"อภินิหาร ส.ว." ขวากหนาม "พิธา" วัดใจ 63 เสียง "สายลมเปลี่ยนแปลง"
สปิริตจาก “สภาสูง” ผู้ทรงเกียรติ 250 คน ต่อจุดยืนโหวตเลือก "นายกฯคนที่30" ท่ามกลางเสียงทวงถามที่ดังก้อง ในห้วงที่การเมืองเกิดปรากฎการณ์ "สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง"
แม้จะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หมุดหมายการเมืองกำลังเข้าสู่ห้วงแห่ง “สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง” หลังพรรคก้าวไกล ได้รับฉันทามติจากประชาชนทั่วประเทศ กวาด ส.ส.มาเป็นลำดับ 1 ด้วยจำนวนที่นั่งผู้แทน 152 ที่นั่ง ได้สิทธิเป็นแกนนำหลักในการจัดตั้งรัฐบาล
สอดคล้องกับที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ประกาศเมื่อวันที่ 15 พ.ค.2566 ที่ผ่านมา จับมือ 6 พรรคการเมือง ทั้ง ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย ประชาชาติ เสรีรวมไทย และพรรคเป็นธรรม รวม ส.ส. 310 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล
ทว่า ตัวเลขดังกล่าว ยังนำมาซึ่งคำถามว่า ที่สุดแล้วรัฐบาลภายใต้การนำของ “พิธา” จะสามารถชิงเกม “ตั้งรัฐบาล” ได้สำเร็จหรือไม่ เพราะต้องไม่ลืมว่า เสียงที่จะสามารถโหวตอุ้ม “พิธา” ผงาดเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด อย่างน้อย ต้องเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา คือ 376 เสียง
เช่นนี้ ทำให้มีการจับตาไปอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญนั่นคือ ส.ว.250 คนที่จะสามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้อีก 1 ครั้ง ก่อนหมดวาระในเดือน พ.ค.2567
เช็คขุมกำลัง 250 ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ นอกเหนือจาก “พรเพชร วิชิตชลชัย” ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา รวมถึง 5 ผบ.เหล่าทัพ ที่แสดงจุดยืน “งดออกเสียง” โหวตเลือกนายกฯ รอบนี้ หลักๆ น่าจะต้องจับตาไปที่ ส.ว. 3 กลุ่ม แบ่งเป็น
1. ส.ว.ในสาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มีทั้ง เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 โดยเฉพาะ พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 “เสธ.แอ๊ด” พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ ที่ยามนี้ยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ให้ “เพื่อนตู่” ในการคุมเสียง ส.ว.สายประยุทธ์
ยังไม่นับรวมบรรดานายพล เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 รวมถึงนายพล “สายน้องรัก” อาทิ “บิ๊กติ๊ก” พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ พล.ต.ท.วิบูลย์ บางท่าไม้ อดีต ผบ.สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง คู่เขย พล.อ.ประยุทธ์ รวมถึงอดีตบิ๊กเหล่าทัพรวมๆ แล้วมีประมาณ 60-70 คน
2. ส.ว.ในสาย พล.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มีทั้งเพื่อนร่วมรุ่น เตรียมทหารรุ่น 6 โดยเฉพาะ “บิ๊กกี่” พล.อ.นพดล อินทปัญญา เพื่อนรักสุดเลิฟ ซึ่งถูกจับตาว่า เป็นมือประสานรอบทิศ
ยามนี้ส่งศรีภรรยา “ประวีณ์นุช อินทปัญญา” ขึ้นแท่นว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่คุมเสียง ส.ว.สายประวิตร
ยังไม่นับรวม “ก๊วน ตท.6” รวมถึงกลุ่มน้องรัก โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ น้องชาย พล.อ.ประวิตร ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญในสภาสูงมาตั้งแต่เป็น ส.ว.สรรหาชุดก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 นอกจากนี้ ยังมีอดีตบิ๊กเหล่าทัพนับรวมแล้วกลุ่มนี้มีประมาณ 80 คน
