ท่าที สว.โหวตเลือกนายกฯ 'สังศิต' ชี้ผู้นำต้องยึดผลประโยชน์ชาติ
สังศิต พิริยะรังสรรค์ เผยแนวคิดโหวตนายกฯ คนใหม่ ชี้ผู้นำต้องยึดผลประโยชน์ชาติ ขอดูท่าที พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ชี้ต้องไม่มีนโยบายชักศึกเข้าบ้าน เอื้อสหรัฐมาตั้งฐานทัพในไทย ห่วงต่างชาติแทกแซงการเมืองของไทย
รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน และมีสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน ซึ่ง ทำให้รัฐสภาไทยมีสมาชิกจำนวน 750 คน
สำหรับการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องผ่านความเห็นชอบจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.โดยพรรคการเมืองจะเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีเข้าที่ประชุมรัฐสภา และผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อไปจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ความคืบหน้าการจัดตั้งรัฐบาลล่าสุดพรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 ได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม โดยชูนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา และอาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาจากผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยต้องการดูท่าทีและนโยบายของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีใน 2 ประเด็น คือ 1.มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร 2.มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไร
“ผมยินดีสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่ให้ประเทศมหาอำนาจเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะมีบางพรรคการเมืองที่กำลังจะจัดตั้งรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนแนวทางนี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐมีความพยายามเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย และก่อนการเลือกตั้งมีการเสนอให้สภาผู้แทนสหรัฐเข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย รวมทั้งมีการล็อบบี้จากชาติสมาชิกนาโต้ในการจัดตั้งรัฐบาลของไทย” นายสังศิต กล่าว
นอกจากนี้ ยินดีสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายไม่ส่งเสริมความรุนแรงระหว่างประชาชนต่อประชาชน และจะไม่สนับสนุนรัฐบาลที่กระตุ้นหรือปลุกเร้าให้ประชาชนมีพฤติกรรมยั่วยุหรือใช้ความรุนแรงระหว่างกัน เพราะปัจจุบันมีการสร้างแรงยั่วยุเร็วมาก
“ผมไม่สนใจว่าใครจะมีเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามหลักการที่ตั้งไว้” นายสังศิต กล่าว