เช็กเลย! กกต.เปิดวิธีคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ ยังมี ส.ส.ปัดเศษ เท่ากันต้องจับสลาก
เช็กได้ที่นี่! กกต.เปิดหลักเกณฑ์การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใช้ในการเลือกตั้ง 66 พบยังมีวิธี “ปัดเศษ” อยู่ใครได้เศษมากมีสิทธิลุ้นนั่งเก้าอี้ ส.ส. พรรคไหนมีเศษเท่ากัน ต้องจับสลาก
เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2566 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในการเลือกตั้ง 2566 โดยเป็นไปตามมาตรา 128 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 มีดังนี้
1.ให้รวมผลคะแนนทั้งหมดที่ทุกพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ
2.ให้นำคะแนนรวมจาก 1.หารด้วย 100 ผลลัพธ์ที่ได้ให้ถือเป็นคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 1 คน
3.ในการคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแต่ละพรรคการเมืองจะได้รับ ให้นำคะแนนรวมจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ หารด้วยคะแนนเฉลี่ยตาม 2. ผลลัพธ์ที่ได้เฉพาะส่วนที่เป็นจำนวนเต็มคือ จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ
4.ในกรณีที่จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองได้รับรวมกันทุกพรรคการเมือง มีจำนวนไม่ครบ 100 คน ให้พรรคการเมืองที่มีผลลัพธ์ที่เป็นเศษ โดยไม่มีจำนวนเต็ม และพรรคการเมืองที่มีเศษหลังจากการคำนวณตาม 3. พรรคใดเป็นหรือมีเศษจำนวนมากที่สุด ให้ได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่ออีก 1 คน เรียงตามลำดับ จนกว่าจะมีจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองทั้งหมดได้รับรวมกันครบจำนวน 100 คน
5.ในการดำเนินตาม 4. ถ้าในลำดับใดมีเศษเท่ากัน และจะทำให้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเกิน 100 คน ให้ตัวแทนของพรรคการเมืองที่มีเศษเท่ากันจับสลากตามวันและเวลาที่ กกต.กำหนด เพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครบจำนวน และให้ถือว่าผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครของพรรคการเมือง ตามจำนวนที่พรรคการเมืองนั้นได้รับตามผลการคำนวณ ได้รับเลือกตั้งเรียงตามลำดับหมายเลขในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นจนครบถ้วน แต่ต้องไม่เกินจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อเท่าที่มีอยู่ในแต่ละบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ที่พรรคการเมืองนั้นได้ส่งสมัคร จำนวนที่ยังขาดอยู่ให้เป็นไปตามมาตรา 83 วรรคสี่ แห่งรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์