‘กระแส’ คมกว่า ‘กระสุน’ จาก ‘ไทยรักไทย’ ถึง ‘ก้าวไกล’
ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ "กระแส" จะเป็นจุดชี้ขาดชัยชนะ มากกว่า"กระสุน" และมาถึงชั่วโมงนี้ กระแสที่เด่นชัดคือ กระแสเสรีนิยม กับ กระแสอนุรักษนิยม แนวโน้มการเมืองไทย กำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย
การเลือกตั้งทั่วไปปี 2566 นักวิชาการบางกลุ่มจะเรียกว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม หรือปีกประชาธิปไตยกับปีกเผด็จการ คสช. แต่ในมิติการเลือกตั้งแบบไทยๆ ศึกชิงอำนาจหนนี้ จะเป็นการพิสูจน์พลานุภาพของ “กระแส” กับ “กระสุน” อีกครั้งหนึ่ง
ปรากฏการณ์ “กระแส” ทรงพลังกว่า “กระสุน” ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว เมื่อการเลือกตั้ง 6 ม.ค.2544 พรรคไทยรักไทย กวาดมาได้ 11 ล้านเสียง แยกเป็น ส.ส.เขต 200 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 คน รวมทั้งสิ้น 248 คน
ผลการเลือกตั้ง พ.ศ.โน้น มีรายการล้มช้างหลายสิบจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ อดีต ส.ส.บ้านใหญ่ ในสีเสื้อพรรคความหวังใหม่ พรรคชาติไทย และพรรคเสรีธรรม สอบตกเป็นแถว
ขณะเดียวกัน ทำให้มี ‘ส.ส.นกแล’ หรือ ส.ส.หน้าใหม่ ที่มาจากคนธรรมดาๆ ในสีเสื้อพรรคไทยรักไทยจำนวนมาก ซึ่งแกนนำเพื่อไทยในปัจจุบันอย่าง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว และ สุทิน คลังแสง ก็คือ ส.ส.นกแล สมัยนั้น
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า กระแส มีพลานุภาพกว่า กระสุน เมื่อทักษิณ ชินวัตร ใช้การเมืองเชิงนโยบาย เอาชนะการเมืองเก่า ที่ถนัดสาดกระสุนในคืนหมาหอน
ทักษิณ ชินวัตร ได้รับการยกย่องให้ยอดนักกลยุทธ์การตลาดการเมือง ที่ทำสงครามเลือกตั้ง 2 แนวรบ คือ แอร์วอร์ (AIR WAR) และกราวนด์วอร์ (GROUND WAR) มาพลิกโฉมการเมืองไทย
ปี 2542 ช่วงก่อตั้งพรรคไทยรักไทย ทักษิณกระซิบกับคนใกล้ชิดว่า ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ตั้งเป้า ส.ส.ไว้แค่ 25 คนเท่านั้น
ระหว่างรอการยุบสภา พรรคไทยรักไทย ได้ติดป้ายตามหมู่บ้าน 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน ซึ่งไม่เคยมีพรรคไหนทำมาก่อน ป้ายนั้นว่าด้วยการโฆษณานโยบายพรรค อาทิ พักหนี้เกษตรกร และกองทุนหมู่บ้าน
ปลายปี 2543 แกนนำพรรคไทยรักไทย ประเมินตัวเลข ส.ส.น่าจะทะลุ 100 คน แต่ไม่มีใครคิดว่าจะไปถึง 248 คน
สิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำในช่วงปี 2543-2544 ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ก้าวไกล ในปี 2566 กระแสต้องการความเปลี่ยนแปลง กลายเป็นกระแสหลักของสังคมไทย
การเลือกตั้งปี 2562 พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส. 81 คน แยกเป็น ส.ส.เขต 31 คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 50 คน มีคะแนนเสียงรวม 6 ล้านเสียง
ก่อนวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 แกนนำพรรคก้าวไกล ประเมินว่า จะได้คะแนนเสียงประมาณ 12-15 ล้านเสียง เมื่อประเมินจากผลโพลของหลายสำนัก
จะว่าไปแล้ว กระแสพรรคก้าวไกลและกระแสพิธา เริ่มก้าวกระโดดจากอันดับสองแซงหน้าพรรคเพื่อไทย และอุ๊งอิ๊ง ช่วงปลายเดือน เม.ย.2566
