การเลือกตั้ง 14 พ.ค....ชี้ชะตาเศรษฐกิจไทย ?
เมื่อก้าวเข้าสู่เดือนพ.ค. สิ่งสำคัญที่นักลงทุนทั่วโลกติดตาม แน่นอนว่าต้องเป็นผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2-3 พ.ค.รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 1ปี2023 ของบริษัทจดทะเบียนที่ถือว่าเป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้สุขภาพเศรษฐกิจหลังดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น
ส่วนประเด็นที่ร้อนแรงไม่แพ้กันสำหรับประเทศไทยนั้นคงหนีไม่พ้น การเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ที่นำมาซึ่งความคาดหวังต่อทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทย ว่าจะพลิกกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น หลังจาก SET Index ปรับตัวลงราว8% ตั้งแต่ต้นปี สวนทางกับหุ้นโลกที่ปรับขึ้นถึง7%
เริ่มต้นจากการวิเคราะห์ถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ หากพิจารณาจากนโยบายหาเสียงของแต่ละพรรคการเมืองจะพบว่าส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การกระตุ้นเศรษฐกิจระดับฐานราก ทั้งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ พักชำระหนี้ ลดค่าครองชีพ เช่น ค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า รวมถึงการมอบเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล ตลอดจนการยกระดับสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองตั้งงบประมาณไว้สูงสุดถึง 1.1 ล้านล้านบาท
โดยส่วนใหญ่แล้ว นโยบายเหล่านี้มักจะถูกดำเนินการทันทีหลังการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคในประเทศได้ในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีข้อจำกัดด้านเงินทุน เพราะรัฐบาลต้องเพิ่มอัตราภาษีหรือกู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่ความเสี่ยงด้านหนี้สาธารณะในอนาคต
นอกจากนั้นยังมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น รัฐบาลชุดใหม่น่าจะเข้ามาบริหารประเทศได้ในช่วงต้นเดือนส.ค.หรือราว 3 เดือนหลังจากวันเลือกตั้ง นำมาสู่สูญญากาศทางการเมืองชั่วคราว ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณมีแนวโน้มชะลอลงและบั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนได้
จากข้อมูลในอดีต ปี 2001-2009 เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐลดลงราว 3 ไตรมาสหลังจากการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งครั้งก่อนในเดือนมีนาคมปี 2019 การพิจารณาอนุมัติร่างงบประมาณประจำปี 2020 ล่าช้าจากการจัดตั้งรัฐบาลร่วม ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนหดตัวมากกว่า 50% ในช่วงเดือนต.ค. 2019 – ก.พ. 2020 ดังนั้น ในภาพรวม การเลือกตั้งจะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคงการคาดการณ์อัตราการขยายตัวปีนี้ไว้ที่ 3.7%
ด้านผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นนั้น จากสถิติตั้งแต่ปี 1988 พบว่า ในกรณีที่มีพรรคการเมืองได้คะแนนจนครองที่นั่งเกิน 40% ในสภาผู้แทนราษฏร ซึ่งสะท้อนว่ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลที่เข้มแข็งได้ ตลาดมักตอบรับในเชิงบวก โดย SET Index ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยได้ถึง +6% ภายใน 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง ในทางกลับกัน หากผลการเลือกตั้งออกมาเป็นแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลผสม ตลาดหุ้นจะตอบรับได้ทั้งเชิงบวกและลบ ผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่เพียง +1.5% ดังนั้นผลตอบแทนของตลาดหุ้นยังมีความไม่แน่นอน โดยขึ้นกับผลการเลือกตั้ง
แต่หากกลับมาพิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐาน ในปีนี้การท่องเที่ยวจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งอานิสงค์บวกต่อไปยังการบริโภคในประเทศ สวนทางกับการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 กดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในประเทศคู่ค้า ดังนั้นในแง่ของการลงทุนในหุ้นไทย จะมีเพียงหุ้นบางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวและการบริโภค
สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ความชัดเจนทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง มีแนวโน้มที่จะเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติและอาจทำให้มีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าได้ แต่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงไว้ว่าจะนำมาสู่การกู้เงินผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม ซึ่งประเด็นนี้มีโอกาสหักล้างผลบวกข้างต้นได้ในภายหลัง
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดเกือบ 1 ปี ที่ผ่านมา รวมทั้งการคาดการณ์ในปัจจุบันว่าดอกเบี้ยมีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสูงสุดแล้ว โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะขึ้นดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในการประชุมเดือนพ.ค.นี้ สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และบอนด์ยีลด์ไทยได้สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทำให้ตลาดตราสารหนี้ไทยมีความน่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุนมากขึ้น นักลงทุนสามารถพิจารณาลงทุนผ่านกองทุนตราสารหนี้ไทยที่กระจายลงทุนทั้งในพันธบัตรรัฐบาลและมีการคัดเลือกหุ้นกู้บริษัทเอกชนคุณภาพดี ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