ยิ่งตั้งรัฐบาลช้า ยิ่งเสียโอกาส“เศรษฐกิจ”
ยิ่งขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลช้า รวมถึงสัญญาณความสามัคคีของขั้วการเมืองออกมาใน ‘มุมลบ’ ยิ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เดินตามโลกไม่ทัน และ..เสียโอกาส
ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาล ยังคงดำเนินต่อไป ท่ามกลางความคาดหวังของภาคประชาสังคม ประชาชน ธุรกิจ ที่ต้องการเห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล และเร่งดำเนินนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน
แม้กรอบเวลาจะยังอยู่ในไทม์ไลน์ของการจัดตั้งรัฐบาล แต่ต้องยอมรับว่า ขั้นตอนที่ช้า บวกกับปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ระหว่างขั้วพรรคการเมืองที่จะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ไม่ได้ส่งสัญญาณสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคประชาชน สังคม และภาคธุรกิจสักเท่าไหร่นัก
ภาคธุรกิจ นักวิชาการต่างๆ ก็เริ่มแสดงความกังวล ถึงความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะเปราะบาง มีความไม่แน่นอนสูง กระทบไปยังนโยบายการเงินการคลังของทั่วโลก ที่ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความผันผวน
การทอดเวลาจัดตั้งรัฐบาลนานขึ้น หากเศรษฐกิจโลกเกิดภาวะถดถอยขึ้นมาอย่างฉับพลัน ประเทศไทยจะลำบาก
หากดูตามไทม์ไลน์ประเทศไทยจะได้รัฐบาลใหม่ช่วงเดือน ส.ค.และระหว่างนี้ก็ปรากฏสัญญาณความไม่แน่นอนว่าจะได้รัฐบาลใหม่จริงหรือไม่
หากตั้งรัฐบาลไม่ทันตามกรอบเวลา (ที่ช้าอยู่แล้ว) และทอดเวลาลากยาวต่อไปอีก ย่อมกระทบต่อการจัดทำนโยบาย การเบิกจ่ายงบประมาณ การกำหนดมาตรการเร่งด่วนต่างๆ ที่ต้องอาศัยรัฐบาลตัวจริง ที่ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ โดยเฉพาะมาตรการที่ต้องช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ยิ่งล่าช้า ยิ่งกระทบลากยาว
แม้เวิลด์แบงก์ จะออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวหลังโควิดเป็นประเทศแรกๆ ในโลก แต่อาจไม่ได้ฟื้นตัวอย่างโดดเด่นมาก เป็นการค่อยๆ ฟื้นตัว
ปี 2565 เมื่อเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้รายได้ของรัฐบาลดีขึ้นกว่าช่วงปี 2563-2564 ที่รายได้ไม่เข้าเป้า เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจหดตัวจากผลของโควิด
เวิลด์แบงก์ แนะ ประเทศไทยว่าการใช้นโยบายการคลังในระยะต่อไปนี้ ควรเป็นการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางไม่ควรเป็นนโยบายการคลังแบบเหวี่ยงแห เนื่องจากรัฐบาลมีภาระที่จะต้องจัดสรรงบประมาณในหลายเรื่อง
ขณะที่ การใช้จ่ายภาครัฐ เวิลด์แบงก์แนะว่า อยากให้รัฐบาลไทยมุ่งไปที่การแพทย์สาธารณสุข เพราะจากนี้ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า อนาคตจะเจอโรคระบาดอีกหรือไม่ เช่นเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพระบบเศรษฐกิจ เพิ่มคุณภาพแรงงาน รวมถึงเรื่องการศึกษาที่ต้องมีการปรับเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ จะเห็นว่า มีภาระหน้าที่มากมายเหลือเกินที่รอการมาของ ‘รัฐบาลใหม่’
ยิ่งขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาลช้า รวมถึงสัญญาณความสามัคคีของขั้วการเมืองออกมาใน ‘มุมลบ’ ยิ่งทำให้ประเทศตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เดินตามโลกไม่ทัน และ..เสียโอกาส