คน กทม.มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 72% พบปัญหาเพียง 2 หน่วยจาก 6,327 แห่ง

คน กทม.มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 72% พบปัญหาเพียง 2 หน่วยจาก 6,327 แห่ง

ปลัด กทม.แถลงภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง 66 เตรียมพร้อมนับคะแนน ผู้มาใช้สิทธิกว่า 72% พบปัญหาเพียง 2 หน่วยจาก 6,327 หน่วยเลือกตั้งทั่วกรุงฯ ปม กปน.ฉีกบัตรเลือกตั้งที่ห้วยขวาง ส่งที่ประชุม กกต.วินิจฉัยแล้ว

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 เวลา 17.00 น. นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (ปลัด กทม.) ตรวจเยี่ยมการปิดการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และการนับคะแนนเลือกตั้ง ณ เขตเลือกตั้งที่ 1 หน่วยเลือกตั้งที่ 2 และ 3 แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร บริเวณลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) 

นายขจิต กล่าวว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้จนถึงเวลา 17.00 น. และเมื่อถึงเวลาที่กำหนดประธาน กปน. จะกล่าวปิดการออกเสียงลงคะแนนและงดจ่ายบัตรเลือกตั้ง ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งประสงค์จะออกเสียงลงคะแนนได้มาปรากฎตัวอยู่ในที่เลือกตั้งเพื่อใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนน แต่ยังไม่ได้แสดงตนหรือรับบัตรเลือกตั้ง กปน.จะอนุญาตให้บุคคลเหล่านั้นแสดงตนและมอบบัตรเลือกตั้งเพื่อให้สิทธิเลือกตั้งจนครบ จากนั้นจึงจะเริ่มขั้นตอนของการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง และนำส่งสิ่งของคืนให้แก่กรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง

ปลัด กทม. กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณข้าราชการและบุคลากรกรุงเทพมหานครทุกคนกว่าแสนชีวิต ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ตี 4 และเป็นไปอย่างราบรื่นทุกขั้นตอน รวมถึงขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ร่วมอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนตลอดทั้งวันนี้ ภาพรวมการเลือกตั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,327 หน่วย มีเพียง 2 หน่วยที่มีปัญหา คือ เขตห้วยขวาง เจ้าหน้าที่ฉีกบัตรขาด ได้มีการรายงานเหตุการณ์ไปยัง กกต.กทม. และส่งไปยัง กกต.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป อีกเขตหนึ่งคือเขตมีนบุรี ใส่บัตรเลือกตั้งในหีบใบเดียว แต่ภายหลังได้แยกหีบเป็น 2 ใบ ซึ่งในการนับคะแนนจะต้องนับแยกบัตร หากจำนวนบัตรตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนหน่วยเลือกตั้งอื่น ๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

นายขจิต กล่าวอีกว่า ในส่วนของผลคะแนนเลือกตั้งที่แน่นอน คงต้องรอให้ทั้ง 33 เขตเลือกตั้ง ส่งคะแนนมาที่ศูนย์ประสานงานฯ ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครก่อน คาดว่าประมาณเวลา 22.00 น. จะพอทราบผลคร่าว ๆ สำหรับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ คาดว่าจะมากกว่าปี 62 ซึ่งมีประชาชนชาวกรุงเทพฯ ออกมาใช้สิทธิกว่า 72% 

ไม่ไปใช้สิทธิ ต้องแจ้งเหตุภายใน 21 พ.ค. 66

นายขจิต กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิ โดยมีเหตุจำเป็น อาทิ ต้องเดินทางไปยังพื้นที่ห่างไกล เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เป็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เป็นผู้ที่พักอาศัยอยู่ต่างประเทศ พักอาศัยห่างไกลจากหน่วยเลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง หรือเหตุผลอื่น ๆ ต้องไปแจ้งเหตุภายในวันที่ 21 พ.ค. 66 โดยทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้านให้ชัดเจน ยื่นต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามารถยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งผ่านทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางแอปพลิเคชัน “Smart Vote” หรือแจ้งทาง เว็บไซต์

ปลัด กทม.กล่าวด้วยว่า ผู้ที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เลือกตั้งล่วงหน้า หรือเลือกตั้งวันจริง 14 พ.ค. จะต้องแจ้งเหตุไปไม่ใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิบางประการ ดังนี้

1.ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งส.ส.

2.ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็นส.ว.

3.สมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน

4.ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง

5.ดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  

โดยจะถูกจำกัดสิทธิ ทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเวลาสองปี นับแต่วันเลือกตั้งที่ไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง