อลังการ "เรือหลวงช้าง" เรือยกพลขึ้นบก ไร้เกราะป้องกันตน
"เรือหลวงช้าง" ขนาด 2.5 หมื่นตัน ที่ขึ้นอันดับหนึ่งเรือลำใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือ ยังต้องรออีก 2 ปี กว่าจะปฏิบัติภารกิจเต็มรูปแบบ ส่วนการเป็นพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ ก็ต้องรออีก 3 ปี 4 เดือน
"เรือหลวงช้าง" เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ LPD เดินทางจากท่าเทียบเรืออู่หูตงจงหัว เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อช่วงเช้าวันที่ 18 เม.ย.2566 เข้าเขตประเทศไทยช่วงเช้ามืดของวันนี้ (25 เม.ย.2566) ก่อนเข้าเทียบท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
หลังใช้เวลา 4 ปีในการก่อสร้างตัวเรือด้วยงบประมาณ 6,100 ล้านบาท เพื่อรองรับการปฏิบัติการของเรือดำน้ำรุ่น Yuan Class S 26 T โดยทำสัญญาเมื่อปี 2562 ในช่วงท้ายก่อนเกษียณอายุราชการของ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร.
ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์หลักประกันความปลอดภัยประเทศที่ได้ประเมินภาพการใช้กำลังของกองทัพเรือตั้งแต่สภาวะปกติจนไปถึงสภาวะขัดแย้ง จึงกำหนดความต้องการใช้เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ไว้ จำนวน 4 ลำ ลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ กำลังรบยกพลขึ้นบก สำหรับการปฏิบัติการยุทธ สะเทิ้นน้ำ สะเทิ้นบก
และการปฏิบัติการทางทหารที่นอกเหนือจากภัยสงคราม เช่น การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนจากภัยพิบัติต่างๆทั้งในและต่างประเทศ เพื่อแบ่งเบาภารกิจของกองทัพเรือที่มีเพิ่มขึ้น โดยแท็กทีมกับ เรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกเพียงลำเดียวของกองทัพเรือ และเป็นเรือ LPD เช่นกัน แต่ต่อจากประเทศสิงคโปร์
พล.ร.อ.เชิงชาย เชิงชมแพทย์ ผบ.ทร. ระบุว่า
การจัดหาเรือลำนี้ก็ส่งผลดีต่อเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ตนได้มีโอกาสได้มีการเยือนจีนโดยท่านมีหนังสือเชิญตนและทีมงานเดินทางไปเยือนกองทัพเรือจีนอย่างเป็นทางการก็ได้มีการเข้าพบ ผบ.ทร.จีน และเข้าเยี่ยมคำนับรัฐมนตรีกลาโหมจีน ถือเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์กองทัพเรือสองชาติหลังจากสถานการณ์โควิดที่ห่างหายไป
"ยืนยันว่างบประมาณที่ใช้จ่ายไปมีความคุ้มค่าอย่างแน่นอน นอกจากภารกิจในการจัดหายกพลขึ้นบกตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือแล้ว เรือดังกล่าวยังสามารถใช้ในงานด้านการบรรเทาสาธารณภัย ช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเรือยกพลขนาดใหญ่จะทำให้เราสามารถปฏิบัติการได้ในช่วงที่คลื่นลมแรง
ส่วนเสียงวิจารณ์เรื่องค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองเมื่อมีการออกปฏิบัติการนั้น แม้เรือดังกล่าวจะเป็นเรือใหญ่แต่เมื่อออกไปปฎิบัติภารกิจตามปกติจะใช้ความเร็วมัธยัสถ์ในการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงหากไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เรือช้างมีความเร็วสูงสุด 25 น็อตแต่ความเร็วมัธยัสถ์ 18น็อต ถ้าเราเดินเรือด้วยความเร็ว 12 น็อตก็จะใช้น้ำมันไม่มากนัก อาจจะเทียบเท่ากับ เรือจักรีนฤเบศ หรือ เรือหลวงอ่างทอง" ผบ.ทร.ระบุ
สำหรับคุณลักษณะที่สำคัญ มีความยาวตลอดลำ 210 เมตร ความกว้าง 28 เมตร กินน้ำลึก 7 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน ทำความเร็วสูงสุดได้ 25 นอต
ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 1 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 11 คัน
ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 2 สามารถบรรทุก รถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือ ยานเกราะล้อยาง (MBT) 9 คัน
อู่ลอย สามารถบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลาง(LCM) 6 ลำ หรือ เรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) 9 ลำ หรือรถสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) 57 ลำ หรือ ยานเบาะอากาศ (LCAC) จำนวน 2 ลำ นอกจากนั้นยังสามารถบรรทุกกำลังรบยกพลขึ้นบกได้ถึง 600 นาย
การแพทย์ ห้องปฏิบัติการ 11 ห้อง ห้องผู้ป่วย 3 ห้องส่วนห้องรักษา 8 ห้อง ( ห้องเอกซเรย์, ห้องทันตกรรม,ห้องศัลยกรรม, ห้องตรวจโรค,ห้องยา,ห้องแลป,ห้องฆ่าเชื้อ,ห้องผ่าตัด)
เมื่อเข้าประจำการในกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ กองเรือยุทธการแล้ว เรือหลวงช้าง จะมีภารกิจหลักในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก การขนส่งและลำเลียง อีกทั้งเป็นเรือบัญชาการ โดยมี ภารกิจรองในการสนับสนุนการปฏิบัติการเรือดำน้ำ อาทิ การช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย (HADR) การอพยพประชาชน การสนับสนุนการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ
ทั้งนี้ เรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ LPD ถูกฝ่ายการเมืองวิพากวิจารณ์อย่างหนัก ไม่ต่างกับเรือดำน้ำลำแรก ที่ไม่สามารถนำเครื่องยนต์เยอรมนี MTU 396 มาติดตั้งได้ตามที่ระบุไว้ในสัญญา และอยู่ระหว่างเจรจาทางการจีนเพื่อแก้ไขปัญหา ควบคู่กับการทดสอบเครื่องยนต์ CHD 620 ของจีนเพื่อมาทดแทน
หลังมีการตั้งข้อสังเกตุว่า โครงการจัดซื้อเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ LPD ของกองทัพเรือ มีความไม่โปร่งใส เนื่องจากเป็นแค่เพียงเรือเปล่า ไม่มีระบบป้องกันตัวเอง ทั้ง ระบบอำนวยการรบ อาวุธ จรวด ระบบลวง ระบบตรวจจับ ระบบการสื่อสาร มีแค่ระบบเดินเรือเท่านั้น
ส่วนกองทัพเรือ มีแผนติดตั้งระบบอำนวยการรบ และระบบสื่อสารในอนาคต ซึ่งต้องใช้งบประมาณ 950 ล้านบาท ถึงจะสามารถปฏิบัติการทางทหารได้เต็มรูปแบบ เช่น ปฏิบัติการยุทธ์ สะเทินน้ำ สะเทินบก สนับสนุนภารกิจป้องกัน ต่อต้านการก่อการร้ายในทะเลและท่าเรือ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด
" เรือหลวงช้างลำนี้ เป็นเรือสนับสนุนยกพลขึ้นบก เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำใช้ในการช่วยเหลือประชาชนบรรเทาสาธารณภัย การติดตั้งอุปกรณ์ ยังไม่เรียบร้อยเนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอ เช่น ระบบอาวุธ ปืนหลัก ปืนรอง ศูนย์ยุทธการ ระบบตรวจการณ์เรดาร์อากาศ และเรดาร์การควบคุมบังคับบัญชาของเรือผิวน้ำ รวมถึงห้องยุทธการ กองทัพเรือได้ตั้งงบประมาณในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ 2567 ซึ่งผ่านคณะรัฐมนตรีและรอสภาฯใหม่พิจารณาต่อไปวงเงิน 950 ล้านบาทเพื่อดำเนินการ ใช้เวลา 2 ปี จะแล้วเสร็จ" ผบ.ทร.ระบุ
"เรือหลวงช้าง" แม้จะเป็นเรืออเนกประสงค์ ปฏิบัติภารกิจหลากหลาย แต่ยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจได้เต็มขีดความสามารถ เพราะต้องรออีก 2 ปี กว่าจะติดตั้งระบบอาวุธเสร็จเรียบร้อย อีกทั้งยังต้องฝ่ากระแสการเมืองและสังคมกับการของบ ประมาณ 950 ล้าน มาติดตั้งอาวุธในงบประมาณ 2567 นี้
ในขณะที่ภารกิจการทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เรือดำน้ำ ก็คงต้องรอไปยาวๆ เพราะหาก กองทัพเรือ ตกลงปลงใช้เครื่องยนต์จีนทดแทนเครื่องยนต์เยอรมนี MTU 396 ก็ต้องใช้เวลา 40 เดือน หรือ 3 ปี 4 เดือน กว่า เรือดำน้ำลำแรกจะเดินทางมาถึงไทย
ดังนั้น "เรือหลวงช้าง" ขนาด 2.5 หมื่นตัน ที่ขึ้นอันดับหนึ่งเรือลำใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือ แต่ปฏิบัติภารกิจได้เพียง การช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย การฝึก การยกพลขึ้นบก เท่านั้นเอง