กกต.พบคนฉีกบัตร 13 ราย นัดถกด่วนปม กปน.ฉีกบัตรเองชี้ขาดบัตรดี-เสีย
กกต.แถลงภาพรวมครั้งที่สอง วันเลือกตั้ง 14 พ.ค. นัดถกด่วนปม กปน.ฉีกบัตรเอง วินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียหรือไม่ ยันบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ส่งถึง 400 เขตหมดแล้ว พบฉีกบัตรแล้ว 13 ใบ มีทั้งคนอัลไซเมอร์-คนปกติ
เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เวลา 14.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงข่าวถึงสถานการณ์ เลือกตั้ง 2566 ทั่วประเทศ เป็นครั้งที่สอง ว่า ผ่านมา 6 ชั่วโมง เหลือ 3 ชั่วโมง ภาพรวมเป็นไปด้วยดี ประชาชนออกมาใช้สิทธิอย่างหนาแน่น มีเหตุการณ์ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการประจำหน่วย (กปน.) อยู่หลายหน่วย หลายเหตุการณ์ รวมทั้งเกิดจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็มี อย่างกรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รับบัตร แล้วทำลายบัตรหรือฉีกบัตรเลือกตั้ง
กกต.นัดถกด่วนปม กปน.ฉีกบัตรเอง วินิจฉัยบัตรดี-บัตรเสียหรือไม่
นายแสวง กล่าวว่า ส่วนกรณีที่เกิดจาก กปน. เช่น กรณี กปน.จะจ่ายบัตร แต่กลับฉีกบัตร ไม่ได้ขาดตามรอยปรุ ทำให้บัตรที่จะใช้ในการลงคะแนนขาดเป็น 2 ส่วน เท่าที่ข้อเท็จจริงเบื้องต้นได้รับการรายงานด้วยวาจา เป็นลักษณะทางหน่วย กปน. ได้ซ่อมบัตร และบอกว่าเป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนได้ และให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนำไปลงคะแนน ตอนนี้เข้าใจว่าหย่อนลงไปในหีบแล้ว กระบวนการคงต้องดำเนินการต่อไปว่า เมื่อปิดหีบเลือกตั้ง กปน.จะวินิจฉัยว่าบัตรดังกล่าวเป็นอย่างไร บัตรดี หรือบัตรเสียตามกฎหมายหรือไม่ แต่มีเรื่องเกี่ยวเนื่องกันคือ กรณีบัตรที่ฉีกขาดว่า การที่บัตรฉีกขาดอย่างนี้ ทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยตรงและลับ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่อยู่ในอำนาจ กปน. วินิจฉัย แต่เป็นอำนาจ กกต. โดยมีการนัดประชุมด่วนในวันนี้ ประมาณ 16.00 น. เพื่อจะได้นำข้อเท็จจริงจากหน่วย กปน. มาพิจารณา แล้วแจ้งผลให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง ส่วนกรณีมี กปน.ถ่ายรูปภายในบริเวณลงคะแนนเลือกตั้ง ได้รับแจ้งมาว่า ไม่ได้ผิดกฎหมายอะไร แต่ไม่เหมาะสมในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ ได้รับแจ้งว่ามีการเปลี่ยน กปน.คนดังกล่าวออกไปแล้ว ให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน
“เรียน กปน.ว่าเวลาเกิดกรณีอย่างนี้ หากเกิดบัตรเลือกตั้งขาดหรือชำรุดด้วยการกระทำของ กปน. ให้เย็บติดไว้กับต้นขั้วเดิม แล้วให้ลงบันทึกไว้ และจ่ายบัตรถัดไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนใหม่ แต่กรณีแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ต้องวินิจฉัยว่า ผลเป็นอย่างไร ต้องรอการประชุม กกต.วินิจฉัยก่อน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวอีกว่า ประชาชนสามารถใช้แอปพลิเคชั่น ThaID ในการออกเสียงลงคะแนนได้ ส่วนปากกาที่นำไปเองก็สามารถใช้งานได้ ส่วนการถ่ายรูป หรือการสังเกตการณ์ สามารถถ่ายรูปหรือวีดีโอ ไม่ว่าระหว่างลงคะแนน หรือนับคะแนนได้ แต่อย่าให้รบกวน กปน.ในการปฏิบัติหน้าที่
“สภาพปัญหาที่เจอมีลักษณะแบบนี้ เกิดขึ้นทุกการเลือกตั้ง พยายามสื่อสารไปยัง ผอ.กกต.จังหวัด และ กปน.อำนวยความสะดวกกับประชาชน ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่า กปน.ที่ฉีกบัตรขาดดังกล่าว จะมีแนวทางป้องกันอย่างไร และบัตรที่หย่อนไปแล้วเป็นบัตรดีหรือบัตรเสีย นายแสวง กล่าวว่า ตามที่เรียนข้างต้นว่า หากเกิดกรณีนี้ ให้เย็บบัตรติดต้นขั้วเดิม และทำหมายเหตุลงบันทึกเหตุการณ์ไว้ ส่วนจะเป็นบัตรดีหรือบัตรเสียนั้น ต้องรอที่ประชุม กกต.วินิจฉัยว่า กรณีดังกล่าวเป็นการลงคะแนนโดยแจ้งหรือลับ ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะบัตรที่ถูกฉีกใบ อาจทำให้บุคคลอื่นทราบได้ว่า ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งกับบัตรดังกล่าว กาพรรคอะไร หรือไม่ ส่วน กปน.จะมีความผิดเรื่องนี้หรือไม่นั้น ต้องดูก่อนว่ามีพฤติการณ์จงใจหรือไม่
ยันบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ส่งถึง 400 เขตหมดแล้ว
ส่วนกรณีการคัดแยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต และนอกราชอาณาจักร ที่เกิดกรณีมีการอ่านลายมือไม่ออก และมีปัญหาอยู่ประมาณ 1 หมื่นใบนั้น มีการจัดส่งครบทุกเขตแล้วหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า บัตรทุกใบถูกส่งถึง 400 เขตเลือกตั้งแล้ว ไม่มีบัตรค้าง ส่วนระบบการตรวจสอบบัตรเลือกตั้งมี 7 ขั้นตอน เกิดขึ้นเพื่อป้องกันการผิดพลาดการทำงานของคนว่า ในแต่ละขั้นตอนจะทำอย่างไร หมายความว่า ตั้งแต่เริ่มต้น จดหมายทุกฉบับต้องมีการกรอกหน้าซอง ถ้าไม่ครบ มีวิธีการตรวจสอบ แล้วส่งให้ไปรษณีย์ ซองที่ไปถึงเขตเลือกตั้ง วันที่ 11-12 พ.ค. 2566 ผอ.เขตมีสิทธิไม่รับก็ได้ ถ้าเห็นว่าไม่ใช่จังหวัดเขา ซึ่งอาจเกิดจากระบบคัดแยกมีการซ้อนไปในนั้น เมื่อ ผอ.เขต ไม่รับซอง จะส่งให้ไปรษณีย์ไปส่งเขตที่ถูกต้องในจังหวัดนั้นต่อไป ดังนั้นปัญหาคือเกิดจากการคัดแยก ไม่ใช่จ่าหน้าซองไม่ชัดเจน
นายแสวง กล่าวอีกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ทั้งในและนอกเขต และนอกราชอาณาจักร ลงทะเบียนไว้เท่าไหร่ ใช้บัตรไปกี่ใบ คนลงทะเบียนไปออกเสียงเท่าไหร่ มีอยู่ในเว็บไซต์สำนักงาน กกต.ไว้ให้ดูแล้ว และสถานที่นับคะแนนคนพวกนี้ ไม่ได้นับรวมกับหน่วยปกติ ได้ลงสถานที่นับคะแนนไว้แล้ว ประชาชนสามารถไปตรวจสอบได้ เฝ้าสังเกตการณ์เลือกตั้งได้
เมื่อถามว่า บรรยากาศภาพรวมการเลือกตั้งในวันนี้ ในเขตเลือกตั้ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุยังแยกบัตรไม่ออกว่า บัตรไหนบัตรเขต บัตรไหนบัญชีรายชื่อ อาจเกิดการกาผิดพลาดขึ้นได้ กกต.มีแนวทางแก้ไขหรือป้องกันอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า ระบบออกแบบมาไม่สับสนแต่แรก แต่วิธีการที่บอกว่า บัตร 2 ใบชัดเจนอยู่แล้ว ทั้งขนาด สี ลักษณะ องค์ประกอบภายในบัตรชัดเจนแน่นอน เวลาเข้าหน่วย ป้ายอยู่ข้างหน้า สามารถกาคะแนนได้จากข้อมูลผู้สมัครแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ น่าจะเพียงพอทำให้การลงคะแนนเสียงถูกต้อง แต่ถ้ามีผู้สูงอายุ จนท่านอาจจะไม่เหมือนคนหนุ่มสาว ท่านก็สามารถพาคนที่ไว้ใจไปกาได้ นี่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ นี่คือสิ่งที่เราได้ดูครบทุกอย่างแล้ว
พบฉีกบัตรเลือกตั้งแล้ว 13 ใบ มีทั้งคนอัลไซเมอร์-คนปกติ
เมื่อถามว่า จำนวนการฉีกบัตรเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน และเกิดจากตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ พบการกระทำผิดเกี่ยวกับบัตรในวันเลือกตั้ง เป็นการฉีกบัตร 13 ราย จำหน่ายสุรา 3 ราย ถ่ายรูปบัตร 1 ราย โดยในอีก 3 ชั่วโมงที่เหลืออาจมีเพิ่ม โดยกรณีฉีกบัตรเลือกตั้งนั้นหากดูจากรายงานแต่ต้น บางท่านอาจเป็นโรคประจำตัว หรืออัลไซเมอร์ แต่คนปกติที่ฉีกก็มี ต้องดูข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นการตั้งใจหรือไม่ ตอนนี้ทราบแค่จำนวน แต่การฉีกบัตรอย่างไรก็ผิด
ส่วนกรณีประชาชนตั้งคำถามมาว่า บางเขตมีการหย่อนบัตรเลือกตั้งผิดหีบนั้น นายแสวง กล่าวว่า เป็นของง่ายสำหรับ เพราะตอนเย็น กปน.ต้องเปิดหีบเพื่อตรวจสอบว่า บัตรที่อยู่ในหีบมีกี่ใบ และผู้มาใช้สิทธิมีกี่ใบ ตรงกันหรือไม่ หลังจากนั้นจึงเริ่มนับคะแนน ส่วนบางเขตที่ กปน.ให้ใช้แค่หีบใบเดียวหย่อนบัตรทั้ง 2 ใบนั้น ถือว่าผิด แต่ไม่ใช่เรื่องปัญหาในการเลือกตั้งไม่สุจริต หรือไม่เป็นธรรม แต่เป็นการเสียเวลาทางธุรการเท่านั้น อย่างไรก็ดียอมรับว่าครั้งนี้ถือว่าประชาชนตื่นตัวมาก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ตื่นตัวในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างสูง