โดยในส่วนของกลุ่ม 2 ป. ยังมี ส.ว.สายอื่น ทั้งอดีต ส.ว.นักธุรกิจ กลุ่มทุน ที่อาจสวิงไปมา อีกราวๆ กลุ่มละ 20-30 คน รวม ส.ว.สาย 2 ป.ที่อยู่ในสภาสูงนับรวมแล้วประมาณ 100 ปลายๆ
ส่วนที่เหลือคือ กลุ่มที่ 3. ซึ่งเรียกว่าเป็นกลุ่มอิสระ กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตข้าราชการ นักวิชาการ ภาคธุรกิจบางส่วน ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน
โดยกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่โหวต “ปิดสวิตช์” ตัวเอง
เมื่อย้อนสถิติการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว ในห้วง 4 ปี เกิดขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง
ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 พ.ย.2563 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน รัฐสภาให้ความเห็นชอบ268 เสียง (ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มี ส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 56 คน
ครั้งที่ 2 วันที่ 17 พ.ย.2563 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย iLaw รัฐสภาให้ความเห็นชอบ 212 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 3 คน
ครั้งที่ 3 วันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย พรรคร่วมฝ่ายค้านรัฐสภาให้ความเห็นชอบ 455 เสียง (เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มี ส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 15 คน
ครั้งที่ 4 วันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดย พรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยรัฐสภาให้ความเห็นชอบ 461 เสียง(เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มี ส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 21คน
ครั้งที่ 5 วันที่16 พ.ย.2564 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยกลุ่ม “Resolution” รัฐสภาให้ความเห็นชอบ206 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มีส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 3คน
ครั้งที่ 6 วันที่ 8 ก.ย.2565 ที่ประชุมลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยภาคประชาชน รัฐสภาให้ความเห็นชอบ 356 เสียง(ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของรัฐสภา)
จำนวนนี้มี ส.ว.โหวตปิดสวิตช์ 23 คน
ครั้งที่ 7 ก.พ.2566 “ประชุมล่ม” ระหว่างพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อไทยจำนวน 101 คน ก่อนปิดสมัยประชุมและมีการยุบสภาในท้ายที่สุด
เมื่อย้อนดูสถิติทั้ง 7 ครั้งจะพบว่า “เสียงสภาสูง” จนถึงยามนี้ ยังสามารถสวิงไปมาได้ตลอดว่า ขึ้นอยู่กับว่าผู้คุมเกมจะเดินหมากให้เป็นไปในทิศทางใด
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะนี้ยังไม่ทันรู้ว่าที่สุด "พิธา" จะถึงฝั่งฝันได้เป็นนายกฯสมใจหรือไม่ หรือที่สุดใครจะได้เป็นนายกฯคนที่30
ทว่ากลเกมกลับพบความเคลื่อนไหวของ "นักช้อปส.ว." บางคน พยายามเปิดดีลไปถึง "ขั้วอำนาจสภาสูง" ขอเสียงหวัง "เพิ่มแต้มต่อรอง" โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญทางการเมืองในอนาคตอาทิ "โควตารมต."
โดยเฉพาะ "2ส." ค่ายแดงที่พยายามเคลมว่า ผลงานการรวมรวมเสียงส.ว. เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของตัวเอง
ขณะเดียวกัน เสียงทวงถามของประชาชนยามนี้ยังรุมจี้ถามไปถึงสปิริตของบรรดาสมาชิก “สภาสูง” ผู้ทรงเกียรติ
โดยเฉพาะ“63 เสียง” ที่เคยโหวตปิดสวิตซ์ตัวเอง ในการยอมรับฉันทามติจากประชาชน จำนวน 15 ล้านเสียง เพื่อลงมติชี้ชะตาประเทศท่ามกลางสายลมที่กำลังเปลี่ยนแปลง!!