สูตรลับ"รัฐบาลเสียงข้างน้อย" เดิมพันสุดท้าย "ประยุทธ์" ?

สูตรลับ"รัฐบาลเสียงข้างน้อย"  เดิมพันสุดท้าย "ประยุทธ์" ?

เดิมพันสุดท้าย "พล.อ.ประยุทธ์" ฝ่ากระแส "ขั้วอนุรักษ์นิยม" ที่ดิ่งวูบ สูตรตั้ง "รัฐบาลเสียงข้างน้อย" ยังเป็นหมากการเมืองที่ไม่อาจมองข้ามได้

“อนาคตการเมืองไทย” ผ่านการออกเสียงเลือกผู้แทนกันในวันที่ 14 พ.ค. หรืออีก 3 วันข้างหน้า ดูเหมือนว่าหมุดหมายการเมือง ณ เวลานี้ ทำให้เริ่มเห็นเค้าลางของ “สูตรจับขั้วรัฐบาล” ท่ามสัญญาณศึกเลือกขั้ว-การเมืองเลือกข้าง อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะ “ขั้วเสรีนิยม” ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่กำลังกุมความได้เปรียบจากกระแสนิยมที่พุ่งสูงติดลมบน สอดรับกับผลสำรวจหลากหลายสำนักโพล ที่มีการเปิดเผยในช่วงที่ผ่านมา สวนทางกับ “ขั้วอนุรักษนิยม” ที่รอบนี้กระแส “เลือกความสงบ...จบที่ลุง” สิ้นมนต์ขลัง แถมเจอกระแส “เบื่อลุง” กลับไปแทน 

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสูตรตั้งรัฐบาลในช่วงเวลาอันใกล้ “หมุดหมายการเมือง” จึงเทน้ำหนักรวมถึงเปอร์เซ็นต์ความเป็นไปได้ไปที่การตั้งรัฐบาลใน “ขั้วเสรีนิยม” เป็นหลัก 

สูตรลับ\"รัฐบาลเสียงข้างน้อย\"  เดิมพันสุดท้าย \"ประยุทธ์\" ?

ทว่า ในทางการเมืองแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้ สูตรที่ว่า “เป็นไปไม่ได้” ก็ใช่ว่าจะประมาท หรือมองข้ามได้เช่นกัน โดยเฉพาะสูตรตั้งรัฐบาล “เสียงข้างน้อย” ที่มีการพูดถึงอยู่ ณ เวลานี้ โดยมี “ตัวพ่ออนุรักษนิยม” อย่าง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ถูกจับตาว่าจะเป็นคีย์แมนคนสำคัญ

ก่อนหน้านี้มีความเห็นมาจาก เนติบริกรอย่าง “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ประเมินโอกาสเกิด "รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ภายหลังการเลือกตั้ง ว่าโดยมากแล้วรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้น ไม่ควรจะตั้ง 

"แต่ถ้าหนีไม่พ้นแล้วจำเป็นต้องตั้งก็จะเป็นเสียงข้างน้อยอยู่ไม่กี่วัน และจะเป็นเสียงข้างมากขึ้นมาเอง.."

“ถอดรหัส” รัฐบาลเสียงข้างน้อยตามสูตรการจับมือพรรคในขั้วรัฐบาลปัจจุบันภายใต้เงื่อนไขพรรคที่ได้ส.ส.เกิน25คนจะมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

สูตรนี้จะมีทั้ง รวมไทยสร้างชาติ ที่มีจุดยืนชัดเจนยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามพรรคเพื่อไทยและก้าวไกล รวมกับพรรคประชาธิปัตย์ ภายใต้เงื่อนไขที่บีบให้ต้องยืนฝั่งอนุรักษนิยม เป็นทุนเดิม 

พรรคพลังประชารัฐ ที่แม้ช่วงที่ผ่านมา “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค จะพยายามชูประเด็นก้าวข้ามความขัดแย้ง จับมือทุกขั้วเสมือนส่งสัญญาณไปถึง “คนแดนไกล” 

แต่ด้วยกระแสไม่เอาลุง หากพรรคเพื่อไทยยังขืนจับมือ พปชร.ย่อมเข้าทางพรรคก้าวไกล ที่ชูจุดยืนชัดเจน “มีเราไม่มีลุง-มีลุงไม่มีเรา” ในการชิงแต้มต่อทันที 

ไม่ต่างจากภูมิใจไทย แม้ก่อนหน้า “อนุทิน ชาญวีรกูล” จะออกมาย้ำจุดยืนสนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนมากสุดจัดตั้งรัฐบาล ขณะเดียวกันยังส่งสัญญาณไปถึง "คนแดนไกล"  ในทำนองยังรักและเคารพเสมอ หรือ การลืมเรื่องราวบาดหมางในอดีต

