ร้อง กกต.ปม 8 พรรคเซ็น MOU ส่อขัด กม.-ให้หลักฐานเพิ่มปมหุ้น “พิธา”
“เรืองไกร” หอบเอกสารหลักฐานยื่น กกต.เพิ่มเติม ปมหุ้นสื่อไอทีวี “พิธา” เตรียมร้องเรื่องใหม่ 8 พรรคลงนาม MOU ส่อขัด ม.28 กฎหมายพรรคการเมือง โทษสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค ยันทำแบบนี้ไม่ได้หวังผลการเมือง รับไม่สนุก แต่มีเหตุก็ต้องร้อง
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เข้ายื่นหนังสือเพิ่มเติมถึงประธาน กกต. เพื่อขอให้ตรวจสอบเพิ่มเติมกรณีกล่าวหาว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถือหุ้นสื่อในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่า ในวันนี้มีการนำผู้ถือหุ้น 18 ปีย้อนหลังและรายงานประจำปีงบกำไรขาดดุลมายื่นต่อ กกต. เป็นหลักฐานให้เห็นว่าไอทีวี เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชน 2535 การปรากฎชื่อและนามสกุล ของนายพิธาโดยไม่มีห้อยท้าย ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ถือว่าถูกต้อง และวัตถุประสงค์หลักของไอทีวีหลักมี 4 ข้อที่เกี่ยวข้องกับการทำสื่อมวลชนต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะสื่อไอทีวี ซึ่งมีรายได้ที่ลดหลั่นกันลงมา อย่างไรก็ดีนายพิธา ในฐานะผู้ถูกร้องสามารถแก้ข้อกล่าวหาได้ และจะยังมีการส่งเอกสารเพิ่มเติมมายัง กกต.อีกครั้ง ทั้งมติ ครม. สัญญาไอทีวีกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) และคำพิพากษาศาลปกครอง
นายเรืองไกร ยื่นคำร้องเพิ่มเติมต่อ กกต. กรณีการเซ็นMOU จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและพรรคร่วม รวม 8 พรรค โดยระบุว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงดังกล่าว หากขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุไว้ว่า ส.ส.ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย ซึ่งการลงนามในนามหัวหน้าพรรคอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 28 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มองว่าการลงนาม 8 พรรคการเมือง เท่ากับเป็นการยอมรับเงื่อนไขของอีก 7 พรรคที่เหลือ ในการทำกิจกรรมทางการเมือง ขณะนี้พยานหลักฐานครบถ้วนแล้วจึงอยากให้ กกต. พิจารณาว่าเข้าข่ายการกระทำความผิดหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่เพียงการพิจารณาการกระทำผิดมาตรา 28 ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เท่านั้น โดยจากการดูระเบียบข้อบังคับพรรคของพรรคก้าวไกลยังไม่ปรากฎการให้หัวหน้าพรรคสามารถลงนามในบันทึกข้อตกลงได้ ซึ่งหากดูตรงนี้ประกอบกันหลายคนอาจคิดไม่ถึงว่าอาจเข้าข่ายการยุบพรรคการเมืองหรือไม่ ตามมาตรา 92(3) พร้อมกับยังระบุว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นข้อต้องห้ามการกระทำของพรรคการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกต.ว่าเห็นสอดคล้องกับที่ตนเห็นหรือไม่
นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า หลักฐานต่างๆที่ได้มานั้นตนได้มาจากนักการเมืองเป็นผู้ให้มา และเมื่อตนได้ข้อมูลมาก็ได้กลั่นกรองแล้ว โดยหากวันนี้ กกต.รับรอง แล้วยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ตนจะขอให้นักการเมืองเมื่อมีการประกาศสมาชิกภาพสามารถร้องตรงไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับกรณีการถือหุ้นของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม คู่ขนานกับการยื่นร้องต่อ กกต. ขณะเดียวกันหากนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี ตนจะบอกไปยังส.ว. จำนวน 1 ใน10 สามารถร้องนายกรัฐมนตรีได้ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ
นายเรืองไกร กล่าวด้วยว่า การยื่นร้องเรียน กกต.ในวันนี้ ไม่ใช่เงื่อนไขให้ ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด เมื่อมีเหตุให้ตรวจสอบตนก็ร้อง แต่เมื่อร้องแล้วจะใช่หรือไม่ใช่ก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งตนยืนยันก่อนหน้าพนักงานสอบสวนว่าการให้การของตนนั้นเป็นไปตามข้อเท็จจริง เพราะหากผลให้การเท็จก็ติดคุก ไม่ใช่เรื่องสนุก หากพบว่าไม่ว่าผู้ใดจะเป็นผู้กระทำความผิดตนก็พร้อมที่จะยื่นเรื่องร้องเรียนทันทีหากมีเรื่องต้องร้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างที่นายเรือนไกรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน นายวรัญชัย โชคชนะ มายืนถือป้ายประกบวงสัมภาษณ์ โดยมีข้อความระบุว่า ขอให้กำลังใจและสนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี อย่าให้เหมือนกรณีนายสมัคร สุนทรเวช ทำกับข้าว และเดินประกบในเรืองไกรพร้อมตะโกน ขณะนายเรืองไกรยื่นเรื่องต่อ กกต.