สนามด้ามขวาน 3 จังหวัดใต้ “ขั้วรัฐ”รุมสกรัมขั้วประชาธิปไตย

สนามด้ามขวาน 3 จังหวัดใต้ “ขั้วรัฐ”รุมสกรัมขั้วประชาธิปไตย

ศึกชิงเก้าอี้ ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพรรคขั้วรัฐบาล รุมสกัด “พรรคประชาชาติ” ยืนหนึ่งในพื้นที่จากขั้วประชาธิปไตย หากยึดมาเก้าอี้ ส.ส. มาได้มากขึ้น จะลดทอนเก้าอี้ ส.ส. “ขั้วประชาธิปไตย” ได้ไปในตัว

สนาม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย นราธิวาส ปัตตานี ยะลา ดุเดือดกว่าการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคขั้วรัฐบาลเดิม พยายามเจาะฐานที่มั่นของพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นเสมือนพรรคน้องของพรรคเพื่อไทย ที่วางยุทธศาสตร์เก็บเก้าอี้ ส.ส. ในแดนต้องห้ามของ “ตระกูลชินวัตร” เพราะมีรอยแผลเก่าที่ยังไม่เลือนหาย

เที่ยวนี้พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จัดหนัก-จัดเต็ม ว่ากันว่า “กระสุน” มีเพียบ อยู่ที่คนใช้จะล็อกเป้ายิงแม่นมากน้อยแค่ไหน

จ.นราธิวาส หลายปีที่ผ่านมาเปลี่ยนไปจากยุคของ พรพิชญ์ พัฒนกุลเลิศ อารีเพ็ญ อุตรสินธิ์ นัจมุดดิน อูมา รำรี มามะ แม้กระทั่ง เจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ต้องตกยุคไป เมื่อตระกูลยาวอหะซัน ขยับขึ้นมาจากฐานการเมืองในระดับท้องถิ่น จากการขับเคลื่อนของ “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” นายก อบจ.นราธิวาส ตั้งแต่ปี 2548 จนล่าสุดปี 2562

ปี 2562 “กูเซ็ง” ตัดสินใจให้ลูกชายสองคน “กูเฮง ยาวอหะซัน- วัชระ ยาวอหะซัน” แยกกันลงสมัครคนละพรรค “วัชระ” คนพี่ลงสมัครในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ส่วน “กูเฮง” คนน้องลงสมัครในนามพรรคประชาชาติ

ปี 2566 “กูเซ็ง” เปลี่ยนหน้าไพ่อีกครั้ง เมื่อตัดสินใจสนับสนุนให้ “วัชระ” ย้ายมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ส่วน “กูเฮง” ยังคงสังกัดพรรคประชาชาติ การเลือกตั้งรอบนี้จึงยังคงน่าจับตาเป็นพิเศษว่า “ตระกูลยาวอหะซัน” จะยังคงได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องกันหรือไม่

เขต 1 “วัชระ” จากพรรครวมไทยสร้างชาติ รอบนี้มีเพียง “หมอแว” นพ.แวมาฮาดี แวดาโอ๊ะ จากพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่พอจะเป็นคู่แข่ง ส่วนผู้สมัครจากพรรคอื่นยังไม่น่าจะเจาะฐานการเมืองของตระกูลยาวอหะซันที่นับวันจะยิ่งแข็งแกร่งมากขึ้นไปได้

ทว่า “หมอแว” ร้างสนามค่อนข้างนาน จึงห่างฐานเสียงไปนาน แถมบารมีของ “กูเซ็ง” ยังแข็งแกร่ง คาดว่า “วัชระ” น่าจะปักธงพรรครวมไทยสร้างชาติในสนาม จ.นราธิวาส ได้แน่นอน

เขต 2 เคยเป็นพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงค่อนข้างแน่นหนา แม้การเลือกตั้งปี 2562 จะเสียที่นั่งให้กับพรรคพลังประชารัฐ แต่เป็นเพราะปีนั้นกระแส “ประยุทธ์” ค่อนข้างมาแรง บวกกับการทำงานหนักของกลุ่มเตรียมทหาร 12 “เพื่อนประยุทธ์” ทำให้คอนโทรลเสียงได้อย่างมีประสิทธิภพ

