แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 จี้ กกต.สอบคุณสมบัติ “พิธา” ปมหุ้นสื่อภายใน 15 วัน

แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 จี้ กกต.สอบคุณสมบัติ “พิธา” ปมหุ้นสื่อภายใน 15 วัน

แกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006 จี้ กกต.เร่งสอบคุณสมบัติ “พิธา” ปมหุ้นสื่อภายใน 15 วัน ชี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เชื่อหลักฐานเพียงพอ


ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายนพรุจ วรชิตวุฒิกุล อดีตแกนนำกลุ่มพิราบขาว 2006  ยื่นหนังสือขอให้ กกต.เร่งตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสมัครในการลงสมัครเป็น ส.ส.ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตามพ.ร.ป ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) จากการถือครองหุ้นบริษัท ITV จำกัด (มหาชน) โดยมองว่าขณะนี้พยานหลักฐานน่าจะครบถ้วนเพียงพอแล้วในการตรวจสอบ อีกทั้งมีผู้ยื่นร้องเรียนหลายคนแล้ว  ก่อนหน้านี้ตนได้ยื่นเรื่องให้ กกต.ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป  แต่ยังไม่ดำเนินการจึงมาจี้ให้ กกต.เร่งพิจารณามีมติภายใน 15 วัน  โดยวันนี้ได้นำหลักฐานมายื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.เชื่อว่าเพียงพอต่อการวินิจฉัย ประเด็นคือการเลิกกิจการหรือไม่เลิกกิจการของบริษัท ITV การถือครองหุ้นสื่อและจำนวนหุ้นของนายพิธา   ซึ่งเห็นว่ากิจการอาจจะเลิกในบางส่วน แต่ยังไม่ได้เลิกประกอบการ  อีกทั้งมีเอกสารเชิญผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการรายงบการเงินประจำปี  แสดงให้เห็นว่ากิจการไม่ได้เลิกแต่มีการหยุดประกอบกิจการบางส่วน หยุดซื้อขายหุ้นตั้งแต่ปี 2557

โดยคำสั่งตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นหาก กกต.มีมติว่านายพิธา ถือหุ้นจริง และผิดดังนั้นการรับสมัคร ส.ส.ของนายพิธา ไม่สมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2562 และต้องตัดสินตั้งแต่ปี 2562 และการเซ็นรับรองผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคเป็นโมฆะ ทั้งนี้ตนได้ยื่นให้ กกต.พิจารณาสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของนายพิธาตั้งแต่ 2562 และ 2566และสถานะหัวหน้าพรรคในการลงนามรับรองส่งผู้สมัครของพรรค กรณีรู้อยู่แล้วขาดคุณสมบัติกรณีถือหุ้นสื่อ ซึ่งเข้าข่ายขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง ใน ส.ส. มาตรา 42 และมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)  รวมทั้ง กกต.ต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ของพรรคก้าวไกลด้วย 

นายนพรุจกล่าวอีกว่าหากก่อนหน้านี้ กกต.ตัดสิทธิก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ที่โดยตัดสินต้องไปขอคืนสิทธิจากศาลฎีกา เมื่อ กกต.มาพิจารณาหลังเลือกตั้งต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าจะมีการตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งนายพิธาตั้งแต่ปี 2562 หรือไม่ จะเรียกค่าตอบแทนและผลประโยชน์จากการเป็น ส.ส. คืนหรือไม่ รวมถึงการลงนามรับรองให้มีการลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งพรรคสิ้นสุดลงด้วยหรือไม่
              
 “ขอให้ กกต.มีมติชี้ภายใน 15 วัน เดิมการตรวจสอบคุณสมบัติทำภายใน 7 วันหลังจากรับสมัคร แต่เลยนานมาแล้ว และความเสียหายเกิดขึ้นกับ กกต.เอง เพราะว่านายพิธา เป็นแคนดิเดตนายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค และมีกระแสเกี่ยวกับประชาชน ดังนั้นการตัดสินของ กกต.มีผลต่อความขัดแย้ง มีผลต่อประชาชนหลายภาคส่วน” นายนพรุจ กล่าว 

ส่วนที่นายพิธาได้แสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.แล้วนั้น ทนายนพรุจกล่าวว่านายพิธาทราบมานานแล้ว แต่ให้สัมภาษณ์สื่อว่าพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ 2549 เพราะฉะนั้นหุ้นจะตกถึงนายพิธาทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1599 รวมทั้งเป็นผู้จัดการมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 1732  จะต้องโอนสิทธิหรือแจ้งการโอนหุ้น ผลประโยชน์ไปยังทายาทคนอื่นให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีเว้นแต่ศาลสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งนายพิธานั้นได้ทราบอยู่แล้ว อีกทั้งกรณีนี้ต้องตีความว่าบริษัทITV เลิกกิจการแล้วหรือยัง และมีหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ รวมถึงนายพิธาทราบหรือไม่ว่ามีถือหุ้นหรือทรัพย์สินที่เป็นสมบัติของบิดา หากดูในการจดรายงานจะมีชื่อของนายพิธาทุกปี มีการเชิญผู้ถือหุ้นประชุม มีการแสดงงบการเงิน รายได้กำไรผู้ถือหุ้น มีการลงนามรับรองการประชุมชัดเจน จึงถือว่ายังไม่มีการเลิกกิจการ