ชิง‘ปธ.สภาฯ’จุดเปลี่ยนตั้งรัฐบาล ‘ก.ก.-พท.’ ประกาศไม่ปล่อยเก้าอี้อำนาจ
ชิง‘ปธ.สภาฯ’จุดเปลี่ยนตั้งรัฐบาล ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ ประกาศไม่ปล่อยเก้าอี้อำนาจ เป้าหมายสำคัญ ด่านแรก กำหนดเกมโหวตนายกฯ
ตำแหน่ง ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ เพราะจะเป็นคนคุมเกมการเมืองในสภาฯ การจัดสรรเก้าอี้อำนาจ จึงพ่วงเก้าอี้ประธานสภาฯ อยู่ในออฟชั่นของการต่อรองด้วย
ประวัติศาสตร์การเมืองส่วนใหญ่เก้าอี้ “ประธานสภาฯ” จะอยู่ในโควตาของพรรคการเมืองอันหนึ่ง เนื่องจากต้องการกุมอำนาจ “ประมุขฝ่ายบริหาร” และ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” เพื่อให้การบริหารงานมีเอกภาพมากที่สุด
เกือบทุกยุคสมัย “ประธานสภาฯ” จะมาจากพรรคอันดับหนึ่ง อาทิ ปี 2544 นายอุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 248 เสียง)
ปี 2548 นายโภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (พรรคไทยรักไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 377 เสียง
ปี 2551 นายยงยุทธ์ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช (พรรคพลังประชาชนที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 233 เสียง)
ปี 2551 นายชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย นายชัย ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับ ปชป.
ปี 2554 นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย รัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภา 265 เสียง)
มีเพียงปี 2562 นายชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ที่นั่งในสภา 52 เสียง พรรคอันดับ 4 ) รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พรรคพลังประชารัฐ 116 เสียง) โดย “ชวน” จากพรรคประชาธิปัตย์ มีเสียงน้อยกว่าพรรคพลังประชารัฐ
โดยการทำหน้าที่ประธานสภาฯของ “ชวน หลีกภัย” ได้รับการยอมรับอย่างมาก แต่กลับไม่ถูกใจ “บิ๊กพลังประชารัฐ” ในหลายครั้งหลายคราว โดยเฉพาะการบรรจุวาระสำคัญ และการยื่นคำร้องประเด็นต่างๆไปให้ “องค์กรอิสระ” วินิจฉัย
‘ก้าวไกล’วาง 3 วาระผูกเก้าอี้ ปธ.สภา
จึงไม่แปลกที่ “อาจารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกกุล แม้จะมีตำแหน่งเป็นเพียงผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล แต่แวดวงการเมืองรู้กันดีว่า “ปิยบุตร” มีพาวเวอร์ในการขับเคลื่อนพรรคก้าวไกลมากกว่า “แกนนำก้าวไกล” เสียอีก ออกมาโพสต์ ส่งสัญญาณว่าตำแหน่งประธานสภาฯควรเป็นของ “ก้าวไกล” โดยไม่ควรถอยไปมากกว่านี้แล้ว
“ปิยบุตร” รู้ดีว่าหาก “ก้าวไกล” หลงเหลี่ยมการเมือง เสียเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” ย่อมมีโอกาสเสียเก้าอี้ “นายกรัฐมนตรี” ได้เช่นกัน เพราะจะทำให้คู่แข่งเป็นคนกำหนดเกมในสภาฯแทน และจะไม่มีอะไรการันตีว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล จะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เกมเฉือนคม-เกมโดดเดี่ยว “พิธา-ก้าวไกล” อาจจะเกิดขึ้นได้ ภายหลังการโหวตเลือก “ประธานสภาฯ” ขั้วตรงข้ามอาจจะเปิดดีล “เพื่อไทย” และอาจจะมีเงื่อนไขอื่นยื่นตรงต่อ “นายใหญ่-เพื่อไทย” ให้เปลี่ยนใจ เมื่อเกมการเมืองยังยากจะคาดเดา ไม่ผิดที่ “ปิยบุตร” จะหวาดระแวง
อีกทั้งในยุค “ประธาน ชวน” มีกฎหมายหลายฉบับ วาระหารือหลายเรื่อง ถูกดองเก็บเอาไว้ในลิ้นชัก โดยเฉพาะวาระที่เกี่ยวกับ “มาตรา 112” ไม่ผ่านความเห็นของ “ทีมกฎหมาย” ทำให้ “ก้าวไกล” จำเป็นบทเรียนต้องยึดเก้าอี้ประธานสภาฯมาให้ได้
คล้อยหลังความเคลื่อนไหวของ “ปิยบุตร” ไม่ถึง 24 ชั่วโมง เฟซบุ๊ก “พรรคก้าวไกล” โพสต์ข้อความระบุว่า พรรคก้าวไกลเดินทางบนเส้นทางการเมืองไม่ใช่เพื่อตำแหน่งหรืออำนาจ แต่เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มี 3 วาระที่สำคัญมากของพรรคก้าวไกล ที่เราจำเป็นต้องใช้สถานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ในการผลักดัน
วาระแรก เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า วาระที่สอง เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น วาระที่สาม ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
การออกมารับลูก “ปิยบุตร” ของ “ก้าวไกล” ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่ยอมเสียเก้าอี้ประธานสภาฯให้กับพรรคเพื่อไทย ที่ยื่นข้อเสนอขอเก้าอี้ประธานสภาฯ ให้อยู่ในโควตาของเพื่อไทยเช่นกัน
‘ชลน่าน’มั่นใจมีบุคคลเหมาะสม
ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “ตำแหน่งประธานสภาฯ อยู่ที่การตกลงและพูดคุยกันด้วยความเหมาะสม โดยในแต่ละสมัยก็ไม่เหมือนกัน เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่มา 22 ปี มีบุคลากรที่ผ่านการทำงานมาเยอะ เราจะไม่บอกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เรามีบุคลากรพร้อม”
สัญญาณจาก “หมอชลน่าน” บ่งบอกชัดเจนเช่นกันว่า “เพื่อไทย” จะขอท้าชิงเก้าอี้ประธานสภาฯ ในมุมของเพื่อไทยมองว่า เนื่องจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จับจองเก้าอี้ “ประมุขฝ่ายบริหาร” ไปแล้ว ดังนั้นเก้าอี้ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” จึงควรเป็นของพรรคอันดับสอง
ที่สำคัญแรงต่อรองของ “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” ค่อนข้างสูงทั้งสองพรรค เพราะจำนวนเสียงในสภาฯไม่ห่างกันมาก เหมือนการจัดตั้งรัฐบาลครั้งก่อนๆ ก้าวไกล 152 เสียง เพื่อไทย 141 เสียง หากพรรคใดขอถอนตัว ก็ต้องล้มกันทั้งรัฐบาล
ต้องได้เสียงอย่างน้อย 475 เสียง
อย่างไรก็ตาม การเลือก “ประธานสภาฯ” จะต้องได้รับเสียงโหวตจากเสียงข้างมากในที่ประชุมสภาฯ ภายหลังที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างน้อย 95% โดยจะมี ส.ส. เข้าประชุมอย่างน้อย 475 คน
ต้องจับตาว่า “ก้าวไกล” กับ “เพื่อไทย” จะเสนอชื่อแข่งกันหรือไม่ และหากแข่งกันเอง “ขั้วรัฐบาลเดิม” จะโหวตให้คู่ท้าชิงจากพรรคไหน หรือ “ขั้วรัฐบาลเดิม” จะส่งคนชิงเก้าอี้ประธานสภาฯด้วยหรือไม่ ยังต้องวัดใจกันอีกครั้ง
ปมเสี่ยงโหวต “พิธา” นั่งนายกฯ
ขณะเดียวกันการโหวต “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงโหวตจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีเสียงจาก ส.ส. 500 เสียง จาก ส.ว. 250 เสียง โดยพิธาต้องมีเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียง จึงจะได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ทว่าเสียง ส.ส. 8 พรรค รวม 313 เสียง จึงต้องอาศัยเสียงโหวตจาก ส.ว. อีกอย่างน้อย 66 เสียง แต่ในวงเจรจา ส.ว. ยังนับไม่ถึงเสียง ส.ว. ไม่ถึง 30 เสียงด้วยซ้ำ ฉะนั้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของพิธาจึงไม่มีอะไรมาการันตี
หากประธานสภาฯ ในฐานะ“ประธานรัฐสภา” ไม่ใช่คนของก้าวไกล ย่อมไม่เป็นที่ไว้วางใจของ “ขุนพลสีส้ม” อย่างแน่นอน เพราะเกมจะอยู่นอกเหนือการคอนโทรล
ระวัง ‘เพื่อไทย’คอนโทรลเกม
ที่สำคัญหากเก้าอี้ประธานสภาฯ อยู่ในมือของเพื่อไทย แม้จะประกาศเป็นพันธมิตร แต่ยังมีความเสี่ยงสูงไม่น้อย เพราะหากเสียงโหวตพิธาไม่ถึง 376 เสียง เพื่อไทยในฐานะพรรคอันดับสอง จะมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลทันที
และเมื่อเพื่อไทยสามารถคอนโทรลเกมเองได้ ผ่านอำนาจประธานสภาฯ หากการโหวตเก้าอี้นายกรัฐมนตรีภายหลังที่พิธาได้รับเสียงโหวตไม่ผ่านด่าน 376 เสียง เพื่อไทยก็จะสามารถคุมเกมให้โหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคตัวเอง ได้ไม่ยาก
ดังนั้นคีย์แมนของทั้งสองพรรค จำเป็นต้องเดินเกมด้วยความระมัดระวัง ไม่ให้เพลี่ยงพล้ำ เพราะต่างฝ่ายต่างวางเกมเข้าสู่อำนาจ ด้วยการทำให้พรรคของตัวเองกุมความได้เปรียบมากที่สุด
ชนวนร้อนเก้าอี้ “ประธานสภาฯ” จึงเป็นด่านแรกที่จะชี้วัดว่า “รัฐบาลก้าวไกล” จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือจะโดนคว่ำเสียก่อน