9 ปีรัฐประหาร เงื่อนไขเกิดซ้ำ ? วัดใจกลุ่มอำนาจ“นอกกองทัพ”
ความห่วงใยของ “บิ๊กกองทัพ” ที่เปิดอกคุยกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง พร้อมแสดงความกังวล หากเกิดการ “รัฐประหาร” ครั้งนี้จะรุนแรง ทำคนบาดเจ็บล้มตายยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
จาก 22 พ.ค.2557 ถึง 22 พ.ค.2566 ครบรอบ 9 ปีรัฐประหาร สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงก่อตัวขึ้น จนกลับกลายเป็น “พายุ” สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง 14 พ.ค. โหมกระหน่ำเข้าใส่ “ขั้วอำนาจ” จนซวนเซ
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ “พรรคก้าวไกล” ซึ่งหมายมั่นรื้อโครงสร้างประเทศไทย บ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายที่ “กองทัพ” ไม่อาจมองข้าม เพราะมีภารกิจต้องค้ำยันสถาบันหลักของชาติ
แม้กลิ่น “รัฐประหาร” ยังไม่ปรากฏ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สุกงอม แต่หาก “พรรคก้าวไกล” สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ จนนำมาสู่นโยบายรื้อโครงสร้างประเทศ ย่อมมีโอกาสเปิดช่องให้ “กองทัพ” คิดการใหญ่
หากอำนาจการตัดสินใจทำปฏิวัติรัฐประหารเป็นของผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ซึ่งปัจจุบันคือ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ที่เพิ่งประกาศลบคำแสลงหูออกจากพจนานุกรมฉบับทหารนำไปแช่ไว้ในจุดเยือกแข็ง ก็คงไร้ปัญหา เว้นแต่กรณีถูกแทรกแซงจากปัจจัยนอกรั้วกองทัพ
พล.อ.ณรงค์พันธ์ เพิ่งเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อไม่กี่วันนี้ หลังหลบการเมืองร้อนๆ ช่วงเลือกตั้ง เดินทางเยือนสหรัฐ ประชุม Land Forces of the Pacific (LANPAC) Conference ณ เกาะโอวาฮู รัฐฮาวาย ตั้งแต่วันที่ 15-18 พ.ค.2566 จากนั้นเตรียมเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และวางโปรแกรมทัวร์แบบยาวๆ เยือนกองทัพแถบอาเซียน อำลาตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในโอกาสเกษียณอายุราชการเดือน ก.ย.นี้
คาดกันว่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ เดินตามรอย “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญหลังเกษียณอายุราชการ ส่วนเวลาที่เหลืออยู่นับจากนี้คือสะสางงานที่ค้างอยู่เพื่อเตรียมส่งมอบให้ ผบ.ทบ.คนใหม่ ซึ่งไทม์ไลน์ดังกล่าวเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศไทยจะได้นายกฯ และรัฐบาลชุดใหม่
ภายหลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง กลายเป็นพรรคอันดับ 1 ที่กำลังเดินหน้าฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางการเฝ้ามองของกองทัพที่ถอยฉากกลับเข้ามาอยู่ในกรมกอง ปล่อยให้ฝ่ายการเมืองเดินหน้าตามวิถีประชาธิปไตย
ต้องยอมรับการฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลและนโยบายแก้ไขมาตรา 112 พรรคก้าวไกล ปลุกชนวนความขัดแย้ง ผ่านการติดแฮตแท็ก สร้างเฮดสปีดในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้คนแตกออกเป็น 2 ฝ่าย แบ่งการเมืองเป็น 2 ขั้ว สะท้อนให้เห็นถึงความเกลียดชังและการไม่ให้อภัยซึ่งกันและกัน รอวันปะทุลามลงถนน หากความต้องการของแต่ละฝ่ายไม่เป็นไปตามที่หวัง
ทั้งกรณีพรรคก้าวไกล หากดีลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ สุดท้ายตกอยู่ในสถานะพรรคฝ่ายค้าน หรือหากผ่านด่านนี้ไปได้ก็ต้องเจอด่าน 250 ส.ว.ในขั้นตอนรัฐสภา ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” อาจถูกตีตกในการโหวตเลือกนายกฯ ด้วยปมแก้มาตรา 112
ความห่วงใยของ “บิ๊กกองทัพ” ที่เปิดอกคุยกันตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นหลังประเมินสถานการณ์พรรคก้าวไกลมาแรง แต่ไม่คิดว่าจะชนะพรรคเพื่อไทย พร้อมแสดงความกังวล หากเกิดการ “รัฐประหาร” เพราะครั้งนี้จะรุนแรง ทำคนบาดเจ็บล้มตายยิ่งกว่าครั้งไหนๆ
ด้วยปัจจัย กองทัพ เกิดความเปลี่ยนแปลงในรอบ 8 ปีให้หลัง ระบบกลไก สายการบังคับบัญชามีความซับซ้อนมากขึ้น “ผบ.ทบ.” สวมหมวก 2 ใบ ใบหนึ่งทำหน้าที่หลัก อีกใบเป็นผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ.904) ถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์
พร้อมๆ กับการกำเนิดทหารกลุ่มใหม่ เรียกว่า “ทหารคอแดง” เข้ามามีบทบาทแทนอำนาจเดิม บูรพาพยัคฆ์ วงศ์เทวัญ ทหารเสือราชินี รบพิเศษ ด้วยการคุมกำลังหลักสำคัญ ชีวิตรับราชการเติบโตเข้าไลน์ 5 เสือ แซงหน้าทหารคอเขียวคนแล้วคนเล่า กลายเป็นสนิมเนื้อในกัดกร่อนกันในกองทัพ
แม้แต่คนเกษียณราชการไปแล้ว กลับเบ่งบานบารมีนอกกองทัพ เข้ามาล้วงลูก ล้วงโผ เห็นได้จากการแต่งตั้งโยกย้ายทหารระดับผู้บังคับกองพันที่ผ่านมา ย้ายทหารคอแดงมาคุมหน่วยทหารคอเขียว หรือการเข้ามาขับเคลื่อน กำกับดูแลงานด้านความมั่นคงพิเศษ สร้างความกระอักกระอ่วนใจคนในกองทัพ กลืนไม่เข้า-คายไม่ออก สะท้อนผ่านการเลือกตั้ง พรรคก้าวไกล ชนะทุกหน่วยในเขตทหาร
สถานการณ์ปัจจุบัน แม้ยังไม่ถึงจุดปรอทแตก แต่เริ่มส่อเค้าเข้าเงื่อนไขรัฐประหาร คือการหมิ่นสถาบันอย่างรุนแรง ด้วยประเด็น ม.112 ทำให้เกิดความแตกแยก สร้างความขัดแย้งขยายเป็นวงกว้าง ด้วยเงื่อนปมจากปัญหาขั้วอำนาจเก่า-ขั้วอำนาจใหม่ และการถูกบีบให้เลือกข้าง
ครบ 9 ปี รัฐประหาร 22 พ.ค.2557 หากลองเทียบมูลเหตุการยึดอำนาจในครั้งนั้นมีด้วยกัน 10 ข้อ ประกอบด้วย
1.มีความขัดแย้งทางความคิดการเมืองอย่างรุนแรงจนถึงระดับครอบครัวคนไทย 2.การใช้อำนาจการปกครองแบบเดิมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการกระทำผิด
3.แนวทางการเลือกตั้งในรูปแบบเดิมมีการต่อต้านอย่างกว้างขวาง ถ้าปล่อยไว้อาจเกิดปัญหาวุ่นวายไม่รู้จบ 4.การชุมนุมทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำให้ประชาชนแตกความสามัคคี 5.ปัญหาทุจริต
6.การบังคับใช้กฎหมายต่อปัญหาข้างต้น บังคับใช้ไม่ได้ทุกกลุ่ม ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกลียดชังกันในหมู่ประชาชนเป็นวงกว้าง มีการยุยงปลุกปั่นให้ใช้ความรุนแรง 7.การบริหารราชการแผ่นดินไม่สามารถกระทำได้อย่างเด็ดขาด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของชาติ และความทุกข์ของประชาชน
8.ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย 9.การปลุกระดมมวลชนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ และ 10.มีการจัดตั้งและใช้กองกำลังติดอาวุธ
การทำรัฐประหารในปัจจุบันคงไม่ง่ายเหมือนในอดีต เพราะไม่เพียงแต่ประชาชนที่ต่อต้าน คนใน “กองทัพ”ก็ไม่เอาด้วย แต่นั้นหาใช่สิ่งการันตี ยิ่งโอกาสน้อย หากเกิดรัฐประหารจะยิ่งรุนแรง อีกทั้งกลไกสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน ดังนั้นอำนาจที่ใช้ทำรัฐประหาร อาจไม่ได้เป็นอำนาจของ“ผบ.ทบ.”อีกต่อไป