ ผมลงพื้นที่ก็บอกตลอดว่า จุดอ่อนของพรรคก้าวไกลคือเราไม่มีทรัพยากร เราไม่เอาจากทุนใหญ่ ป้ายอาจจะน้อยไปหน่อย แต่ทุกคนจะเป็นหัวคะแนนให้เราได้ เพราะเราฝากบอกต่อ ฝากลงโซเชียลมีเดียให้ช่วยเลือกเรา
ท้ายสุด “พิธา” ฝากไปถึงประชาชนว่า “การเลือกตั้งคือโอกาสของการเปลี่ยนแปลง พรรคก้าวไกลตั้งใจเข้ามาทำงานทางการเมือง ไม่ต้องการมีตำแหน่ง แต่ต้องการเข้าสู่อำนาจรัฐ เพื่อต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประชาชน ผ่านยุทธศาสตร์ การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต”