ย้อนรอย ‘ฐานทัพอเมริกา’ ในไทย ที่มาที่ไป และผลกระทบที่มากกว่าร่องรอยสงคราม

ย้อนรอย ‘ฐานทัพอเมริกา’ ในไทย ที่มาที่ไป และผลกระทบที่มากกว่าร่องรอยสงคราม

เปิดลิสต์ “8 ฐานทัพอเมริกา” เมื่อครั้งหนึ่งไทยเป็นจุดยุทธศาสตร์-ฐานที่ตั้งทัพทหาร ด้านนักวิชาการชี้ ไม่ใช่แค่เรื่องความมั่นคง แต่อเมริกายังสร้างองค์ความรู้-สถาปนาความเป็น “ชาติ” ของอนุรักษนิยมไทยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

Key Points:

  • ในอดีต ไทยเคยมี “ฐานทัพอเมริกา” จากการขอเข้ามาตั้งฐานทัพเพื่อการทำสงครามกับเวียดนาม ปราบปรามคอมมิวนิสต์ โดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในขณะนั้นต้องการใช้นโยบายต่างประเทศเพื่อเอาตัวรอด และมองว่าคอมมิวนิสต์เป็นภัยคุกคาม
  • การเข้ามาของฐานทัพอเมริกาทิ้งร่องรอยไว้มากมาย ทั้งบาดแผลเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-เวียดนาม และประเทศแถบอินโดจีน ความเสียหายต่อทรัพยากรและเศรษฐกิจ รวมถึงยังมีคาดการณ์ว่า พื้นที่ฐานทัพบางส่วนอาจยังมี “ฝนเหลือง” ตกค้างอยู่ด้วย
  • อเมริกามีส่วนสำคัญในการสร้างฐานคิดความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม แม้ปัจจุบัน ฝั่งอนุรักษนิยมจะออกมาต่อต้านอเมริกาอย่างหนัก แต่ตามประวัติศาสตร์แล้ว ชาติพญาอินทรีกลับมีส่วนสำคัญในการก่อรูปรัฐไทยอย่างมีนัยสำคัญ

 

กระแสข่าวการตั้งฐานทัพอเมริกาในไทยสะพัดขึ้นภายหลังชัยชนะการเลือกตั้งของพรรคก้าวไกล โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนจากศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เข้ายื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยมีใจความสำคัญ คือ เรียกร้องให้อเมริกาหยุดแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ไม่เลือกข้าง และเคารพสถาบันหลักของไทย

จากนั้นไม่นาน “รังสิมันต์ โรม” โฆษกพรรคก้าวไกลได้ออกมายืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง และพรรคเองก็ไม่ได้มีการพูดคุยกับอเมริกาในการเปิดประเทศเพื่อการตั้งฐานทัพแต่อย่างใด

นอกจากนี้ “ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ” ที่ปรึกษานโยบายการต่างประเทศ พรรคก้าวไกล ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า พรรคก้าวไกลไม่เคยมีการพูดถึงการตั้งฐานทัพอเมริกา และส่วนตัวมองว่า ทางประเทศต้นทางก็ไม่ได้มีความต้องการด้วย เพราะต้องใช้งบประมาณค่อนข้างมาก และประเทศไทยก็ไม่ได้มีปัญหาด้านความมั่นคงในลักษณะนั้น

แม้การตั้งฐานทัพอเมริกาดูจะเป็นการสร้างความหวาดกลัวให้กับฝั่งอนุรักษนิยม แต่หากไล่เรียงข้อมูลทางประวัติศาสตร์ดูแล้วจะพบว่า สหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1950 กลับมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการก่อร่างฐานคิด-ค่านิยมความเป็นไทยไว้มากมาย ตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ในการเข้าไปทำการสำรวจในชุมชน-ชนบทห่างไกล การเมือง วัฒนธรรม ไปจนถึงโลกวิชาการไทยด้วย

 

  • ที่มาที่ไปและการเกิดขึ้นของ “ฐานทัพอเมริกา”

สิ้นเสียงระเบิดปรมาณูบนเกาะฮิโรชิมะและเมืองนางาซากิ “สหรัฐอเมริกา” ผงาดเป็นผู้นำโลก และตัดสินใจดำเนินนโยบายปิดล้อม เพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในประเทศแถบอินโดจีนทันที โดยหลังจากญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความย่อยยับอย่างโหดร้าย “จีน” ภายใต้การนำของ “เหมา เจ๋อตง” สามารถสถาปนาระบบสังคมนิยมได้สำเร็จ ทำให้อเมริกาตัดสินใจรีบเข้ามาขยายอิทธิพลแถบเอเชียเพื่อป้องกันการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ โดยอเมริกาเชื่อเหลือเกินว่า หากปล่อยให้จีนครอบงำ และมีประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคเดียวกันเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นๆ ก็จะทยอยเปลี่ยนแปลงการปกครองตามไปด้วย

ย้อนรอย ‘ฐานทัพอเมริกา’ ในไทย ที่มาที่ไป และผลกระทบที่มากกว่าร่องรอยสงคราม

โดยสถานการณ์ในตอนนั้น นอกจากเวียดนามเหนือ นำโดย “เวียดมิณห์” จะเอาชนะกองทหารฝรั่งเศสได้สำเร็จ ลาวและกัมพูชาเองก็มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นเช่นกัน อเมริกาเห็นประเทศไทยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่คอมมิวนิสต์ แต่ก็กลัวว่า อาจเกิดขึ้นในสักวันเพราะรายล้อมไปด้วยลาว เวียดนาม และกัมพูชา จึงดำเนินยุทธศาสตร์ด้วยการให้ความช่วยเหลือกับไทยอย่างเต็มที่ ทั้งเงินทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) มากมาย รวมถึงการขอเข้ามาตั้งฐานทัพในไทยถึง 8 แห่ง

ประเทศไทยในรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายหลังจากการรัฐประหาร “ปรีดี พนมยงค์” ก็เกิดความหวาดกลัวเพราะขั้วอำนาจของตนยังไม่แข็งแรงมากนัก คณะรัฐบาลจอมพล ป. จึงตัดสินใจใช้นโยบายการต่างประเทศเป็นหนทางเอาตัวรอด มองว่าระบบคอมมิวนิสต์จะเป็นตัวบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง จึงนำประเทศไทยเข้าไปผูกพันกับอเมริกาอย่างเหนียวแน่น อเมริกาที่มีเงินทุนพรั่งพร้อมและต้องการขึ้นเป็นมหาอำนาจของโลก จึงอัดฉีดทั้งเงินทุนสนับสนุนด้านเศรษฐกิจและการทหาร

ภายใต้ฉากหน้าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ ประชาชนพึงพอใจกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่มากขึ้น อีกด้านหนึ่ง “ไทย” ก็ได้กลายเป็นสนามรบระหว่างอเมริกาและเวียดนามทันที โดยก่อนหน้าที่อเมริกาจะเข้ามาใช้พื้นที่ในไทยเป็นฐานทัพ อเมริกาได้ใช้วิธีส่งกำลังทหารมาทำลายกองกำลังคอมมิวนิสต์เรื่อยๆ ซึ่งมีการประเมินว่า จำนวนทหารที่ส่งมามีมากถึงครึ่งล้านทีเดียว นั่นจึงทำให้ค่าใช้จ่ายในการสู้รบแต่ละครั้งมีจำนวนไม่น้อย

เมื่อเล็งเห็นประเทศไทยที่มีภูมิรัฐศาสตร์พร้อมรบ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการส่งทหารมาแต่ละครั้งได้ ไทยจึงได้รับบทบาทผู้ให้บริการ 3 ด้าน ได้แก่

  1. การให้ที่ตั้งฐานทัพ
  2. ที่ตั้งอุปกรณ์สืบราชการลับ
  3. ศูนย์พักผ่อนและพักฟื้นของทหารอเมริกัน

ทางการไทยอนุญาตให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพได้ทั้งหมด 8 แห่ง ได้แก่

  1. ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพมหานคร (พ.ศ.2504-2513)
  2. ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์ (พ.ศ.2504-2514)
  3.  ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา (พ.ศ.2505-2518)
  4. ฐานทัพเรือนครพนม จ.นครพนม (พ.ศ.2505-2519)
  5. ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น (พ.ศ.2505-2509)
  6. ฐานทัพอากาศอุดร จ.อุดรธานี (พ.ศ.2507-2519)
  7. ฐานทัพอากาศอุบล จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.2508-2517)
  8. สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา จ.ระยอง (พ.ศ.2508-2519)

 

ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของการทิ้งระเบิดในเวียดนาม มาจากกองกำลังทหารอเมริกาในฐานทัพไทย โดยรัฐบาลไทยได้ส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับทหารอเมริกันอีกราว 11,000 คน

อย่างไรก็ตาม เมื่อสงครามเวียดนามยุติลงจากการลงนามข้อตกลงปารีสเมื่อปี ค.ศ.1973 ในเวลาต่อมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงในแง่ความสัมพันธ์กับประเทศแถบอินโดจีนโดยเฉพาะเวียดนาม รัฐบาลหลังจากนั้นต้องเผชิญกับแรงเสียดทานด้านการต่างประเทศกับเพื่อนบ้าน หลังการสรุปบทเรียนเสร็จสิ้นลง “สงครามเวียดนาม” นับเป็นสมรภูมิที่เลวร้ายและไร้ซึ่งความชอบธรรมอย่างถึงที่สุด เวียดนามกลายเป็นหนึ่งในหมากของ “สงครามตัวแทน” ที่อเมริกาใช้เป็นเครื่องมือช่วงชิงอำนาจความเป็นหนึ่ง ทั้งยังสร้างผลกระทบ-ทิ้งร่องรอยสงครามในพื้นที่ไว้มากมาย

ย้อนรอย ‘ฐานทัพอเมริกา’ ในไทย ที่มาที่ไป และผลกระทบที่มากกว่าร่องรอยสงคราม

 

งานวิจัยเรื่อง “ผลกระทบของฐานทัพสหรัฐอเมริกาต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของเมืองอุดรธานี พ.ศ.2505-2520” โดยพงษ์ศักดิ์ ปัตถา ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นภายหลังจากกองกำลังทหารอเมริกาถอนทัพออกไป มีตั้งแต่ความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในบริเวณฐานบินที่ทางการไทยยังไม่ได้มีการจัดตั้งงบประมาณและผู้รับผิดชอบ รัฐบาลต้องเร่งฟื้นตัวเศรษฐกิจท้องถิ่นโดยรอบซึ่งรายได้หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากทหารอเมริกันถอนกำลังออกไป เงินดอลลาร์สหรัฐที่เคยหมุนเวียนในระบบหดหายกะทันหัน ลูกจ้างและเจ้าของกิจการต้องประสบกับปัญหาตกงานและล้มเลิกกิจการ กิจการบ้านเช่า ไนต์คลับ โรงแรม บังกะโล รับเหมาก่อสร้าง ได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน

 

  • มากกว่าร่องรอยสงคราม คือมรดกทางความคิดแบบ “อเมริกัน”

อเมริกาไม่ได้แผ่ขยาย อำนาจทางการทหาร (Hard Power) เท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของ อำนาจละมุน (Soft Power) ที่เริ่มทำอย่างจริงจังในช่วงทศวรรษ 1950 เก่งกิจ กิติเรียงลาภ” ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้ว่า การเข้ามาของอเมริกันในช่วงสงครามเย็นมีส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจที่เรามีต่อสังคมไทยอย่างมีนัยสำคัญ เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการสำรวจหมู่บ้านชนบท

ก่อนหน้านี้ ไทยไม่เคยมีแผนที่ที่มีความละเอียดในระดับที่เห็นที่ตั้งบ้านเรือนชุมชน แต่แผนที่ที่ใช้ในยุคสงครามเย็น มีการใช้เครื่องบินทหารขึ้นไปถ่ายเหนือระดับน่านฟ้า และนำรูปถ่ายเข้าแล็บที่ฟิลิปปินส์ หากไม่มีแผนที่ที่มีความละเอียดระดับนี้ นักมนุษยวิทยาในยุคนั้นก็ไม่สามารถศึกษาหมู่บ้านได้ นั่นคือจุดตั้งต้นแรกที่อเมริกาเข้าถึงในสิ่งที่รัฐไทยไม่เคยทำได้มาก่อน

