เปิดตำนานหลุมจอด F-16 ปมสหรัฐ ตีตก F-35 ทัพฟ้า
สหรัฐก็ซีเรียสไม่น้อยในการพิจารณาขาย F-35 ให้แต่ละประเทศ เพราะกังวลเรื่องเทคโนโลยีในเครื่องบินรบจะเล็ดลอดออกไป โดยส่วนใหญ่ที่อนุมัติให้ล้วนเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด และในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ทำเอาลูกทัพฟ้าหมดลุ้น สำหรับการมาเยือนกองทัพอากาศของโรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย ที่เข้าพบ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อแนะนำตัว พร้อมนำข้อความจากเพนตากอน ต่อกรณีคำร้องขอซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 จำนวน 2 ลำ เมื่อปีที่แล้วมาแจ้ง
โดยเนื้อหาสาระสรุปได้ว่า ขอชะลอการซื้อขายเครื่องบินขับไล่ F-35 ไปก่อน โดยให้เหตุผลว่ากองทัพอากาศไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องอาคารสถานที่ การรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะการเก็บรักษาข้อมูลชั้นความลับ ที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งโปรยยาหอมไว้ว่า หากอนาคตมีความพร้อมเมื่อไร ทางสหรัฐยินดีจะขายให้ ในฐานะที่ไทยเป็นพันธมิตรยาวนานมากว่า 190 ปี
ส่วนกองทัพอากาศ ยังสงวนท่าทีชี้แจงประเด็นดังกล่าว เพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยยืนยันจะรอคำตอบ Yes หรือ NO ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสหรัฐ และแม้ผลจะออกมาเป็นลบ ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไรมากนัก เพราะได้เตรียมแผนบริหารความเสี่ยง รองรับเหตุการณ์นี้ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว
ส่วนงบประมาณ 369 ล้านบาท พร้อมส่งคืนสำนักงบประมาณ ตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566
หากย้อนไทม์ไลน์ โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35 เกิดขึ้นในช่วง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ.คนก่อน เพื่อทดแทนเครื่องบินรบของกองทัพอากาศที่มีขีดความสามารถจำกัดในการปฏิบัติการทางอากาศ มีอายุการใช้งานมาอย่างยาวนาน และจะเริ่มทยอยปลดประจำการตั้งแต่ปี 2564-2574
โดยในปี 2575 กองทัพอากาศจะคงเหลือเครื่องบินขับไล่โจมตีต่ำกว่าร้อยละ 50 ซึ่งจะทำให้ขีดความสามารถของกำลังรบทางอากาศลดลง จนไม่สามารถปฏิบัติภารกิจได้ และยังต้องแบกรับภาระการส่งกำลังและซ่อมบำรุงกับเครื่องบินรบจำนวนมาก ที่มีอายุการใช้งานสูงถึง 28-54 ปี
จึงต้องพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์ที่จำเป็นและเพียงพอต่อหน้าที่ในการเตรียมการใช้กำลังทางอากาศ โดยคำนึงถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานภาพงบประมาณของกองทัพอากาศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ รองรับแผนปฏิบัติการของกระทรวงกลาโหมและกองทัพไทย
จึงเป็นที่มากำหนดแผนจัดหาเครื่องบินโจมตีขับไล่รุ่นใหม่ เพื่อทดแทนเครื่องบินรุ่นเก่าที่ล้าสมัย ซ่อมบำรุงยาก และไม่คุ้มค่า รวมถึงไม่ปลอดภัยในการบิน โดยพิจารณาเห็นว่าเครื่องบินขับไล่แบบ F-35 ของสหรัฐ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้ ที่เหมาะกับโลกปัจจุบัน และกองทัพอากาศไทย
จนตกผลึก นำไปสู่การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษา แล้วมอบหมายให้ “บิ๊กป้อม” พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รอง ผบ.ทอ.เป็นประธาน และมี “บิ๊กไก่” พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล เสธ.ทอ. เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตี
โดย พล.อ.อ.นภาเดช มองว่าปัจจุบัน F-35 ราคาลดลงจากเดิม จากช่วงที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ ราคาเครื่องเปล่า 142 ล้านดอลลาร์/เครื่อง เมื่อมีความต้องการและผลิตมากขึ้นทำให้ราคาลดต่ำลง ด้วยกลไกของการตลาดและการเมืองจากการรวมกลุ่มพันธมิตรทำให้ราคาลดลงเหลือ 82 ล้านดอลลาร์/เครื่อง ขณะที่เครื่องบิน Gripen รุ่นใหม่ราคาสูงถึง 85 ล้านดอลลาร์/เครื่อง ดังนั้น F-35 จึงไม่ใช่เครื่องบินที่เราเอื้อมไม่ถึง อยู่ที่การต่อรองราคากับบริษัทให้ได้ราคาต่ำสุด
ต้องยอมรับว่า โครงการ F-35 ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ว่าโอกาสที่สหรัฐจะขายให้กองทัพอากาศไทยแทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะกังวลเรื่องความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่แนบแน่นในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
อีกทั้ง สหรัฐก็ซีเรียสไม่น้อยในการพิจารณาขาย F-35 ให้แต่ละประเทศ เพราะกังวลเรื่องเทคโนโลยีในเครื่องบินรบจะเล็ดลอดออกไป โดยส่วนใหญ่ที่อนุมัติให้ล้วนเป็นประเทศพันธมิตรที่ใกล้ชิด และในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก มีเพียง ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เท่านั้น
ขณะที่ ทอ.ไทย เคยมีประวัติทำให้สหรัฐโกรธควันออกหูมาแล้วเมื่อ 7 ปีก่อน กรณีการแสดงบินผาดแผลง โดยกองทัพอากาศไทยและกองทัพอากาศจีน เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ จ.นครราชสีมา
โดยการบินผาดแผลงในครั้งนั้น ทอ.ไทย ขนเครื่องบิน F-16 ที่รู้กันดีว่าเป็นของค่ายสหรัฐมาแสดงร่วมกับหมู่บินผาดแผลงจากกองทัพอากาศสาธารณรัฐประชาชนจีน August 1st Aerobatic Team จำนวน 6 ลำ นำโดยนักบินผาดแผลงหญิง
หลังงานเสร็จสิ้นงานโชว์ครั้งนั้นไม่นาน กระทรวงกลาโหมสหรัฐส่งหนังสือร้องเรียนมายังกระทรวงกลาโหมไทย ว่า ไทยละเมิดเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะพบข้อมูลว่าในการแสดงบินผาดแผลง ทอ.ไทย ปล่อยให้ช่างเครื่องที่มากับนักบินหญิงผาดแผลงของจีนเข้าใกล้หลุมจอด F-16 ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่ง ทำให้การซื้ออาวุธจากสหรัฐของกองทัพไทยชะงัก นับแต่นั้นมา
ทั้งหมดนี้คงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้สหรัฐปฏิเสธขาย F-35 เครื่องบินรบเจเนอเรชัน 5 เทคโนโลยีล้ำสมัย มีระบบล่องหน บินด้วยความเร็วเหนือเสียง ปิดโอกาสที่จะนำพากองทัพอากาศไทยก้าวผ่านความล้าสมัย ไปสู่ความเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาคอย่างน่าเสียดาย