กางไทม์ไลน์ "เปิดสภาฯ" ถึง "นายกฯใหม่"
เมื่อเลือกตั้งแล้วเสร็จ มีเวลา60วันให้ "กกต."ตรวจสอบผลและรับรอง หากกางปฏิทิน "รธน." แล้ว พบว่า จังหวะที่เปิดสภาฯ เพื่อเลือกนายกฯใหม่ นั้นลงล็อค และที่ไม่เกิน เดือนสิงหาคม เราจะได้เห็นโฉมหน้ารัฐบาลใหม่
ตามปฏิทินหลังเลือกตั้ง ส.ส. 14 พฤษภาคม “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ต้องประกาศรับรองผล “ผู้ชนะเลือกตั้ง” ภายใน 60 วัน หากไล่เลียงปฏิทินแล้วจะครบเวลา ในวันที่ 13 กรกฏาคม
จากนั้นจะเป็นขั้นตอนทางการเมืองของ “สภาผู้แทนราษฎร” ที่ต้องดำเนินกระบวนสำคัญ
เร่ิมจาก การเรียกประชุมรัฐสภา โดยเป็นขั้นตอนของ “รัฐพิธี” ภายใน 15 วันหลังจาก “กกต.” รับรองผลเลือกตั้งทั่วไป ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนด ซึ่งมีเงื่อนไข คือ ต้องรอให้ได้จำนวน ส.ส. ไม่น้อยกว่า 95% จากส.ส. 400 เขต
ขณะเดียวกันเกณฑ์ 95% ของ ส.ส.ทั้งหมด ยังเป็นเกณฑ์ที่ใช้กับการเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกเช่นกัน ซึ่ง 95% ของส.ส.ที่มีทั้งหมด 500 คน คือ 475 คน
ดังนั้นหาก “กกต.” ใช้เวลารับรองผลแบบเต็มแมกซ์ เท่ากับว่า การเรียกประชุมนัดแรก จะไม่เกินวันที่ 28 กรกฎาคม
ต่อจากนั้น คือ การนัดประชุมสภาฯ เพื่อเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง “ประธานสภาผู้แทนราษฎร" ที่มีบทบาทสำคัญต่อการ ทูลเกล้าฯ บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐสภาเพื่อดำรงตำแหน่งนายกฯ โดยการประชุมเพื่อเลือกประธานสภาฯ ปกติจะไม่ช้าไปเกิน 7 วันหลังจากมีรัฐพิธี
หากนับเวลาต่อเนื่องจะอยู่ในช่วงไม่เกินวันที่ 4 สิงหาคม
การเลือก “ประมุขของสภาฯ” ต้องคู่กับ การเลือก รองประธานสภาฯ ด้วย ส่วนจำนวนของ รองประธานสภาฯ จะเป็นเท่าใด ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 116 กำหนดไว้ว่า “จะมี 1 คน หรือ 2 คนก็ได้ “ แล้วแต่ที่ประชุมจะตกลงร่วมกัน
การลงมติเลือกให้ใช้เสียงข้างมากของสภาฯ เมื่อเลือกได้แล้ว ลงตัวแล้ว คือ เป็นขั้นตอนของการ ทูลเกล้าฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง เพื่อให้ ประธานสภาฯ-รองประธานสภาฯ ของสภาฯ ชุดที่26 ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
โดยหลังจากที่ “ประธาน-รองประธานสภาฯ” ปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว คือ การกำหนดนัดประชุมร่วมรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. เพื่อ ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 272 หากพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมแล้ว ต้องกำหนดนัดประชุม ล่วงหน้า 3 วัน
ทั้งนี้ในเนื้อหาของมาตรา 272 กำหนดให้ใช้เสียงโหวต มากกว่ากึ่งหนึ่งของ สมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา หากมีสมาชิกเป็นจำนวนเต็ม ส.ส. 500 คน ส.ว. 250 คน ต้องได้เสียง 376 เสียง เพื่อให้ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่เสนอชื่อให้ “รัฐสภา” โหวต ได้รับการเลือก ซึ่งการออกเสียงเลือกต้องใช้การออกเสียงอย่างเปิดเผย คือ “ขานชื่อ” คนที่สมาชิกเลือกให้เป็นนายกฯ
อย่างไรก็ดีในห้วงระยะเวลาของการ “โหวตเลือกนายกฯ” นั้น รัฐธรรมนูญไม่กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ดังนั้นอาจเกิดปรากฎการณ์ “ยื้อ” ได้
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง นั้นกำหนดให้เป็นทางออกไว้ คือ ให้รัฐสภาขอเว้นการใช้บทกำกับให้ใช้ ชื่อแคนดิเดตจากบัญชีนายกฯของพรรคการเมือง โดยต้องรวมเสียงเพื่อยื่นเรื่องให้ได้ 376 เสียง จากนั้นเมื่อประชุมได้ ต้องออกเสียงใหงดเว้นหรือไม ด้วยมติ ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง
ต้องจับตาการ “ชิงตำแหน่ง” ประธานสภาฯ -รองประธานสภาฯ ที่เป็นด่านแรก ที่สำคัญของโรดแมพ “นายกฯ” คนใหม่ และการตั้งรัฐบาล ซึ่งหลายฝ่ายประเมินไว้ว่า จะไม่ทิ้งช่วงเกินไปกว่า “เดือนสิงหาคม 2566”
และจังหวะนั้น จะเป็นเวลาที่ “รัฐบาลรักษาการ” ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหมดลง และก้าวพ้นจากสังเวียนอำนาจการเมือง.