หากถามว่า การเข้าสำรวจพื้นที่ห่างไกลแบบนี้มีความสำคัญและเชื่อมโยงกับความเข้มข้นของอนุรักษนิยมอย่างไร คำตอบ คือ ในช่วงทศวรรษดังกล่าว ผู้คนตามหมู่บ้านชุมชนมีความห่างไกลกับอำนาจรัฐอย่างมาก โดยอเมริกาพบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2490 คนอีสานไม่ได้อ้างอิงความเป็นไทยแบบที่เราเข้าใจอย่างทุกวันนี้ เขาไม่ได้มีสำนึกความเป็นไทยแบบคนเมือง และไม่รู้จักสมาชิกราชวงศ์ด้วยซ้ำไป

ย้อนรอย ‘ฐานทัพอเมริกา’ ในไทย ที่มาที่ไป และผลกระทบที่มากกว่าร่องรอยสงคราม

ในเวลานั้น อเมริกาต้องการป้องกันคอมมิวนิสต์จากทุกทาง โดยเฉพาะทางภาคเหนือ อีสาน และใต้ ที่คอมมิวนิสต์อาศัยเส้นทางธรรมชาติเข้ามาได้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่อเมริกาเริ่มแผ่ขยาย “ซอฟต์ พาวเวอร์” ในการอัดฉีดเงินทุนการศึกษา ส่งนักมานุษยวิทยาเข้าไปเดินสำรวจพื้นที่ตามหมู่บ้านและชนบทจากแผนที่ที่ถ่ายภาพมาได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ

อเมริกาคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้คำว่า “ชาติ” ของรัฐไทยแข็งแรงเข้มข้นขึ้น ซึ่งเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากความตั้งใจในการแย่งชิงมวลชนจากคอมมิวนิสต์นั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ภาพจำของชนบทจากมุมมองของคนเมือง ยังเต็มไปด้วยสีสันที่แต่งแต้มขึ้นจากความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ซึ่งตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน เก่งกิจอธิบายว่า ลองคิดถึงเวลาเด็กๆ วาดภาพส่งครู เมื่อให้จินตนาการถึงความเป็นไทยทุกคนจะมีภาพในหัวแบบเดียวกันหมด คือ กระท่อม ภูเขา แสงแดด ควาย 1 ตัว นก 1 ฝูง มีบ่อเลี้ยงปลาอยู่ด้านข้าง เราเป็นเด็กในเมือง แต่ทำไมจึงมีภาพจำ-จินตนาการความเป็นไทยแบบเดียวกันหมด นี่คือมรดกจากอเมริกาในยุคสงครามเย็นที่เข้มข้นมาก 

ภาพของชนบทที่ดูหน้าตาสวยงาม ผู้คนจิตใจดีเช่นนี้ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกใช้เพื่อการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนักในยุคนั้น หลังการเกิดขึ้นของสงครามเวียดนามอเมริกาพบว่า ชนบทไม่ได้สวยงามเหมือนที่คิด แต่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เรียกร้อง ต่อต้าน นี่จึงเป็นที่มาของแหล่งเงินทุนและการเร่งเข้าไปพัฒนาหน่วยงานต่างๆ ในไทย เพื่อทำให้ผู้คนมีสำนึกแบบเดียวกัน มีความเจริญเข้าไปจะช่วยลดแรงต้านจากพื้นที่ห่างไกลได้

ฉะนั้น ภาพการออกมาต่อต้านอเมริกาของกลุ่มคนจำนวนหนึ่งในปัจจุบัน จึงค่อนข้างขัดแย้งและสวนทางกับความเป็นพันธมิตรอันแน่นแฟ้นของ “ไทย-อเมริกา” ในอดีต คงเหลือไว้เพียงความสัมพันธ์ “ไทย-จีน” ในปัจจุบัน

 

อ้างอิง: MatichonPrachataiSUSilpa-MagMCOTWiki.KpiTODAYYouTube