สื่อนอกชี้ กองทัพกำลังเผชิญห้วงเวลาแห่งความจริงหลังเลือกตั้ง
สื่อญี่ปุ่นชี้ กองทัพไทยกำลังเจอความไม่พอใจของสาธารณชนแสดงออกผ่านการเลือกตั้ง หลัง พล.อ.ประยุทธ์ปกครองประเทศมาเกือบสิบปี กูรูเตือนหากไม่ฟังเสียงเรียกร้องทหารอย่ายุ่งการเมือง จะเจอไม่ความไม่พอใจหนักยิ่งกว่าหลังรัฐประหารปี 2534
เว็บไซต์นิกเคอิ รายงานบรรยากาศใกล้ค่ายทหารใน จ.ปราจีนบุรี ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้โอกาสในวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ไม่เอาเหล่านายพลผู้กำหนดชีวิตพวกเขามานานเกือบสิบปี
ช่วงบ่ายวันนั้นคนที่ออกจากคูหาเลือกตั้งใกล้ค่ายต่างบอกเป็นนัยว่า สนับสนุนพรรคที่ไม่ใช่ทหาร
“ในเมื่อเรามีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลง เราก็ควรเปลี่ยนแปลง ฉันอยากเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี” หญิงวัย 57 ปีคนหนึ่งกล่าวกับนิกเคอิ
ไม่ใช่แค่ค่ายนี้ที่เดียวที่ประชาชนไม่เอาพรรครวมไทยสร้างชาตินำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชารัฐของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเขตดุสิต กมท. และ จ.ลพบุรี ที่มีค่ายทหารจำนวนมาก ผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็แสดงออกแบบเดียวกัน
การปฏิเสธทหารในเขตทหารเผยถึงความไม่พอใจผลจากกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยแพร่สะพัดไปทั่วประเทศไทยในวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 2 นับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 นำโดยพล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร
การนับคะแนนครั้งสุดท้ายยืนยันว่าเสียงส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับสองนายพล เมื่อสองพรรคฝ่ายค้านฝ่ายประชาธิปไตยอย่างพรรคก้าวหน้าและเพื่อไทย ได้คะแนนเสียงรวมกัน 64% ของผู้มาลงคะแนน 39 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่เคยได้เกือบ 40% ในการเลือกตั้งปี 2562
ความคาดไม่ถึงทางการเมืองครั้งนี้ทำให้พรรคคนหนุ่มสาว “ก้าวไกล” ได้ที่นั่งในสภาอย่างไม่คาดคิด 152 คน จากสภาผู้แทนราษฎร 500 คน พรรคก้าวไกลสืบทอดจากพรรคอนาคตใหม่ ที่ก่อตั้งขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งก่อนแต่ถูกยุบพรรคด้วยคำพิพากษาชวนโต้แย้ง ระหว่างหาเสียงพรรคก้าวไกลเล็งไปที่นายพลด้วยการประกาศนโยบายก้าวหน้าเรียกร้องปฏิรูปกองทัพ สถาบันการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย
เหล่าผู้สังเกตการณ์มากประสบการณ์ไม่แปลกใจที่คะแนนไหลออกจากฝ่ายกองทัพรอยัลลิสต์ สองพรรคโปรทหารของพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร ได้ที่นั่งรวมกัน 76 ที่นั่ง ลดลงอย่างมากจาก 116 ที่นั่งของพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี 2562
