"ก้าวไกล" หรือ "เพื่อไทย" ใครตั้งรัฐบาล?

"ก้าวไกล" หรือ "เพื่อไทย" ใครตั้งรัฐบาล?

“ฉากทัศน์การเมือง” ที่เดิมพันด้วย "เก้าอี้ประธานสภา" และ "นายกฯ" จับตา "ก้าวไกล" -"เพื่อไทย" ใครคือผู้คุมเกมตัวจริง

หัวเรื่องที่ตั้งไว้ข้างบน เข้าใจว่าเป็นคำถามที่ถามกันมากที่สุดในยามนี้ สำหรับท่านที่สนใจข่าวสารบ้านเมือง โดยเฉพาะข่าวสารการเมือง

โดยเฉพาะคนที่เอาใจช่วยก้าวไกล และคนที่ไม่อยากให้ก้าวไกลได้มีอำนาจ จะสนใจไถ่ถามมากที่สุด

บทความนี้คงไม่ย้อนเรื่องราวที่คาดว่าจะเป็นอุปสรรคขวากหนามต่อการขึ้นเป็นผู้นำประเทศคนที่ 30 ของ “ว่าที่นายกฯพิธา” แต่จะขอมองไปข้างหน้านับจากนี้เลยว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

เท่าที่ทราบ แกนนำพรรคก้าวไกลได้ประเมินสถานการณ์การเมืองในระยะต่อไป และยอมรับความจริงระดับหนึ่งว่า มีแนวโน้มที่ “ว่าที่นายกฯพิธา” จะได้เป็นแค่ “ว่าที่นายกฯจริงๆ” เพราะปัญหาเรื่องหุ้นไอทีวี ซึ่งล่าสุดมีข่าวว่า กกต.เรียก คุณเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้ยื่นคำร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เข้าให้ถ้อยคำเพิ่มเติมกับ กกต.แล้ว

\"ก้าวไกล\" หรือ \"เพื่อไทย\" ใครตั้งรัฐบาล?

เป็นจังหวะเดียวกันกับวันนี้ (จันทร์ที่ 29 พ.ค.) จะมีการซ้อม “รัฐพิธี” เปิดประชุมรัฐสภา สอดรับกับข่าวที่ว่า กกต.น่าจะใช้เวลาในการรับรอง ส.ส.ไม่ยืดเยื้อยาวนานเต็มแม็กซ์ถึง 2 เดือนตามที่หลายคนคาดการณ์

เมื่ออนาคตคือความไม่แน่นอน พรรคก้าวไกลจึงเตรียมแผน 2 เอาไว้ นั่นก็คือ เสียเก้าอี้ประธานสภาไม่ได้ เพราะมิฉะนั้นพรรคจะไม่ได้อะไรเลย ทั้งๆ ที่เป็นพรรคที่ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 จึงต้องรั้งตำแหน่งประมุขอย่างน้อยหนึ่งใน 3 อำนาจอธิปไตยเอาไว้ หากไม่ได้ประมุขฝ่ายบริหาร คือนายกฯ ก็ต้องได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือประธานสภา

\"ก้าวไกล\" หรือ \"เพื่อไทย\" ใครตั้งรัฐบาล?

ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลก็ยอมถอยสุดซอย โดยนำกระทรวงเกรด A++ ไปแลกกับพรรคเพื่อไทย เพื่อให้พรรคก้าวไกลได้ตำแหน่งประธานสภา

ผลอีกด้านหนึ่งก็เพื่อ “ผูกขา” พรรคเพื่อไทยเอาไว้ เพราะหากสถานการณ์การเมืองพลิกผัน ว่าที่นายกฯพิธา สะดุดจากอุบัติเหตุทางการเมือง ไปไม่ถึงเก้าอี้ผู้นำ พรรคก้าวไกลก็ยังขอคงสถานะ “พรรคร่วมรัฐบาล” เอาไว้ โดยเปิดทางให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ

สถานะนี้ จะว่าไปก็เป็นแผนเดิมก่อนเลือกตั้งของก้าวไกล เพราะคนในพรรคไม่ได้คาดว่าจะสร้างเซอร์ไพรส์ ชนะมาเป็นพรรคอันดับ 1 แบบนี้ เพราะพรรคก้าวไกลต้องการเป็นรัฐบาล เพื่อสร้างผลงานด้านการบริหารจริงๆ เสียที หลังจากโชว์ฟอร์มฝ่ายตรวจสอบในสภามา 4 ปีแล้ว

ที่สำคัญ ผู้บริหารพรรคชุดนี้ก็มีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะได้เป็นรัฐบาล หากรออีก 4 ปี แกนนำชุด 1 แถวแรกบางส่วนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองจะได้กลับมา ก็จะทำให้แกนนำปัจจุบันหมดสิทธิยืนแถวหน้าอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น การเลือกตั้งหนนี้ พรรคก้าวไกลทำเซอร์ไพรส์ ชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 หนำซ้ำยังสร้างฐานผู้สนับสนุนได้จำนวนมากและแข็งแกร่ง โอกาสแบบนี้อาจไม่วนกลับมาอีก เพราะความสำเร็จในแบบ “โลกยุคใหม่ - เทคโนโลยีสมัยใหม่” มาเร็วเท่าไร ก็อาจเปลี่ยนแปลงผันแปรได้เร็วเท่านั้น

\"ก้าวไกล\" หรือ \"เพื่อไทย\" ใครตั้งรัฐบาล?

