‘ทวี สอดส่อง’ลั่น ‘ประชาชาติ’สนับสนุพรรคอันดับ1แกนนำตั้งรัฐบาล

‘ทวี สอดส่อง’ลั่น ‘ประชาชาติ’สนับสนุพรรคอันดับ1แกนนำตั้งรัฐบาล

‘ทวี สอดส่อง’ลั่น ‘ประชาชาติ’สนับสนุพรรคอันดับ1แกนนำตั้งรัฐบาล รับยังไม่ได้หารือ ‘ก้าวไกล’ ชี้ต้องดูกันในรายละเอียด ขอผลักดันแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ หลังยังไร้แสงสว่างให้เห็น

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยผ่านรายการ "มองรัฐสภา" ในประเด็น "ทิศทางการเมืองหลังก้าวไกลประกาศจัดตั้งรัฐบาล 309 เสียง" ซึ่งเป็นหนึ่งที่พรรคก้าวไกลส่งเทียบเชิญเข้าร่วมรัฐบาล ว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล น่าจะมีการพูดคุยกับนายวันมูหะหมัดนอร์ มะทา หัวหน้าหน้าพรรคประชาชาติ ก่อนที่มอบหมายให้ตนเป็นตัวแทนของพรรค ถ้าเกิดมีการตั้งคณะทำงาน เพราะทั้ง 2 พรรค ก็ได้ร่วมทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ตลอด 4 ปี ในการทำหน้าที่นิติบัญญัติเพื่อตรวจสอบรัฐบาล รวมทั้งการอภิปรายการตั้งคำถามต่างๆ

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ยังไม่ได้พูดคุยกับนายพิธา แต่ได้คุยกับ "นายชัยธวัช ตุลาธน" เลขาธิการพรรคก้าวไกล เพื่อแสดงความยินดี ยังไม่ได้หารือในเรื่องรายละเอียด เพราะการจัดตั้ง กระบวนการทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีเวลา 2 เดือน ว่าจะรับรองสมาชิกหรือไม่  

นอกจากนี้ หลัง กกต.รับรองแล้ว ภายใน 5 วัน ต้องจัดให้มีการประชุมสภา ในการเลือกตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือว่ามีฐานะเป็นประมุขของฝ่ายนิติบัญญัติ เทียบเท่าฝ่ายบริหารก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งเมื่อมีประธานสภาฯ แล้ว ก็จะทำหน้าที่เป็นประธานรัฐสภาด้วย ซึ่งกระบวนการอันหนึ่งในรัฐธรรมนูญเพิ่งมาเขียนในช่วงปี 40 ปี 50 ซึ่งปี 60 ระบุว่าให้ประธานรัฐสภาวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช่เป็นประธานของคนใดคนหนึ่ง
 

"กระบวนการที่จะมีนายกฯได้ จะต้องมีประธานรัฐสภาก่อน หรือประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรงนี้กระบวนการก็คือ 1 เวลา 2 สถานการณ์ก็ยังเหลืออีกประมาณ 2 เดือน ไม่รู้ว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นลดลง และ กกต.จะมีปรากฏการณ์อย่างไรบ้าง เราก็ต้องให้พรรคการเมืองเสียงข้างมากที่สุด เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล อย่าง พรรคประชาชาติเรามี 9 คน ผมจะแสดงความเห็นอะไรมากไปสังคมจะสงสัยว่า พรรคคุณมีแค่นี้แล้วคุณจะไปเรียกร้องอะไร อยากให้เข้าใจตรงนี้ก่อน" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

สำหรับจุดยืนของพรรค คือ เคารพในความแตกต่างและกระบวนการประชาธิปไตย รวมทั้งขจัดความไม่เป็นธรรม หรือการครอบงำต่างๆ ไม่อย่างนั้นพรรคประชาชาติไม่ยืนเป็นพรรคฝ่ายค้านในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา วันนี้ (17พ.ค.) ประชาชนเลือกพรรคก้าวไกล เป็นอันดับ 1 ก็ควรจะต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ แต่ยังมีอุปสรรค คือ ส.ว. เพราะว่าถ้ารวมในฝ่ายประชาธิปไตย ชัดเจนถ้าพรรคการเมืองเก่า ก็ประมาณ 300 เศษนิดหน่อย เพราะพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ ในสมัยที่แล้ว ยังไม่ได้ตั้งพรรค ครั้งนี้ใน 300 ถ้ารัฐธรรมนูญเกิน 5 ปีไปแล้ว ถ้า ส.ว.เกิน 5 ปี ไม่มีปัญหา คือ จำนวนพอสำหรับการเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง แต่ครั้งนี้มันมี 2 ช็อต ก็คือ ช็อตที่จะเป็นนายกฯ ต้องไปพึ่งคะแนนเสียง ทำอย่างไรที่จะได้ในการประชุมรัฐสภา ต้องให้ได้ 376 เสียง ก็หนีไม่พ้นไปพึ่งพรรคการเมืองอื่น ถ้าจะทำอย่างนี้
 

สำหรับประการต่อมา คือ ไปพึ่ง ส.ว. ต้องยอมรับว่า ส.ว. ส่วนใหญ่นั้นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถ้าในการเลือกไม่เป็นกลาง เพราะเป็นกลาง 100 เปอร์เซ็น เป็นไปไม่ได้ ต้องมีความคิดที่แตกต่าง การเลือกนายกฯ ก็มีประสบการณ์มาแล้วว่า ส.ว.ไปเลือกนายกฯ คนเดิม 100 เปอร์เซ็น เพราะประธานสภาหรือประธานวุฒิสภาไม่ลงเสียง ถ้าลงเสียงได้ ก็ถือว่า 100 เปอร์เซ็น อันนี้จริง ๆ แล้ว มันเป็นผลประโยชน์ขัดกัน แต่เนื่องจากว่ามันผ่านไปแล้ว ก็ทำอะไรไม่ได้

"แต่ในครั้งนี้ก็เหมือนกัน ขั้นตอนของการเลือกนายกฯ ก็เป็นขั้นตอนหนึ่ง ก็ให้กำลังใจพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ท่านคงจะฟันฝ่าอุปสรรคอันนี้ได้ ส่วนพรรคประชาชาติยินดีจะเป็นคณะทำงาน คือ เราอยากเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น วันนี้ประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลง" เลขาธิการพรรคประชาชาติ ระบุ

ส่วนเงื่อนไขร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะด้านนโยบายนั้น ถือเป็นเรื่องสำคัญแต่พรรคประชาชาติไม่มี เพราะยังไม่ได้ไปดูนโยบายพรรคอื่น แต่ถ้าร่วมก็จะขอเสนอ เช่น สร้างสังคมให้เป็นประชาธิปไตย คืนสิทธิ คืนอำนาจ คืนศักดิ์ศรี ให้กับประชาชน และหนีไม่พ้นคงจะต้องมามีประชามติ ซึ่งหลายพรรคก็พูดว่ารัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น ต้องถามประชาชนว่า จะทำประชามติแก้ไขทั้งฉบับหรือไม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วางแนวทาง ถ้าประชาชนเห็นว่า ควรมีจัดทำรัฐธรรมนูญ

"สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการทำประชามติรัฐธรรมนูญครั้งที่ผ่านมา เราไม่รับรัฐธรรมนูญ เราก็คงจะให้มีตัวแทนเจ้าของอำนาจไปร่างรัฐธรรมนูญ คือ มีการเลือกตั้งคนมาร่างรัฐธรรมนูญ เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ ให้คณะนี้ไปร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นมา จะทำให้รัฐธรรมนูญ กติกา ของประเทศเป็นที่ยอมรับของประชาชน ไม่เช่นนั้นก็จะมีคนฉีกรัฐธรรมนูญ มาร่างรัฐธรรมนูญคนจะไม่ยอมรับ" พ.ต.อ.ทวี กล่าว

ขณะเดียวกัน บ้านเมืองมีความเหลื่อมล้ำมาก ประชาชนยากจนในหลายปีที่ผ่านมา แต่รัฐบาลใช้วิธีกู้เงินเป็นหลักบริหารประเทศ และยังไม่มองประชาชนแบบสิทธิเสมอกันถ้วนหน้า ก็จะพยายามขอร้องพรรคการเมืองต่างๆ ควรผลักดันประเทศในหลายๆ มิติ ตั้งแต่เกิดจนถึงหลุมฝังศพ หรือเชิงตะกอน หรือกุโบร์ ทำประเทศให้เป็นรัฐสวัสดิการมากที่สุด ทั้งเรื่องการศึกษา สวัสดิการถ้วนหน้าตามช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ เรื่องสำคัญ คือ ต้องสร้างความผาสุกและความมั่นคงให้กับประชาชน เพราะถือเป็นความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งต้องทลายความคิดรวมศูนย์อำนาจ คือ ข้าราชการเป็นใหญ่ ใช้ความมั่นคงอยู่เหนือการศึกษา หรือความยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน เพราะวันนี้ต้องยอมรับว่า คนมีที่ดินเกินพันไร่ มีแค่ 103 คน และ 30 คน มีที่ดินเกือบ 3 ล้านไร่ เป็นการกระจุกตัว ต้องเอาทรัพยากรมาพัฒนา เพราะคนรวยก็รวยไม่หยุด และที่สำคัญ ระบบผูกขาดการให้สัมปทาน แล้วผลักภาระไปให้ประชาชนจะต้องแก้ไข

สำหรับพรรคประชาชาติมีจุดเด่น คือ ต้องการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดสันติภาพอย่างยั่งยืน สร้างสันติสุข เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งคนทั้งประเทศต้องมารับผิดชอบด้วย เพราะจะต้องนำภาษีของทุกคนมาแก้ปัญหา หลายปีโดยเฉพาะในช่วงสุดท้าย 19 ปี วันที่ 4 ม.ค. 2547 ใช้เงินไปประมาณ 5 แสนล้านบาท ยังไม่รวมถึงงบปกติที่ในภาคอื่นก็ได้

"ปัญหาพวกนี้ เรายังไม่เห็นแสงสว่างในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเรื่องคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมยังเชื่อมั่นว่าให้คนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา พรรคประชาชาติก็เป็นหนึ่งที่เป็นตัวแทนของคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นโยบายอย่างนี้ เราขอให้พรรคที่เป็นแกนนำนำ ไปรวมพิจารณาด้วย" พ.ต.อ.ทวี กล่าว