เมื่อกองเชียร์ฝั่งเสรีนิยมที่ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใคร มองว่า ก้าวไกล "สู้กว่า" และ “ชัดเจนกว่า" เพื่อไทย ในประเด็นไม่เอา 3 ป. จึงเทใจมาเป็นด้อมส้ม
จุดแข็งพรรคก้าวไกล คือกล้าสร้างความเปลี่ยนแปลง แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ที่เน้นรูปแบบการนำเสนอการเมืองแบบเดิม
ต่างจากพรรคเพื่อไทย ที่เปลี่ยนจากพรรคไทยรักไทยในปี 2542 มาสู่การเป็นพรรคการเมืองไฮบริด ที่มีส่วนผสมของคนรุ่นใหม่กับนักการเมืองบ้านใหญ่
ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย กูรูการตลาด ได้ให้สัมภาษณ์สื่อออนไลน์ไทยรัฐว่า ก้าวไกลแตกต่างจากเพื่อไทย เพราะเป็นพรรคแห่งการ Disruption พรรคแบบนี้มีมักมีมอตโต้ คือ Move fast and break things. เวลาทำอะไรให้ Move ให้เร็ว และจะทำลายระบบ หรือโครงสร้างใดที่ไม่ดี ทำลายได้ให้ทำลาย ทำลายไม่ได้ให้รื้อ หรือปรับปรุง
นักรัฐศาสตร์บางคนมองว่า จุดอ่อนพรรคก้าวไกล มีตรงที่จะสื่อสารกับคนรากหญ้า หรือคนทั่วไปไม่ได้ดีเท่ากับพรรคเพื่อไทย แต่ช่วง 2-3 สัปดาห์สุดท้ายของการเลือกตั้ง นักรัฐศาสตร์เหล่านั้นก็ยอมรับว่า ก้าวไกลเข้าถึงคนทุกกลุ่ม และสร้าง "หัวคะแนนธรรมชาติ" เกิดขึ้นทั่วประเทศ
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ไปไกลกว่าทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ด้วยการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ดำเนินกลยุทธ์แอร์วอร์อย่างทรงพลัง
การเลือกตั้ง 2566 เป็นครั้งแรกที่มีการใช้ TikTok ในการหาเสียงแทบทุกพรรคการเมือง เพราะแพลตฟอร์มนี้ ได้เปรียบแพลตฟอร์มอื่นเพราะเป็นคลิป
การสร้างคอนเทนต์ของทีมงานก้าวไกลใน TikTok ได้ทำให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กลายเป็นเทพบุตรลูกทุ่ง ขวัญใจแม่ยกพ่อยก ที่ถูกเรียกขานว่า ด้อมส้ม
ทีมการตลาดสีส้ม รู้ดีว่าฐานเดิมพรรคอนาคตใหม่ 6 ล้านเสียงไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง จึงต้องงัดกลยุทธ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อแย่งชิงฐานคนรุ่น GEN X และ GEN Y รวมถึงรุ่น Baby Boomer จากพรรคเพื่อไทย และพรรคขั้วอนุรักษนิยม
โปรดสังเกต คำว่า ก้าวไกล ใน TikTok มีคนดูกว่าหมื่นล้านครั้ง ส่วนคำว่า เพื่อไทย มีคนดู 1,200 ล้านครั้ง
จุดอ่อนพรรคเพื่อไทย อย่างหนึ่งคือ อดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ อยู่ในช่วงวัย 50-60 ปี อาจเป็นคนรุ่นใหม่เมื่อยุคพรรคไทยรักไทย แต่มาถึงวันนี้ กลายเป็นคนรุ่นเก่า เล่นโซเชียลไม่เป็น
มิหนำซ้ำ อดีต ส.ส.บางกลุ่ม ยังมีสภาพไม่ต่างจาก "ส.ส.เสาไฟฟ้า" อาศัยกระแสพรรคอุ้มเข้าสภาฯ มาทุกครั้ง จึงเหินห่างชาวบ้าน ไม่เกาะติดพื้นที่ เมื่อถึงฤดูเลือกตั้งก็โผล่หน้าไปพบชาวบ้าน
ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งนี้ กระแส จะเป็นจุดชี้ขาดชัยชนะมากกว่า กระสุน และมาถึงชั่วโมงนี้ กระแสที่เด่นชัดคือ กระแสเสรีนิยมกับกระแสอนุรักษนิยม
นักการเมืองบ้านใหญ่ อาจเป็นการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายของพวกเขา แม้กระสุนจะมีชัยในบางพื้นที่ แต่แนวโน้มการเมืองไทยกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย