ภาพรวมเลือกตั้ง 66 เรียบร้อยดี มีเฟกนิวส์เล็กน้อย - กกต.ลุยสอบนโยบายหาเสียง
เลขา กกต.เผยภาพรวม “เลือกตั้ง 66” ยังเรียบร้อยดี มี “เฟกนิวส์-ใส่ร้ายป้ายสี” เล็กน้อย แต่ยังคุมได้ จัดชุดเฝ้าระวังมือเหตุป่วน พร้อมสอบนโยบายหาเสียง 70 พรรคการเมือง เข้าข่ายหลอกลวงปิดบังข้อเท็จจริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง 2566 ว่า สำหรับช่วง 20 วันก่อนเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. 2566 เริ่มมีคำร้องเกี่ยวกับการเลือกตั้งเข้ามาที่อาจทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมทำให้การเลือกตั้งไม่เรียบร้อย เช่น วันเลือกตั้งอาจมีการทำลายบัตรเลือกตั้ง ต้องสืบสวนว่ามาจากฝ่ายไหน โดย กกต.ได้ประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในการดูแลกรณีการทำลายบัตรอย่างใกล้ชิด ส่วนการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมมีบ้างที่เป็นข่าวไปแล้ว และ กกต.กำลังบริหารสถานการณ์อยู่
“กรณีที่เป็นข่าว กกต.ได้ตรวจสอบ บางทีเป็นการสร้างคอนเทนต์สร้างความสับสน มี 2-3 แห่ง ที่ตรวจสอบ เราต้องดำเนินการว่าเรื่องแบบนี้เข้าข่ายผิดกฎหมายอะไรหรือไม่ ส่วนกรณีที่ฝ่าฝืนกระทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมสำนักงาน กกต.มีมาตรการร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กกต. และเครือข่าย ที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจนถึง 14 พฤษภาคม” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวอีกว่า กกต.มีชุดเคลื่อนที่เร็วของสำนักงาน กกต. ชุดเคลื่อนที่เร็วของตำรวจ ชุดป้องปราม ชุดหาข่าว ผู้ตรวจการเลือกตั้งและภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม เชื่อว่าองค์ประกอบนี้จะทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มั่นใจด้วยมาตรการเช่นนี้จะสามารถบริหารสถานการจัดการเลือกตั้งได้ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม พร้อมขอบคุณสื่อโซเชียล จากบริษัทไลน์ ติ๊กต็อกประเทศไทย เฟซบุ๊ก และกูเกิ้ล ร่วมรณรงค์ประชาสัมพันธ์จัดการเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้พบว่ามีปัญหาเฟคนิวส์น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา กรณีการให้ร้ายพรรคการเมืองและผู้สมัคร ซึ่งถือว่ายังเป็นไปด้วยดี
- กกต.พร้อมสอบนโยบายหาเสียง 70 พรรค เข้าข่ายปิดบังข้อเท็จจริงหรือไม่
นายแสวง กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ให้ 70 พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครส.ส. ชี้แจงที่มาการจัดทำนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ว่า ตามกระบวนการพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดให้พรรคชี้แจงนโยบายหาเสียงที่ต้องใช้จ่ายงบประมาณโดยต้องดำเนินการให้ครบเงื่อนไข ส่วนจะเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ตามมาตรา 73 หรือไม่นั้น จะต้องมาพิจารณาดูว่า นโยบายนั้นสามารถทำได้หรือเข้าข่ายการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งหรือไม่ นั่นอาจจะเข้าข่ายการหลอกลวง ตาม (5) ของมาตรา 73 ก็ได้