นโยบายหาเสียงแรงงาน ต้องมีมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
การนำเสนอนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้เห็นนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานน้อยมาก ทั้งที่ตลาดแรงงานในประเทศไทยกำลังเจอปัญหาในทุกกลุ่ม
1 พ.ค.2566 เป็นวันแรงงานที่แตกต่างจากหลายปีที่ผ่านมา เพราะอยู่ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.2566 โดยบางพรรคการเมืองได้หาเสียงด้วยสูตรสำเร็จของนโยบายเชิงประชานิคม เช่น การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตั้งแต่วันละ 450-600 บาท ซึ่งในอดีตเคยมีการหาเสียงด้วยการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดดวันละ 300 บาท จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากแรงงานที่ออกไปเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ทำให้หลังจากนั้นการหาเสียงมีการนำประเด็นค่าแรงขั้นต่ำมาหาเสียงตลอด
การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยดำเนินการผ่านคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (ไตรภาคี) ที่ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง โดยมีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดเสนอขึ้นมาให้คณะกรรมการค่ากลางกลางให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งแนวทางดังกล่าว ทำให้ภาคเอกชนออกมาโวยวายถึงการเข้ามาแทรกแซงการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของฝ่ายการเมือง จากเดิมที่มีหลักการคำนวณจากการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อ อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความสามารถของนายจ้าง
เป็นที่น่าเสียดายที่การนำเสนอนโยบายหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งนี้เห็นนโยบายการแก้ปัญหาแรงงานน้อยมาก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าตลาดแรงงานในประเทศไทยกำลังเจอปัญหาในทุกกลุ่มแรงงาน นับตั้งแต่แรงงานไร้ฝีมือที่ต้องพึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ติดปัญหาการพิสูจน์สัญชาติ ในขณะที่แรงงานกึ่งฝีมือยังไม่สามารถอัปสกิล-รีสกิล ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และแรงงานที่มีทักษะกำลังเผชิญกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่กำลังเข้ามาสร้างจุดเปลี่ยนของหลายอาชีพ
นอกจากนี้ยังปัญหาแรงงานขาดแคลนในเกือบทุกธุรกิจ และขาดแคลนทั้งประเภทแรงงานไร้ฝีมือ แรงงานกึ่งฝีมือและแรงงานมีทักษะ แต่ดูเหมือนว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะยังมีการนำเสนอปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง ทั้งแรงงานธุรกิจก่อสร้าง รวมถึงแรงงานในธุรกิจท่องเที่ยวที่มีการปลดคนไปในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในขณะที่แรงงานที่มีทักษะมีการจูงใจด้วยนโยบายภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงนโยบายวีซ่า แต่ดูเหมือนว่ายังต้องใช้เวลาที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย
ในขณะที่ระบบประกันสังคมที่ดูแลแรงงานในระบบประมาณ 12 ล้านคน มีปัญหาความเหลื่อมล้ำหลายส่วน โดยเฉพาะในด้านการดูแลสาธารณสุขที่เป็นระบบเดียวที่ประชาชนต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อรักษาร่างกาย ซึ่งต่างจากระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและระบบประกันสาธารณสุขของข้าราชการที่ผู้อยู่ในระบบไม่ต้องจ่ายเงินสมทบ รวมถึงการรักษาที่ครอบคลุมมากกว่าระบบประกันสังคม ซึ่งแทบจะไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอนโยบายแก้ปัญหาของกองทุนประกันสังคม ดังนั้นปัญหาด้านแรงงานมีหลายด้านที่รัฐบาลใหม่ควรเข้ามาแก้ไข และมีหลายมิติมากกว่าการปรับค่าแรงขั้นต่ำ