“พ่อมดดำ” ตีตั๋วล่วงหน้า ประธานสภาฯ พท.จ่อฮุบ "2 อำนาจ" เบ็ดเสร็จ
เลือกตั้งรอบนี้ ผู้ที่ชนะเลือกตั้ง มีสิทธิ์ตีตั๋ว เข้าสู่ "อำนาจการเมือง" 3 ใบ คือ "แกนนำจัดตั้งรัฐบาล-เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ-ประธานสภาฯ" ข่าวลือหนาหูว่า "พ่อมดดำ-สุชาติ" จะคัมแบ็คสภา และนั่งประมุขสูงสุด
อีก 2 สัปดาห์ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง เป็นระยะ “โค้งสุดท้าย” ที่บรรดาพรรคการเมือง เตรียมงัดแคมเปญไฮไลต์มาดึงคะแนน ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยน แพ้-ชนะในวันลงคะแนน 14 พฤษภาคม ได้
แน่นอนว่า “ตัวเลขของ ส.ส.” ที่ได้จากการเลือกตั้ง คือจุดชี้วัด ว่า “ตั๋ว 3 ใบ” ที่จะฝ่าด่านเลือกตั้ง ไปสู่ “อำนาจทางการเมือง” ใครมีสิทธิ์คว้าไปครอง
ตั๋วใบแรก คือ สิทธิกุมบังเหียน เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ตั๋วใบสอง คือ สิทธิเสนอชื่อ แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคตัวเอง ให้โหวตในที่ประชุมรัฐสภา และ ตั๋วใบที่สาม คือ สิทธิได้ตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ที่มีบทบาทสำคัญ ในการกำหนดเกมสภาฯ
โดย ตั๋วใบที่สามถือว่าสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นตำแหน่งอันดับแรก ที่จะต้องได้ตัวประมุขรัฐสภา เพื่อดำเนินการ ในขั้นตอนเข้าสู่อำนาจของฝ่ายบริหาร
พรรคที่ตกลงร่วมรัฐบาลกัน จำเป็นต้อง “ต่อรอง” กันให้ลงตัว แบบสะเด็ดน้ำ ก่อนจะไปถึงการเลือกชื่อ “แคนดิเดต” นายกฯ
ตามกติกาการเเมือง หลังเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้งแบบเขต ให้ได้จำนวน ส.ส. 95% ของ ส.ส.เขตทั้งหมด 400 คน หรือ 380 คน ภายใน 60 วัน
ขณะเดียวกันเกณฑ์ 95% ของ ส.ส.ทั้งหมด ยังเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกเช่นกัน ซึ่ง 95% ของส.ส.ที่มีทั้งหมด 500 คน คือ 475 คน
ครั้งนี้ เชื่อว่าการทำงานของ “กกต.” จะไม่ทำให้การประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีปัญหาหรือ “ล่าช้า” เพราะมี “สูตรคำนวณ” ที่เขียนไว้เป็นบรรทัดฐานการทำงานอย่างชัดแจ้ง คือ คะแนนจากบัตรเลือกพรรคการเมือง ซึ่งแยกส่วนออกจาก “คะแนนเลือกตั้งแบบเขต”
ทว่า ก็ต้องจับตา การรับรองผู้สมัครแบบเขต ที่หลายฝ่ายเก็งกันไว้ว่า อาจเจอมรสุมจาก “ธนกิจการเมือง”
เมื่อผ่านด่านการรับรองจาก กกต.ครบตามเกณฑ์ ขั้นตอนที่ต้องไปต่อ คือการเปิดประชุมสภาฯ ครั้งแรก โดยปกติแล้วเป็นขั้นตอนของ “รัฐพิธี”
ต่อจากนั้นคือ การนัดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร“ ที่มีบทบาทสำคัญต่อการ ทูลเกล้าฯ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรรัฐสภาเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ปกติจะไม่ช้าไปเกิน 7 วันหลังจากมีรัฐพิธี
แม้การเลือกตั้งจะยังไปไม่ถึงวันหย่อนบัตร แต่ขณะนี้มีข่าวหนาหูจาก “รัฐสภา” ถึงการวางตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง “ประมุขสภาผู้แทน” คือ “พ่อมดดำ-สุชาติ ตันเจริญ” ที่เจ้าตัวจองตั๋ว เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
จากการเลือกตั้งปี 2562 “พ่อมดดำ” ที่สังกัดพรรคพลังประชารัฐ พลาดหวังตำแหน่งนี้ เก้าอี้ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนฯ ตกไปอยู่กับ “ชวน หลีกภัย” พรรคประชาธิปัตย์