“มีสัญญาณมากมายก่อนวันเลือกตั้งว่าประชาชนไม่พอใจทหารเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เหมือนตอนหลังรัฐประหารปี 2534ความรู้สึกเดียวกัน ความไม่พอใจของประชาชนแบบเดียวกันที่เราได้ยินตอนนั้นคือ ขอให้ทหารที่มายุ่งการเมืองกลับกรมกอง แต่ตอนนี้ประชาชนไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่อยู่มาเกือบ10 ปี" อุกฤษฎ์ ปัทมานันท์ นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความจริงใหม่นี้กำลังค่อยๆ จมดิ่งลงในหมู่ชนชั้นปกครองทหาร-รอยัลลิสต์ ที่ควบคุมกองทัพ, เป็นตัวกลางเจรจาดีลการเมือง, มีบทบาทอย่างมากในเศรษฐกิจ และทำหน้าที่ปกป้องสถาบัน รวมถึงบทบาทความมั่นคงแห่งชาติตามธรรมเนียม
เหล่านักการทูตในกรุงเทพฯ ผู้คุ้นเคยกับเครือข่ายทรงอิทธิพลเหล่านี้รายงานว่า ชนชั้นนำกำลัง “ผวา” กับผลการเลือกตั้ง
“คนในฝ่ายรอยัลลิสสต์-ทหารมีน้อยมากๆ ที่มองว่าพรรคก้าวไกลจะได้ ส.ส.เกิน 50 คนกลายเป็นว่าพรรคเดียวปาเข้าไป 150 คน แล้วมาเป็นอันดับหนึ่งด้วย พวกเขาไม่เชื่อในโมเมนตัมของพรรคช่วงก่อนเลือกตั้ง เมื่อผลออกมาแบบนี้พรรคจึงเปลี่ยนจากสิ่งน่ารำคาญกลายเป็นภัยคุกคามสำคัญ” นักการทูตกล่าว
นักวิเคราะห์มองว่า การรุกคืบทางการเมืองของฝ่ายค้านหนุนประชาธิปไตยเกิดขึ้นที่หลังบ้านของทหารเอง จ.ปราจีนบุรีเป็นที่ก่อเกิดอาชีพทหารของพล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งของพวกเขาเริ่มต้นขึ้นที่ปราจีนบุรี ที่ตั้งกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ที่ได้รับขนานนามว่า “บูรพาพยัคฆ์”
หลังการเลือกตั้ง คาดว่าพล.อ.ประยุทธ์และผู้บัญชาการระดับสูงจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไทยเข้าสู่ความไม่แน่นอนจากช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ซึ่งน่าจะกินเวลาไปอีกหลายเดือนเพราะกติกาหลังเลือกตั้งซ่อนเงื่อน
“หลังผลเลือกตั้งออกมาแบบนี้ กองทัพไม่สามารถเสี่ยงโดดเดี่ยวตัวเองจากประชาชนต่อไปได้ด้วยการพยายามปกป้องรัฐบาลชุดปัจจุบัน ถ้าพวกเขาเลือกผิด แม้ใช้นโยบายแบ่งแยกแล้วเอาชนะ พวกเขาจะจบลงด้วยการเผชิญกับความรู้สึกโกรธเกรี้ยวไม่เอาทหารของประชาชน (เหมือนเมื่อต้นทศวรรษ 90) หรือเลวร้ายกว่านั้นมาก” กานต์ ยืนยง ผู้อำนวยการสยามอินเทลลิเจนซ์ กลุ่มคลังสมองในกรุงเทพฯ กล่าว
แต่ก่อนหน้านั้นกองทัพจะต้องจัดการกับความแตกแยกในสายการบังคับบัญชาที่ปรากฏขึ้นหลังเลือกตั้งเสียก่อน นายทหารระดับสูงส่วนใหญ่หนุนพันธมิตรทหาร ขณะที่ทหารชั้นผู้น้อยส่วนใหญ่เลือกก้าวไกล
แหล่งข่าวหลายรายที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายการเมืองตรวจพบความรู้สึกต่อต้านในหลายๆ หน่วยในกรุงเทพฯ หลังก้าวไกลชนะเลือกตั้ง
แหล่งข่าวรายหนึ่งเล่าว่า การที่นายพลบางคนพึมพำว่าพวกเขา “ต้องระวังตัว” เกี่ยวกับแผนการเปลี่ยนผ่านของก้าวไกลที่จะนำไปสู่รัฐบาลใหม่ “บ่งชี้สัญญาณความไม่สบายใจ” ตรงข้ามกับทหารชั้นผู้น้อยที่ปลื้มปิติ บางคนสวมใส่สีส้มนอกเวลาราชการ