สถิติ22ปีเลือกตั้ง ส.ส.กทม. 5 ครั้ง มีลุ้น“แลนด์สไลด์เมืองหลวง”
การเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.2566 ปีนี้ บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป ทั้งกติกาใหม่ พรรคที่เข้าชิง มีการคาดหมายว่าในสนาม กทม.จะมีเพียง 4-5 พรรค ที่มีโอกาสลุ้น
กรุงเทพมหานคร เคยมี ส.ส.จำนวนมากถึง 37 เขตเลือกตั้งในปี 2544 ครั้งนั้นเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้กติการัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกเรียกขานว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ใช้กติกาการเลือกตั้ง บัตร 2 ใบ แยก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2544 ปรากฏว่า “ไทยรักไทย” พรรคการเมืองน้องใหม่ ที่มี "ทักษิณ ชินวัตร" หัวหน้าพรรค กวาด ส.ส.กทม.ได้มากที่สุดถึง 29 คน ได้คะแนนรวม 1,026,153 คะแนน หรือคิดเป็น 43.72%
ที่เหลืออีก 8 ที่นั่งเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี "ชวน หลีกภัย" เป็นหัวหน้าพรรค คะแนนรวม 758,879 คะแนน หรือคิดเป็น 32.33% ที่น่าสังเกตคือ ประชาธิปัตย์ ได้ ส.ส.กทม.ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในเท่านั้น โดยครั้งนั้น จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งใน กทม. 66.73%
4 ปีต่อมา ในการเลือกตั้งใหญ่ จำนวน ส.ส.กทม.ก็ยังคงเป็น 37 เขต ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ.2548 ปรากฏว่าพรรคไทยรักไทย ภายใต้ ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำพรรคคนเดิม กวาด ส.ส.กทม.ถล่มทลาย ได้มาถึง 32 คน ได้คะแนนรวม 1,541,829 คิดเป็น 55.35%
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้ผู้นำคนใหม่ "บัญญัติ บรรทัดฐาน" หัวหน้าพรรค ได้ ส.ส.กทม.มาเพียง 4 คน เท่านั้น มีคะแนนรวม 1,047,496 คะแนน หรือ 37.61% และก็ยังรักษาฐานที่มั่นพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในได้เท่านั้น
ขณะที่ พรรคชาติไทย ซึ่งมี "บรรหาร ศิลปอาชา" เป็นหัวหน้าพรรค ส่งผู้สมัครชิง 35 เขต และเบียดเข้ามาได้ 1 คน คือ "แบม จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์" ในเขตดอนเมือง ได้คะแนนรวม 133,395 คะแนน หรือ 4.79% ซึ่งมีข้อสังเกตว่าการเลือกตั้งครั้งนั้น "การุณ โหสกุล" ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ถูกตัดสิทธิ
สำหรับภาพรวม ปี 2548 มีคน กทม.ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งสูงถึง 72.37%
การเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครั้งต่อมาคือ 2 ปีต่อมา ปี 2550 เป็นการเลือกตั้งภายหลังการรัฐประหารปี 2549 การเลือกตั้งครั้งนี้ใช้กติกาตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นกติกาใหม่ ที่ กทม.มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 12 เขต มี ส.ส.ได้เขตละ 3 คน รวม 36 คน
ผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.2550 พรรคประชาธิปัตย์พลิกกลับมาเป็นแชมป์ ภายในการนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" กวาด ส.ส.ได้มากที่สุด 27 คน
ขณะที่พรรคพลังประชาชน (ซึ่งก่อตั้งขั้นมาใหม่หลังไทยรักไทยถูกยุบ) มี "สมัคร สุนทรเวช" เป็นหัวหน้าพรรค แบ่งมาได้ 9 ที่นั่ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 69.46%
การเลือกตั้งทั่วไปใน 4 ปีต่อมา ปี 2554 เป็นการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เช่นเดิม แต่มีการแก้ไขกติกาการเลือกตั้ง ให้มี ส.ส.แบบแบ่งเขต 375 คน แบบบัญชีรายชื่อ 125 คน เป็นการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว โดยเบอร์ผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ของพรรคการเมืองจะใช้หมายเลขเดียวกัน สำหรับสนาม กทม.มี ส.ส. 33 เขต
ผลการเลือกตั้ง วันที่ 3 ก.ค.2554 ปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่มี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหัวหน้าพรรค สามารถรักษาแชมป์ได้อีกสมัย ได้ ส.ส.กทม. 23 เขต คะแนนรวม 1,356,672 คะแนนน หรือ 50.06%
ขณะที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งก่อตั้งใหม่ (ขึ้นมาแทนพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ) มี ิ เป็นหัวหน้าพรรค ชู "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ ส.ส.กทม. 10 เขต คะแนนรวม 1,246,057 คะแนน หรือ 45.98% ปีนัั้นมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 71.8%
ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นการเลือกตั้งที่เว้นวรรคยาวนานเกือบ 8 ปี หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557
กติกาการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ครั้งนี้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ภายใต้กติกา ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยบัตรเลือกตั้ง 1 ใบจะเลือกทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต และผู้สมัคร ส.ส.แบบบบัญชีรายชื่อ ครั้งนี้ มี ส.ส.ทั่วประเทศ 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และมาจากบัญชีรายชื่อ 150 คน สำหรับสนามเลือกตั้ง ส.ส.กทม.มี 30 เขต มี ส.ส.ได้เขตละ 1 คน
ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 พรรคพลังประชารัฐ ที่มี "อุตตม สาวนายน" เป็นหัวหน้าพรรค ชู "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่งผู้สมัคร กทม. 30 เขต ได้ ส.ส. มากที่สุด 12 คน คะแนนรวม 791,893 คะแนน หรือ 25.53%
ถัดมาคือ พรรคอนาคตใหม่ มี "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ส่งผู้สมัคร ส.ส. 30 เขต ได้ ส.ส. 9 คน คะแนนรวม 804,272 คะแนน หรือ 25.93%
ขณะที่พรรคเพื่อไทย มี "พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์" หัวหน้าพรรค เสนอชื่อ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ" เป็นแคนดิเดตนายกฯ 3 คน โดยส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม. 22 เขต ได้รับเลือกตั้งเข้ามา 9 คน คะแนนรวม 604,699 คะแนน หรือ 19.49%
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรรค และเป็นแคนดิเดตนายกฯ ส่งผู้สมัคร ส.ส.กทม. 30 เขต สอบตกแบบสูญพันธุ์เป็นครั้งแรกนับแต่ปี 2544 โดยมีคะแนนรวม 474,820 หรือ 15.31% โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ มีคน กทม.ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 72.51%
การเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.2566 ปีนี้
จำนวน ส.ส.กทม.มีเพิ่มขึ้นเป็น 33 เขต เขตละ 1 คน ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 หลังมีการแก้ไขผ่านรัฐสภา จนสามารถกลับมาใช้สูตรเลือกตั้งบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบเขต และแบบบัญรายชื่อ
บริบทการเมืองที่เปลี่ยนไป ทั้งกติกาใหม่ พรรคที่เข้าชิง มีการคาดหมายว่าในสนาม กทม.จะมีเพียง 4-5 พรรค ที่มีโอกาสลุ้น
พรรคเพื่อไทย ยุคที่มีแคนดิเดตนายกฯ คนสำคัญเป็นจุดขาย แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และ เศรษฐา ทวีสิน ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
พรรคก้าวไกล ที่มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคเป็นแคนดิเดตนายกฯ และมีคณะก้าวหน้าทั้งแผง เป็นแรงผลักดัน จนกระแสดีวันดีคืน
พรรคพลังประชารัฐ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ และครั้งที่แล้วยึดมาได้ 12 ที่นั่ง
พรรครวมไทยสร้างชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่แยกตัวออกมาจากพลังประชารัฐ ยังจะมีแฟนคลับ กทม.ตามมาสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน
ทว่า พรรคที่น่าลุ้นมากที่สุดคือ ประชาธิปัตย์ ภายใต้การนำของ "จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" แคนดิเดตนายกฯ จะกู้ศรัทธาคน กทม.กลับมาได้หรือไม่