ปี 2566 พรรคประชาธิปัตย์ส่ง “เมธี อรุณ” นักร้องนำจากวงลาบานูนมาลงสนาม หวังที่จะทวงคืนเก้าอี้ส.ส.ในเขตนี้กลับมาให้ได้ โดยมี “สุชาดา พันธ์นรา” นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก เป็นกองหนุนและควงแขนขอคะแนน

โดยมี “สารี สะมะแอ” ลูกทีมบ้านใหญ่ยะวอหะซัน จากพรรคร่วมไทยสร้างชาติ และ “อามินทร์ มะยูโซ๊ะ” จากพรรคพลังประชารัฐ น้องชาย “บีลา” สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ อดีต ส.ส. ในเขตนี้ เป็นคู่แข่งสำคัญ โดยทั้ง “สารี-อามินทร์” มีฐานเสียงที่แข็งแกร่ง

เขต 3 “บีลา” สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะจากพรรคพลังประชารัฐ มีฐานเสียงที่เชื่อมือกันได้ แถมมีทีมพลังป้อมคอยเกื้อหนุนงานพื้นที่ ว่ากันว่า “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ สั่ง “บีล่า” ทุ่มสุดตัวห้ามแพ้โดยเด็ดขาด

อย่างไรก็ตามมีคู่แข่งสำคัญคือ “มูหามะ รอมือลี อาแซ” จากพรรคประชาชาติ ที่ค่อนข้างแรง เบียดกับ “บีลา” ได้สูสี เช่นเดียวกับ “สุลัยมาน มะโซ๊ะ” จากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วน “มะฮาหมัด ฮามิ” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ คงจะลุ้นยาก

เขต 4 เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคประชาชาติ ทำให้ “กูเฮง ยาวอหะซัน” ห้ามแพ้เช่นกัน แม้พรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้การนำของ “กูเซ็ง” จะส่ง “อิสฮาม มูซอ” มาสู้กับลูกชาย แต่คงไม่เอาจริงเอาจังจนต้องฟาดฟันกันเอง

คู่แข่งของ “กูเฮง” จึงโฟกัสไปที่ “อามีร ซาริคาน” รองนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลรือเสาะ จากพรรคพลังประชารัฐ แต่ฐานคะแนนส่วนตัวไม่มากพอจะก้าวมข้ามฐานคะแนน “กูเฮง” ไปได้

เขต 5 ยังเป็นฐานเสียงของพรรคประชาชาติ โดยส่ง “กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ” ทนายคดีความมั่นคง ขวัญใจชาวบ้านในพื้นที่ลงสมัคร ส่วน “เจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง” ลงชิงในนามพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากย้ายไปสังกัดพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ “ลุงกำนัน” แต่สอบตกในการเลือกตั้งครั้งก่อน

จ.ปัตตานี ในวันที่ตำนานการต่อสู้ของ “หะยี สุหรง” พ่อของ “เด่น โต๊ะมีนา” เริ่มคลายความขลัง พร้อมกับสถานการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้สนามการเลือกตั้งปัตตานี มีช่องว่างให้แต่ละพรรคพร้อมที่จะเข้ามาเจาะ เพื่อยึดครองเก้าอี้ ส.ส.

 เขต 1 แข่งกันหนัก 3 คน ประกอบด้วย “สนิท นาแว” จากพรรคประชาธิปัตย์ “วรวิทย์ บารู” จากพรรคประชาชาติ “เพชรดาว โต๊ะมีนา” ทายาทของ “เด่น โต๊ะมีนา” จากพรรคภูมิใจไทย ล้วนมีโอกาสพอๆกัน โดย “เพชรดาว” ต้องรอลุ้นว่ากระแสไม่เอากัญชา จะแผ่วลงไป หรือมีแรงต้านเพิ่มมากขึ้น

เขต 2 เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “อับดุลบาซิม อาบู” จากพรรคภูมิใจไทย แชมป์เก่ากับ “มนตรี ดอเลาะ” จากพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าของพื้นที่เดิม แน่นอนว่า “อับดุลบาซิม” จะยังเผชิญกับเรื่องของกัญชา ที่เป็นปัญหาใหญ่ในการหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย ทำให้ “อับดุลบาซิม” ต้องทำการอย่างหนัก ขณะที่ “มนตรี” ขยายปมกัญชาเข้าเป้าในชุมชนมุสลิม

เขต 3 “สมมุติ เบญจลักษณ์” พรรคประชาชาติที่ครองแชมป์มาตลอด มี “บูรฮันธ์ สะเม๊าะ” จากพรรคพลังประชารัฐ และ “ยูนัยดี วาบา” เจ้าของโรงรียนสอนศาสนา จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคู่แข่งสำคัญ

เขต 4 “อริญชัย ซูสารอ” เป็นอีกคนที่มีโอกาสปักธงพรรครวมไทยสร้างชาติ ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การผลักดันของ “อนุมัติ ซูสารอ” อดีตส.ส. พรรคประชาชาติ เจ้าของพื้นที่เดิม ต้องแข่งกับ “ว่าที่ร.ต.โมฮามัดยาสรี ยูซง” จากพรรคประชาชาติ แต่ “อริญชัย” ก็ยังครองความได้เปรียบมากกว่า

เขต 5 “อันวาร์ สาและ” แชมป์ ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ มาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยหวังว่ากระแสการเสนอตัวเป็นโซ่ข้อกลางของ “ลุงป้อม” บวกกับกระแสความนิยมในตัว “อันวาร์” จะทำให้มีโอกาสได้รับเลือกกลับเข้าสู่สภาอีกครั้ง

โดยจะต้องแข่งกับมวยกระดูกแข็งอย่าง “สาเหะมูหามัด อัลอิดรุส” อดีตนายกเทศบาลตำบลตันหยง จากพรรคประชาชาติ ที่มีทั้งกระแสพรรค และกระแสบุคคล ซึ่งถือว่าเป็นผู้สมัครที่มาแรงในขณะนี้

จ.ยะลา เขต 1 “ประสิทธิ์ชัย พงษ์สุวรรณศิริ” จากประชาธิปัตย์ ที่มีพี่ชาย “ประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ” อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ 6 สมัย เป็นกองหนุน ทำให้มีโอกาสพลิกเกมเอาชนะเจ้าถิ่น “อาดิลัน อาลีอีสเฮาะ” จากพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าได้ ส.ส. เพราะกระแส “ลุงตู่”

อย่างไรก็ตาม เขตนี้ประมาทผู้สมัครจากพรรคประชาชาติ “สุไลมาน ปือแนปีแน” ไม่ได้ เพราะเริ่มมีการสร้างฐานคะแนนในพื้นที่แบบเงียบๆ

เขต 2 “ซูการ์โน มะทา” จากพรรคประชาชาติ เจ้าของพื้นที่ยังคงฐานเสียงแน่น เดินสายพบชาวบ้าน และมีคะแนนนิยมนำ “อิสกานดา สาแม” จากพรรคเพื่อไทยอยู่มากพอสมควร

เขต 3 “อับดุลอายี สาแม็ง” พรรคประชาชาติ ฐานคะแนนนิยมส่วนตัวปึ้กมาก แม้จะมี “ณรงค์ ดูดิง” จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นคู่แข่ง และพยายามทำคะแนนตีตื้น แต่ “อับดุลอายี” มีกองหนุนที่แข็งแกร่งกว่า

ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวของศึกชิงเก้าอี้ ส.ส. 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีพรรคขั้วรัฐบาล รุมสกัด “พรรคประชาชาติ” ยืนหนึ่งในพื้นที่จากขั้วประชาธิปไตย หากยึดมาเก้าอี้ ส.ส. มาได้มากขึ้น จะลดทอนเก้าอี้ ส.ส. “ขั้วประชาธิปไตย” ได้ไปในตัว