เจาะเซฟ 590 ล.! “เสี่ยสงคราม” เก็บเงินสด 44 ล.-ปล่อยกู้ บ.เครือ “อิมพีเรียล”

เจาะเซฟ 590 ล.! “เสี่ยสงคราม” เก็บเงินสด 44 ล.-ปล่อยกู้ บ.เครือ “อิมพีเรียล”

เจาะเซฟ 590 ล้านบาท “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” พ้นเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ “เพื่อชาติ” ก่อนย้ายกลับค่าย “เพื่อไทย” หวั่นสถาบันการเงินล่ม ทำให้เงินสูญหายในอนาคต เก็บเงินสดไว้ 44 ล้านบาท ปล่อยกู้แก่บริษัท “เครืออิมพีเรียล” กว่า 377 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รายชื่อที่น่าสนใจ นายสงคราม  กิจเลิศไพโรจน์ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติ เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2566

นายสงคราม แจ้งมีทรัพย์สิน 551,497,357 บาท ได้แก่ เงินสด 44 ล้านบาท เงินฝาก 2,565,034 บาท เงินลงทุน 120,932,036 บาท เงินให้กู้ยืม 378,000,287 บาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 6 ล้านบาท มีหนี้สิน 11,001,465 บาท (กับบริษัท อิมพีเรียล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด) แจ้งมีรายได้รวมต่อปีโดยประมาณ 4,362,720 บาท เป็นเงินเดือนทั้งหมด มีรายจ่ายรวม 4,735,384 บาท

ส่วนนางอรุณลักษณ์ กิจเลิศไพโรจน์ คู่สมรส มีทรัพย์สิน 39,433,253 บาท ได้แก่ เงินฝาก 2,927,921 บาท เงินลงทุน 11,818,532 บาท ที่ดิน 3,840,000 บาท ทรัพย์สินอื่น 20,846,800 บาท ไม่มีหนี้สิน แจ้งมีรายได้รวม 384,000 บาท มีรายจ่ายรวม 2,839,956 บาท

รวมทั้งคู่มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 590,930,611 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 11,001,465 บาท

นายสงคราม ชี้แจง ป.ป.ช.กรณีถือครองเงินสด 44 ล้านบาทว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝากปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 5 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท ต่อ 1 รายผู้ฝาก ต่อสถาบันการเงิน (ไม่ใช่ต่อ 1 บัญชี) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 11 ส.ค. 2564 เป็นต้นมา ทำให้ผู้ยื่นบัญชีมีความกังวลว่า หากนำฝากธนาคารจะทำให้เงินสูญหายไปได้ในอนาคต หากเกิดเหตุการณ์ความไม่มั่นคงของสถาบันการเงิน เช่นกรณี Silicon Valley Bank (SVB) ที่ปิดกิจการ ประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดยังไม่สิ้นสุด จึงทำให้ผู้ยื่นบัญชีไม่มีความมั่นใจที่จะนำฝากเงินสดทั้งหมดให้ธนาคารดูแล

เจาะเซฟ 590 ล.! “เสี่ยสงคราม” เก็บเงินสด 44 ล.-ปล่อยกู้ บ.เครือ “อิมพีเรียล”

นอกจากนี้นายสงคราม ยังมีเงินให้กู้ยืมแก่บริษัท ลาดพร้าว พลาซ่า จำกัด ในเครือ “อิมพีเรียล” 2 ครั้ง มิได้ระบุวันเดือนปีที่ให้กู้ยืม ครั้งแรก 377,083,914 บาท ครั้งที่สอง 916,372 บาท โดยยอดหนี้คงเหลือยังเท่ากับเงินต้น

นายสงคราม แม้ปัจจุบันจะไม่ได้เป็นผู้บริหารเครือ “อิมพีเรียล” แต่ยังดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาบริษัท อิมพีเรียล พลาซ่า จำกัด นอกจากนี้ยังร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือ “อิมพีเรียล” หลายแห่ง เช่น บริษัท อิมพีเรียล พลาซ่า จำกัด บริษัท แกรนด์ อิมพีเรียล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด บริษัท อิมพีเรียล ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด บริษัท พี.วี.เค.ไอส์แลนด์ จำกัด บริษัท อิมพีเรียล เวิลด์ จำกัด บริษัท อิมพีเรียล ลาดพร้าว จำกัด บริษัท อิมพีเรียลอินเตอร์เนชั่นแนลดีพาร์ทเมนท์สโตร์ จำกัด บริษัท ลาดพร้าว สปอร์ต พลาซ่า จำกัด บริษัท สวนน้ำ ลาดพร้าว พลาซ่า จำกัด บริษัท อิมพีเรียลเวิลด์ ไอซ์สเก็ตติ้ง จำกัด บริษัท ลาดพร้าว พลาซ่า จำกัด บริษัท ก.เจริญโฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัท โฮม ดีไปท์ จำกัด บริษัท โกลบิล วิชชั่น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสงคราม คืออดีตผู้บริหารห้างสรรพสินค้าชื่อดัง “อิมพีเรียล” เคยเป็น รมช.พาณิชย์ สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ โดยในช่วงการเลือกตั้งปี 2562 เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง “พรรคเพื่อชาติ” ต่อมาได้ลาออกและสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถูกส่งลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 16