ทว่าจนถึงยามนี้สัญญาณจากคนแดนไกล ยังดูเหมือนว่าจะยังคงจัดวางภูมิใจไทยไว้ในช้อยท้ายๆเช่นเดิม 

ยังไม่นับรวมบรรดาพรรคการเมืองที่พร้อมพลิ้วไหวตามทางลม ถึงเวลาจริง อาจต้องไปลุ้นกันที่แต้มต่อว่าฝ่ายใดจะโดนใจกว่ากัน

สูตรลับ\"รัฐบาลเสียงข้างน้อย\"  เดิมพันสุดท้าย \"ประยุทธ์\" ?

ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าในการโหวตเลือกนายกฯ รอบนี้ ยังมีอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ นั่นคือ “ 250 ส.ว.” ที่จะร่วมเลือกนายกฯ  

โดยครั้งนี้ จะถือเป็น “โอกาสครั้งสุดท้าย” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีเสียง ส.ว.โหวตอุ้มให้เป็นนายกฯ  ตามบทบัญญัติมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุชัดเจน ส.ว.ชุดนี้มีวาระ 5 ปี สามารถร่วมโหวตนายกฯ ได้อีกเพียง 1 ครั้ง ตาม “บทเฉพาะกาล” มาตราดังกล่าวและจะไปสิ้นสุดวาระเดือน พ.ค.2567 (นับตั้งแต่การประชุมวุฒิสภานัดแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ค.2562) 

หลังจากนั้น อำนาจของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ก็จะถูกริบกลับเปลี่ยนไปยึดตามบทบัญญัติตามปกติแทน

ฉะนั้น แม้ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะออกมาพูดถึงสูตรตั้งรัฐบาล เมื่อครั้งลงพื้นที่ จ.กระบี่ วันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา ในทำนอง ก้าวข้าม “รัฐบาลผสม” โดยระบุว่า 

“ต้องมี ส.ส.มากในสภา เพื่อให้มีความชอบธรรมในการปรับแก้ แต่หากมีน้อย จะสู้เขาไม่ได้ ตลอด 4 ปีผมเจอปัญหา มีพรรคมากเกินไป ดังนั้นเราต้องทำให้เป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด เพื่อให้มีอำนาจต่อรอง ทำงานให้ประชาชน”

เมื่อถึงเวลาจริงหาก รทสช.ไม่สามารถกวาด ส.ส.ได้ตามเป้า ตัวเลือกการรวบรวมเสียงเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ก็อาจเป็นอีกหนึ่ง “หมากการเมือง” ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะนำมาใช้ แม้เจ้าตัวจะเคยบอกว่าเป็นชายชาติทหาร แพ้ยอมรับได้ก็ตาม 

แต่กระนั้นก็ต้องไม่ลืมว่า แม้การตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่ในทางการเมือง หากเป็นเช่นนั้นจริง รัฐบาลจะมีความชอบธรรมมากน้อยเพียงใด

เพราะนอกจากจะไม่สง่างามแล้ว ยังอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองให้หนักข้อขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการในสภา ที่ต้องใช้เสียงส่วนใหญ่ในการลงมติ โดยไม่มีเสียงจากส.ว.คอยช่วย

สูตรลับ\"รัฐบาลเสียงข้างน้อย\"  เดิมพันสุดท้าย \"ประยุทธ์\" ?

ตัวอย่างก็มีให้เห็นในอดีตทั้ง ยุครัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ได้รับเสียงสนับสนุนวันแถลงนโยบายเพียง 111 เสียง ขณะที่อีก 152 เสียงไม่เห็นชอบ

หรือในยุค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่ใช้ 18 เสียงพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงพรรคอื่นจัดตั้งรัฐบาล ในที่สุดก็ต้องเผชิญปัญหาเสถียรภาพ ท่ามกลางการต่อรองของพรรคร่วมฯ จนกระทั่งต้องยุบสภาในท้ายที่สุด 

 ฉะนั้นรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. โดยเฉพาะในมุมมองภาคเอกชนหลายองค์กร เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาลใหม่ควรจะมีเสียงข้างมาก ดีกว่าการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย ที่อาจมีผลในแง่ขาดเสถียรภาพการบริหาร โดยเฉพาะการลงมติคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในเรื่องต่างๆ ที่อาจเป็นอันต้องสะดุดตามไปด้วย

ยังไม่นับรวมประเด็นความเชื่อมั่นในแง่ของ "การลงทุน" ที่จะต้องพิจารณาในเรื่องเสถียรภาพรัฐบาลเป็นเงื่อนไขสำคัญ