มติ ป.ป.ช.ข้างมากยื้อ! ไม่เปิดข้อมูลคดีนาฬิกา “ประวิตร” ชงศาล ปค.ทบทวน
มติ ป.ป.ช.เสียงข้างมาก 5:1 ยื้อไม่เปิดเผยข้อมูลคดีนาฬิกาเพื่อน “ประวิตร” ขอให้ทำหนังสือถึงศาล ปค.สูงสุดทบทวนว่า ข้อมูลใดเปิดได้-ไม่ได้บ้าง “วีระ” ล่า 2 หมื่นชื่อถอดถอน กก.เสียงข้างมาก ยันสู้ต่อ
จากกรณีมีรายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีมติเสียงข้างมาก ไม่เปิดเผยข้อมูลการไต่สวนคดีแหวนแม่ และนาฬิกาเพื่อน กรณีกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีมติตีตกข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้ ให้แก่นายวีระ สมความคิด ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ที่สั่งให้เปิดเผยข้อมูลแก่นายวีระ จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมด 2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 นายวีระ สมความคิด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า เอาเลย ป.ป.ช. ที่ลงมติจำนวน 5 เสียง ดิ้นกันให้สุดฤทธิ์ ยืนยันว่าต้องการกระทำความผิดซ้ำซาก แสดงเจตนาต้องการท้าทายกฎหมายอย่างชัดเจน ไม่เป็นไร รอได้ กรณีนี้รอมานาน 4 ปีแล้ว ยังรอได้ ถึงแม้จะรอนานแค่ไหน แต่หากสามารถเอาคนผิดมารับโทษได้ ก็คุ้มค่ากับการรอคอย
นายวีระ ระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดท่านได้ตัดสินชี้ขาดอย่างชัดเจนแล้วว่า ป.ป.ช.ต้องให้เอกสารทั้ง 3 รายการแก่ตนทั้งหมด พวกคุณก็ยังจะดื้อ ยังจะหน้าด้านทำหนังสือไปจี้ถามศาลท่านอีกว่า "อะไรให้ได้ อะไรให้ไม่ได้" ป.ป.ช.เผยแพร่คำขวัญต่อสาธารณะว่า ป.ป.ช.เป็นองค์กรที่มี "ความซื่อสัตย์ คุณธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้" แต่การกระทำของกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 5 คน ที่ผ่านมาจนถึงในในวันนี้ ยืนยันให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ป.ป.ช. ได้กระทำตรงกันข้ามกับคำขวัญของตนเองอย่างสิ้นเชิง ก็จะรอดูว่าศาลปกครองสูงสุดท่านจะตอบ ป.ป.ช.อย่างไร ศาลท่านจะยืนข้างความถูกต้องชอบธรรม ยืนข้างผลประโยชน์ของชาติและประชาชน หรือจะกลับไปเข้าข้าง ป.ป.ช. อีกไม่นานก็รู้ อดใจรออีกหน่อย รอได้
“พวกคุณจะดื้อจะหน้าด้านกันอย่างไร ก็เรื่องของพวกคุณนะ อย่างไรเสีย ไม่ปล่อยให้คนโกงคนผิดลอยนวลแน่ จะต่อสู้กับพวกคุณจนถึงที่สุด เอาให้มันรู้กันไปเลยว่า ประชาชนที่พยายามปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติ ต้องพ่ายแพ้ให้แก่พวกโกงชาติ ที่ผ่านมากว่าหลายสิบปี ที่ได้ทำหน้าที่พลเมืองอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือราชการต้านภัยคอร์รัปชัน ที่สำคัญช่วย ป.ป.ช. ทำงาน เพื่อเอาคนทุจริตคนโกงมารับโทษตามกฎหมาย แต่มาวันนี้กลับต้องมาต่อสู้กับ ป.ป.ช. เสียเอง เนื่องจากพฤติการณ์ของ ป.ป.ช. ทำให้เชื่อได้ว่า ไม่ซื่อสัตย์ ไม่มีคุณธรรม ไม่ใช่มืออาชีพ ไม่โปร่งใส และตรวจสอบการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่ได้ คนไทยที่รักความเป็นธรรมทั้งหลาย ท่านจะปล่อยให้ตนต้องต่อสู้กับพวกที่ทุจริตโกงกิน ทำลายชาติและประชาชน ตามลำพังอีกต่อไปหรือ ท่านทั้งหลายจะไม่มาช่วยกันปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนหรือ” นายวีระ ระบุ
วันเดียวกัน นายวีระ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า ขณะนี้เตรียมล่าชื่อประชาชน 20,000 รายชื่อ ยื่นต่อประธานรัฐสภา ให้ส่งเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาตั้งคณะไต่สวนอิสระดำเนินการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.5 คน ที่ลงมติไม่เปิดเผยสำนวนคดีนาฬิกาหรูให้แก่ตนภายใน 15วัน ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด จะเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว โดยใช้กระบวนการทางโซเชียลล่าชื่อประชาชน เนื่องจากขณะนี้ไม่มีส.ส. ไม่สามารถใช้ช่องทางเข้าชื่อส.ส.ถอดถอนป.ป.ช.ได้ ต้องใช้วิธีล่าชื่อประชาชนส่งเรื่องให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกา แม้ขณะนี้ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรที่ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ก็ต้องให้ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่แทน
นายวีระ กล่าวอีกว่า ดังนั้นเมื่อล่าชื่อครบแล้วจะส่งเรื่องให้ประธานวุฒิสภาดำเนินการ จะวัดใจประธานวุฒิสภากล้าส่งเรื่องให้ศาลฎีกาหรือไม่ ถ้ามีข้อมูลหลักฐานและองค์ประกอบครบถ้วน แต่ประธานวุฒิสภาไม่ส่งเรื่องให้ ก็เอาผิดประธานวุฒิสภาเพิ่มเติมด้วย การยื่นถอดถอน 5กรรมการป.ป.ช.เพราะเข้าข่ายชัดเจนว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้ส่งสำนวนคดีนาฬิกาหรูให้ตนใน 15วัน จะครบกำหนดวันที่ 6พ.ค.นี้ แต่ป.ป.ช.กลับส่งเรื่องไปถามศาลปกครองสูงสุดจะให้เปิดเผยข้อมูลใดได้บ้าง ชัดเจนเป็นการยื้อเวลาไม่ส่งข้อมูลให้ตนภายในวันที่ 6พ.ค. เพราะกลัวตนจะนำข้อมูลดังกล่าวมาเปิดเผยต่อสาธารณชน ทำให้กระทบต่อคะแนนของบางพรรคการเมือง
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2566 ระบุว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติข้างมาก 5 ต่อ 1 เสียง ไม่เปิดเผยข้อมูลคดีดังกล่าว และเห็นควรให้ทำหนังสือถึงศาลปกครองสูงสุดทบทวนว่าข้อมูลส่วนใดที่สามารถเปิดเผยได้ ข้อมูลส่วนใดไม่สามารถเปิดเผยได้อีกครั้ง