เนื่องจากขณะนั้น “พรรคพลังประชารัฐ” มีธงเดียว คือให้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกฯ คนเดียว จากขั้วพรรคร่วมรัฐบาล
ทว่า “ประชาธิปัตย์” ยื่นต่อรอง การร่วมรัฐบาลคราวนั้น ขอโควตาประมุขสภาฯ หากไม่ได้ก็จะเสนอคนของประชาธิปัตย์ขึ้นไปแข่งตำแหน่งนายกฯ “พลังประชารัฐ” จึงต้องยอม เพื่อให้ได้เสียงโหวตที่เป็นเอกภาพ และภาพลักษณ์เริ่มต้นของรัฐบาลที่ดูดี
ดังนั้นหลังการเลือกตั้ง 2566 หากกระแส “เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ชื่อ “สุชาติ ตันเจริญ” อาจถูกเสนอให้สภาฯ โหวตเป็น “ประธานสภาฯ” ซึ่งเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติการเมืองสภาฯ ที่พรรคเสียงข้างมากจะรวบอำนาจหมด ทั้ง “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” และ “ประมุขฝ่ายบริหาร”
ทว่าในมุมของ “พรรคก้าวไกล" ที่คาดว่าจะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับสอง จากผลโพล มีความคิดที่จะได้ตำแหน่งประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน เพราะจากการทำงานในสภาฯ รอบที่แล้ว พบว่า “ร่างกฎหมาย-ญัตติ” ของฝั่งตนเอง ถูกดองไว้ในระเบียบวาระ และบางกรณีพบว่า ด้วยกลเกมของ “สภาฯ” ทำให้ถูกตีตกไปด้วยเทคนิค ที่ “ประธานสภาฯ” เป็นคนคุมเกม
ดังนั้น หากก้าวไกล ต้องการทำให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม บทบาทของ “ผู้นำนิติบัญญัติ” จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะทำให้การผลักดันร่างกฎหมาย ตามนโยบายที่พรรคหาเสียงไว้ เช่น สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม สำเร็จได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา
ขณะที่ “พรรคขั้วรัฐบาล” ปัจจุบัน ที่โฟกัสอยู่กับ “การเอาชนะเลือกตั้ง” อย่าง “พรรคพลังประชารัฐ” ยังไม่มองถึง ตัวบุคคลที่จะมอบตำแหน่งประธานสภาฯ ให้ กลับเห็นว่าบทบาทของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่มีทางที่จะช่วยเอื้อประโยชน์ - ปกป้องฝั่งรัฐบาลได้
แม้ก่อนหน้านี้เคยมีบทเรียน ทั้งในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ที่มีประธานสภาฯ ชื่อ “สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ถูกตั้งข้อครหาว่า “เอื้อประโยชน์และช่วยเหลือให้พ้นการตรวจสอบ” แต่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดบทบาทให้
"ประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง และห้ามดำรงตำแหน่งใดๆ ในคณะกรรมการบริหาร หรือตำแหน่งในพรรคการเมือง จึงมั่นใจว่า ประธานสภาฯ จะถูกกติกากำกับ ควบคุมการทำงาน"
หากริจะฝ่าฝืน ก็ยังมีช่องให้ร้ององค์กรอิสระ เอาผิดได้
อย่างไรก็ดี ในเลือกตั้ง 2566 ที่หลายคนมองว่า คือ “จุดเปลี่ยนขั้วการเมือง” และ “ประชาชน” คือตัวกำหนดสมการเลือกตั้งตัวจริง ทว่า ในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ยังมีสูตรพลิกแพลง ที่อาจทำให้ “ขั้วพลิก” ได้ นั่นคือกลไกและกลเกมในสภาฯ ที่ให้อำนาจประธานสภาฯ เป็นผู้ชี้ขาด คำตอบสุดท้าย
ฉะนั้นทั้งสองขั้วจึงประมาทไม่ได้ เพราะทิศทางที่จะชี้ขาด อาจเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย เหมือนที่ประวัติศาสตร์การเมืองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว.