“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย  โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

3 บก. เปิดอก เจาะลึก "เศรษฐา ทวีสิน" แคนดิเดตนายกฯ จาก พรรคเพื่อไทย หลังจากที่เขาถูกเลือกให้เป็น "แม่ทัพ" สู้เลือกตั้ง และอีกไม่กี่วัน จะรู้ผล และชี้ชะตา จากการเลือกตั้ง

โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ชื่อของ "เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคเพื่อไทย อยู่ในโฟกัสทางการเมือง หลังรับช่วงต่อจาก แพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย เดินนำลูกพรรคหาเสียงทั่วประเทศ

“เศรษฐา” พกความมั่นใจเต็มเปี่ยม หมายมั่นจะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ให้จงได้ ซึ่งจังหวะเวลาในการลงสนามการเมืองอาจเอื้อต่อ “เศรษฐา” ให้สานฝันตัวเองได้

รายการ “เนชั่นสุดสัปดาห์กับ 3 บก.” ได้พูดคุยการทำงานหน้าฉาก หลังฉาก พร้อมวิเคราะห์ภารกิจแลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยจะมีมากน้อยเพียงใด และประเมินโอกาสของ “เศรษฐา” ที่จะนั่งเก้าอี้นายกฯ จะเป็นจริงได้หรือไม่

“เศรษฐา” ออกตัวว่า “หลังการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยจะเลือกแคนดิเดตนายกฯ คนไหนเป็นนายกฯ มันจะเป็นขั้นตอนที่ 2 วันนี้ขอเรื่องเอาชนะก่อนให้ได้ 280 เสียง หรือ 300 เสียงก่อน เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วค่อยว่ากัน แต่ผมเชื่อว่าทั้งผมและคุณอุ๊งอิ๊ง มีความพร้อม ที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 พร้อมแบกรับปัญหาของประเทศไว้บนบ่า”

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

อย่างไรก็ตาม “เศรษฐา” มั่นใจว่านายกฯคนที่ 30 ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย เพราะจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด “ผมก็ยังมั่นใจ ว่าเราจะเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุด นายกฯ ต้องมาจากพรรคเพื่อไทย ผมลงพื้นที่มา ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับโพล ทุกสำนักก็บอกมาว่า เพื่อไทยจะได้คะแนนสูงสุด”

“หากพรรคเพื่อไทยได้มากกว่า 250 เสียง ถือเป็นฉันทามติที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของประชาชน หากได้มากกว่านี้ก็จะยิ่งแข็งแกร่ง อยากได้เกิน 300 ก็เป็นอะไรที่ดี จะได้มีความเกรงใจกันทั้งในพรรคและนอกพรรค

เมื่อถามว่า หากได้ ส.ส. เกิน 300 เสียง จะถูกกล่าวหาเป็นเผด็จการรัฐสภาอีกหรือไม่ “เศรษฐา” กล่าวตอบโต้ทันควันว่า “ผมไม่มีความเชื่อเรื่องเผด็จการรัฐสภา มันเป็นวาทกรรม ที่ถูกต้องมาโดยผู้แพ้ เพราะเรามีการปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเสียงส่วนมาก หากประชาชนเลือกเข้ามา 320 เพียงแต่ว่าการที่คุณจะทำอะไร ถึงแม้จะมีเสียงส่วนมาก ก็ต้องฟังเสียงเสาหลักอื่น”

“เศรษฐา” ขยายความต่อว่า สมมุติพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลพรรคเดียว แน่นอนมันก็สบายใจ มีความมั่นใจ เพราะเป็นคนที่มีจิตวิญญาณเดียวกัน 

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

"แต่ไม่แน่ใจว่า หากต้องมีพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค ผมจะไหวหรือไม่ เพราะว่าการตอบปัญหาทางด้านการเมือง ยอมรับว่าตอบไม่ดี คุณอุ๊งอิ๊งตอบได้ดีกว่า เพราะเติบโตมากับครอบครัวนักการเมือง ผมทำธุรกิจไม่ชำนาญเรื่องพวกนี้ บางจังหวะ บางคนเหมาะสมกว่าเรา ก็ต้องยอมรับ ซึ่งผมอาจถอยฉากมาช่วยทางด้านอื่นก็ได้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะหายไปไหนแพ้เลือกตั้ง หรือชนะไม่ได้เท่าที่ควร เราก็ช่วยบางเรื่องได้ หรือผมอาจเป็นบุคคลที่เหมาะสมที่จะต้องนั่งตรงนี้ ผมต้องการที่จะช่วยเหลือประเทศให้มีการเปลี่ยนแปลง”

เมื่อถามว่า บุคลิกที่ไม่ให้ใครมาครอบงำ หากมาทำงานการเมือง และเป็นผู้นำ จะยังยึดบุคลิกนี้หรือไม่ “เศรษฐา” กล่าวว่า “100% เหมือนเดิม ชัดเจน ซึ่งหลักการคิดต้องเหมือนเดิม แต่คนที่มามีส่วนร่วมในการตัดสินใจภาคส่วนต่างกัน ถ้าหากเป็นนโยบายใหญ่แน่นอนประชาชนมา ภาคธุรกิจก็ต้องมาถาม เพราะอาจจะเดือดร้อนหรือได้ประโยชน์ ข้าราชการก็ต้องถามว่าทำได้จริงหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องใหญ่ แนวร่วมและทีมเวิร์กสำคัญมาก เมื่อถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ ก็ต้องเด็ดขาด”

เมื่อถามว่า การครอบงำไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กลุ่มก๊วน ทางการเมือง สามารถที่จะทำให้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจหรือไม่ “เศรษฐา” กล่าวว่า “จะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ เพราะการรับฟังก็เป็นส่วนหนึ่ง การใช้คำว่าครอบงำ ตอบลำบาก หากตอบแบบนักการเมือง ผมถูกครอบงำโดยประชาชน ซึ่งเราต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง”

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

“เศรษฐา” กล่าวว่า หากได้เป็นนายกฯ ตนไม่มีสิ่งแรกที่อยากทำ เพราะต้องทำหลายอย่างควบคู่กันไป หากเป็นความเท่าเทียมก็ต้องทำได้ทันที ซึ่งหลายเป็นนโยบายของพรรค ก็ต้องให้ ส.ส. ช่วยกันผลักดัน เช่น ตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เรื่องเศรษฐกิจต้องสำรวจทันที ครอบครัวไหนที่มีรายได้ไม่ถึง 20,000 บาท ก็จะให้เงินดิจิตอลดำเนินการทันที รวมถึงปัญหาค่าไฟแพง ปากท้องดีขึ้นชัดเจน รายจ่ายลด ต้องทำทันทีเช่นกัน

ขณะเดียวกัน หากไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ “เศรษฐา” ไม่ได้ล็อกสเปคที่กระทรวงใด โดยกล่าวว่า “ผมไม่เคยบอกว่ากระทรวงการคลังต้องเป็นของผม ไม่มีแน่นอน แต่ว่าอย่างนี้จะเป็นเงื่อนไขหรือไม่ อย่างเช่น กระทรวงต่างประเทศ ในอดีตผมมองว่า กระทรวงต่างประเทศ ไม่มีใครอยากเป็น พรรคการเมืองไม่อยากเอา แต่ปัจจุบันนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้น เรื่องที่เราต้องบินไปเจรจาการค้า เป็นผู้นำที่ถือธงนำไป”

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

“กระทรวงต่างประเทศ ต้องอัพเป็นกระทรวงเกรดเอ และถ้าหาคนไปเป็นไม่ได้ ผมก็จะนั่งควบตำแหน่งนี้เอง นี่คือเรื่องสมมุติเพราะมันเป็นหน้าตา และเป็นเครื่องมือแห่งโอกาส และเรื่องภูมิศาสตร์ประเทศ ทุกวันนี้เราได้แต่ตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยเอง กับปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่อง เมียนมา ปัญหาทะเลจีนใต้ เรามีสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐมานาน ในนักธุรกิจ 99% มีเชื้อสายจีนหมด ประเทศไทยถูกมองว่า เป็นกลาง ทำไมไม่เชื้อเชิญคนมาเจรจากันที่นี่ เราต้องคิดการใหญ่ ผมให้ความสำคัญกับกระทรวงต่างประเทศ”

สำหรับ มุมมองธุรกิจกับการเมือง “เศรษฐา” มองว่า “ผมว่าการเมืองง่ายกว่า หากเป็นในเรื่องธุรกิจ 4 เสาหลักที่ผมใช้อยู่ตลอดเวลา ผู้ถือหุ้นลูกค้า พนักงาน สังคม มันต้องบาลานซ์ แต่การเมืองมีสถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันทหาร ข้าราชการ สื่อมวลชน ประชาชน ซึ่งจริงๆ แล้ว เสาที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวตั้ง หากกระทบ เสาอื่นมากเกินไป ก็ต้องพูดคุย การบริหารการคาดหวัง เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด จะไม่ทำอะไรหากประชาชนไม่ได้ประโยชน์

“เศรษฐา”มองภารกิจนายกฯ เพื่อไทย   โจทย์ใหญ่ “บริหารความคาดหวัง” 

“เศรษฐา” ทิ้งท้ายว่า เหตุผลที่ประชาชนควรเลือกพรรคเพื่อไทย "พรรคเพื่อไทยในอดีตพิสูจน์ได้เห็นแล้วว่าเรามีนโยบายที่ดีออกมา เราสามารถทำได้ ชีวิตความเป็นอยู่ไม่ใช่เงินในกระเป๋าอย่างเดียว เรื่องสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค นโยบายใหม่ของเรายกระดับ เพื่อทำให้ประชาชนมีบัตรประชาชนใบเดียวสามารถไปได้หลายที่ สิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพ การเลือกคู่ชีวิต การเลือกเพศสภาพ ถือเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญ ซึ่งชีวิตความเป็นอยู่โดยรวมจะดีขึ้นในเวลา 4 ปี หากทำไม่ได้อีก 4 ปีก็ไม่ต้องเลือก”.