ผนึก 8 พรรค 313 เสียงฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล โหวต “พิธา” นายกฯ เซ็น MOU 22 พ.ค.
ฟอร์มทีม “ก้าวไกล-เพื่อไทย-ประชาชาติ-เสรีรวมไทย-ไทยสร้างไทย-เป็นธรรม-เพื่อไทรวมพลัง-พลังสังคม” 313 เสียง ประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยประชาชน เคารพฉันทามติ 3 ข้อ โหวต “พิธา” นายกฯ เซ็น MOU แนวทางทำงาน-วาระร่วม 22 พ.ค.
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 ที่ โรงแรมโอกุระ เพรสทีจ กทม. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย, นายวสวรรธน์ พวงพรศรี หัวหน้าพรรคเพื่อไทรวมพลัง, นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม, และนายเชาวฤทธิ์ ขจรพงศกีรติ หัวหน้าพรรคพลังสังคมใหม่ แถลงข่าวประกาศตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน โดยจากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ มีจำนวน ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 313 คน
นายพิธา กล่าวว่า พวกเราทุกพรรคขอขอบคุณทุกเสียงที่ประชาชนมอบให้ เสียงของประชาชนทุกเสียงคือเสียงแห่งความหวัง คือเสียงแห่งการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลชุดใหม่จะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ต่ออำนาจของประชาชน และเราจะเป็นรัฐบาลของคนไทยทุกคน
นายพิธา กล่าวอีกว่า ทุกพรรคขอประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนร่วมกัน ด้วยความเคารพในฉันทามติของประชาชน ดังนี้
- ทุกพรรคเห็นชอบที่จะสนับสนุนหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ตามเสียงข้างมากจากผลการเลือกตั้งของประชาชน
- ทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรค และจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อแก้ไขวิกฤตการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ
- ทุกพรรคจะจัดตั้งคณะทำงานเปลี่ยนผ่านรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถบริหารราชการแผ่นดินต่อจากรัฐบาลเดิมได้แบบไร้รอยต่อ
หลังจากนั้นเปิดให้สื่อมวลชนถามคำถาม โดยนายพิธา กล่าวยืนยันความเชื่อมั่นว่า การจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชนจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและโดยราบรื่น จำนวน 313 เสียง มีความเพียงพอและเป็นความปกติของระบอบประชาธิปไตย
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้ คณะทำงานทั้ง 2 ทีม ได้แก่ คณะเจรจาและคณะเปลี่ยนผ่านอำนาจ ได้เตรียมการวางแผนในหลายรูปแบบว่าจะมีฉากทัศน์ใดเกิดขึ้นบ้าง แต่ละฉากทัศน์จะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงพิจารณาว่าจุดยืนและนโยบายของทุกพรรคการเมือง จะทำงานร่วมกันอย่างไรโดยยึดประชาชนเป็นที่ตั้ง กระบวนการทั้งหมดจะคำนึงถึงเสถียรภาพของรัฐบาลและการมีส่วนร่วมของทุกพรรคการเมือง เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จลุล่วง ทุกพรรคการเมืองสามารถสานต่อนโยบายที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน
สำหรับความเห็นของ ส.ว. หลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนว่าจะโหวตนายกฯ ตามเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายพิธา กล่าวว่า ขอขอบคุณ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของใคร แต่เป็นเรื่องของระบบ ถือเป็นนิมิตรหมายอันดีที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด