9 ปี รัฐประหาร ‘ประเทศไทย’ เพิ่งเริ่มนับ 1
ผลของการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566 จะเปรียบเสมือนการเริ่มนับหนึ่งของประเทศไทยในยุคที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เป็นยุคที่สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าเดิม
22 พ.ค.2557 ประเทศกลับสู่สถานการณ์รัฐประหารอีกครั้ง ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นรัฐประหารที่ห่างจากรัฐประหารครั้งก่อนหน้าไม่ถึง 8 ปี ทำให้มีการนำบทเรียนจากรัฐประหารในปี 2549 มาปรับปรุงกลไกการบริหารราชการแผ่นดิน โดยภายใน คสช.มีการจัดองค์กรที่ชัดเจน ซึ่งมีการแยกฝ่ายดูแลงานแต่ละส่วน คือ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ฝ่ายกิจการพิเศษ พร้อมกำหนดหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อหัวหน้า คสช. เช่น สำนักงบประมาณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
รวมทั้งเมื่อ คสช.ประกาศให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยยกผู้ที่อยู่ในกลไก คสช.ขึ้นมาประกอบเป็น ครม.จึงมีทหารและข้าราชการเข้ามาควบตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งทำให้เกิดรัฏฐาธิปัตย์ที่ชัดเจน รวมทั้งในมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) กำหนดอำนาจหัวหน้า คสช.ที่ออกคำสั่งบริหารราชการแผ่นดินได้ครอบคลุมอำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ จึงทำให้การขับเคลื่อนการบริหารประเทศระหว่างปี 2557-2562 เป็นไปตามแผนและนำมาสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี (2561-2580) ที่มีเป้าหมายยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2580
การเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เลือกที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งแม้จะได้ ส.ส. 116 เสียง เป็นอันดับ 2 รองจากพรรคเพื่อไทยที่ได้ ส.ส. 136 เสียง แต่ประกาศเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลด้วยการอ้างเหตุผลได้คะแนนป๊อปปูลาโหวต 8.4 ล้านเสียง มากกว่าพรรคเพื่อไทยที่ได้ 7.8 ล้านเสียง ซึ่งต่างจากธรรมเนียมปฏิบัติที่พรรคอันดับ 1 จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรีมาตลอด นับตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจึงความพยายามที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่ออีกสมัย
การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.2566 พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจที่จะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่คราวนี้ถูกเสนอชื่อในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ผลการเลือกตั้งปรากฏชัดเจนว่าพรรคก้าวไกลได้ ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 ตามด้วยพรรคเพื่อไทย โดยทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้ประกาศร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล และมีแนวโน้มว่ากรณีที่มีการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากหน้าที่บริหารประเทศที่ยาวนานต่อเนื่อง 9 ปี ตั้งแต่ในฐานะหัวหน้า คสช.จนมาเป็นนายกรัฐมนตรีภายใต้การควบคุมของ คสช.และนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้ง ถือเป็นเวลาเพียงพอแล้วที่จะเปิดทางให้ผู้อื่นก้าวขึ้นมาบริหารประเทศแทน
ผลการเลือกตั้ง วันที่ 14 พ.ค.2566 จะเปรียบเสมือนการเริ่มนับหนึ่งของประเทศไทยในยุคที่ไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้เป็นยุคที่สร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นยุคที่ลบจุดอ่อนของประเทศไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันที่สร้างต้นทุนให้ประชาชนและภาคธุรกิจ รวมถึงเป็นยุคที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น และเป็นยุคแห่งการรับฟังเหตุและผลของคนทุกกลุ่มในสังคม ซึ่งรัฐบาลใหม่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ต้องรับฟังและได้รับความร่วมมือจากคนหลายกลุ่ม เพราะลำพังรัฐบาลฝ่ายเดียวคงยกรับดับประเทศไม่ได้ถ้าไม่ร่วมมือกับคนทั้งสังคม