‘ก้าวไกล’ 100 วันแรกแก้กฎกระทรวงฯ ดัน สุราไทย สู่เวทีโลก สร้างความเท่าเทียม
เครือข่ายสุราท้องถิ่นไทย ยื่นหนังสือ ‘ก้าวไกล’ หนุนผลักดัน สุราก้าวหน้า วอน ส.ว.ช่วยโหวตเป็นนายกฯ ชี้ต้องฟังเสียงประชาชน ‘พิธา’ เตรียมดัน สุราไทย สู่เวทีโลก 100 วันแรกลุยแก้กฎกระทรวงฯป้องกีดกัน สร้างความเท่าเทียม
เมื่อเวลา 13.05 น. วันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ว่าที่ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล แถลงภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายสุราท้องถิ่นไทย และสมาคมคราฟท์เบียร์ไทย เกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล และการผลักดัน สุราก้าวหน้า
โดยนายพิธา กล่าวว่า ขอให้เครดิตเครือข่ายภาคประชาชน และคราฟเบียร์ที่เห็นตรงกันกับพรรคก้าวไกล ที่อยากเปลี่ยนสินค้าการเกษตรมาเป็นโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นนโนบายเพิ่มผู้ผลิตมากกว่าเพิ่มผู้บริโภค และจะต้องมีการแก้กฎหมาย เพื่อส่งเสริมเรื่องการผลิต การส่งออก สุราไทย โดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญด้วย
ส่วนนายสมบุรณ์ แก้วเกรียงไกร นายกสมาคมสุราท้องถิ่นไทย กล่าวว่านโยบายสุราก้าวหน้า ทำให้ผู้ผลิตสุรารายย่อยมีความหวัง ซึ่งอดีตมีเฉพาะกลุ่มทุนผูกขาด แต่เมื่อทางพรรคก้าวไกลมีนโยบายนี้ ทางผู้ผลิตสุราชุมชนจึงรู้สึกโดนใจต่อนโยบาย วันนี้จึงมาอ้อนวอนขอให้ ส.ว. ตนขอกราบเลยก็ได้ให้ช่วยสนับสนุนพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ เพราะนี่คือความหวังเดียวของผู้ผลิตสุรารายเล็ก เป็นโอกาสในการสร้างอาชีพให้กลุ่มรากหญ้า
ขณะที่ นายศุภพงษ์ พรึงลำภู ตัวแทนสมาคมคราฟท์เบียร์ไทย กล่าวว่า เราทำงานร่วมกับพรรคก้าวไกลมา 3 ปีแล้ว เห็นว่าพรรคก้าวไกลมีความจริงในการแก้ปัญหาการผูกขาด จึงขอให้ทุกท่านช่วยสนับสนุนพรรคก้าวไกลให้จัดตั้งรัฐบาลได้โดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็น ส.ว. หรือ ส.ส. ถึงไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่ขอให้นึกถึงเสียงของประชาชน
เมื่อถามว่า ในโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์การนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด แต่สนับสนุนสุราก้าวหน้า นายพิธา กล่าวว่า คิดว่าทั้งสองอย่างมีทั้งประโยชน์และโทษ ไม่มีอะไรเสรีจริง ทุกอย่างต้องควบคุมให้เหมาะสม สุราเราไม่ได้ต้องการให้บริโภคเพิ่มขึ้นในประเทศ แต่ต้องการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ และเป็นทางเลือกมากขึ้นภายในประเทศ โดยที่นักท่องเที่ยวจะได้รับอรรถรสเพิ่มขึ้น และจะให้สินค้ากระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อผู้นำประเทศต่างๆมาที่ประเทศไทย จะได้ไม่ต้องใช้ไวน์จากต่างประเทศในการต้อนรับ แต่จะใช้สินค้าของไทยในการต้อนรับ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเท่าเทียมของผู้ผลิตทั้งรายเล็ก และรายใหญ่
เมื่อถามว่า ต้องยกเลิกกฎกระทรวงหรือไม่ นายพิธา กล่าวว่า ต้องแก้กฎกระทรวงการคลังเพื่อไม่ให้มีการกีดกัน และให้เกิดความเท่าเทียม แต่ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จะต้องพิจารณาอีกครั้ง นี่คือกระดุมเม็ดแรก นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการห้ามโฆษณา เรื่องที่เกี่ยวกับกระทรวงต่างๆ ทั้งสาธารณสุขวัฒนธรรม ศึกษาธิการ และอุตสาหกรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง ตนตั้งใจแก้ให้ได้ช่วง 100 วันแรกของการเป็นรัฐบาล ซึ่งการแก้กฎกระทรวง และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำได้ทันทีในขั้นแรก