ด้วยเหตุนี้จึงต้องเร่งผลักดันสิ่งที่คิด นโยบายที่ฝัน ให้เกิดขึ้นจริงมากที่สุด...ทั้งหมดนี้เป็นมุมคิดของก้าวไกล

แต่ในมุมของเพื่อไทย คำถามคือ คิดแบบเดียวกับก้าวไกลหรือไม่?

คำตอบคือ เพื่อไทยมองต่าง โดยพวกเขามองว่าเขาเป็นพรรคอันดับ 2 ก็จริง แต่ก็ได้ ส.ส.น้อยกว่าก้าวไกลแค่ 10 ที่นั่ง และ ส.ส.เขตก็ได้เท่ากัน ต่างกันแค่ปาร์ตี้ลิสต์

เพื่อไทยมองว่าพรรคของตนมีบุคลากรที่มีประสบการณ์มากกว่าในทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินประสบความสำเร็จมาก่อน

เพื่อไทยยังเขี้ยวเกมการเมืองมากว่า และมีพันธมิตรทางการเมืองมากกว่าพรรคก้าวไกล ซึ่งหามิตรแท้ทางการเมืองยากจริงๆ

ฉะนั้นจุดเปลี่ยนจึงอยู่ที่เก้าอี้ประธานสภา หากเพื่อไทยหักก้าวไกล โดยมีการเสนอชื่อคนของพรรคเพื่อไทยชิงตำแหน่งประธานสภา และมีการโหวตลงคะแนนลับกัน / จะกลายเป็นจุดพลิกผันของพรรคแกนนำรัฐบาลทันที

\"ก้าวไกล\" หรือ \"เพื่อไทย\" ใครตั้งรัฐบาล?

เพราะต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าวงประชุมวันที่ 30 พ.ค.จะตกลงกันอย่างไร เพื่อไทยจะยอมถอยจากเก้าอี้ประธานสภาหรือไม่ แต่เมื่อถึงวันประชุมจริง ข้อบังคับการประชุมสภาให้สิทธิสมาชิกเสนอชื่อ ส.ส.คนใดก็ได้ โดยมี ส.ส.รับรองแค่ 20 คนเท่านั้น

ข่าวว่า ส.ส.จากพรรคร่วมฝ่ายค้านเดิม อาจจะพลังประชารัฐ น่าจะชิงเสนอคนของเพื่อไทยชิงตำแหน่งประธานสภา ซึ่งเรื่องนี้ก็มีข่าว “ดีลลับ” กันเรียบร้อยแล้ว

หากเป็นเช่นนั้น ก็กลายเป็นเกมบังคับให้พรรคเพื่อไทยโหวตสนับสนุนคนของตนเอง ไม่โหวตหนุนคนของก้าวไกล ผลก็จะทำให้พรรคก้าวไกลมีเสียงสนับสนุนเหลือแค่ 171 เสียง ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (312-141 = 171) ตัวเลขนี้คิดจากฉากทัศน์ที่ว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นอีก 6 พรรคไม่แตกแถวเลย

หากเพื่อไทยมีดีลลับนอกสภา หรือดีลสนามกอล์ฟที่มีการลือกัน ก็จะได้เสียงสนับสนุนจากทางฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมาเติมให้ เอาแค่ 2 พรรค คือ ภูมิใจไทย กับพลังประชารัฐ (มีข่าวจะยกเลิกกิจการพรรค เพื่อไหลรวมกับเพื่อไทย ให้ “บิ๊กป้อม” วางมือ) ก็จะได้เสียงเติม 111 เสียง (71 + 40 = 111) เมื่อรวมกับเสียงของเพื่อไทย 141 เสียง จะเท่ากับ 252 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร

นี่ยังไม่นับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมพรรคอื่นๆ ที่ดีลไว้กับเพื่อไทยตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้ว เช่น พรรคชาติไทยพัฒนา อีก 10 เสียง และมีข่าวประชาธิปัตย์ดอดไปคุยกับเขาด้วย

สถานการณ์ก็จะพลิกไปเป็นว่า พรรคเพื่อไทยต่างหากที่รวมเสียงข้างมากในสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎรได้ ซึ่งพรรคการเมืองอีกหลายพรรคเคยประกาศไว้ว่า พร้อมสนับสนุนพรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ เช่น ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ชาติไทยพัฒนา

ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยก็จะมีสถานะเป็น “พรรคแกนนำพรรคใหม่” ในการจัดตั้งรัฐบาลทันที และเดินหน้าเสนอแคนดิเดตนายกฯของตนให้รัฐสภาโหวตเลือก

\"ก้าวไกล\" หรือ \"เพื่อไทย\" ใครตั้งรัฐบาล?

นี่คือฉากทัศน์หนึ่งในทางการเมืองที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงมาก

และยังมีอีกฉากทัศน์หนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ ก็คือ หากเพื่อไทยยังไม่หักก้าวไกลในทันที โดยเรามองข้ามไปเลยว่า พรรคไหนจะได้เก้าอี้ประธานสภาไปก็ตาม แต่หากไทม์ไลน์ล่วงเลยไปถึงช่วงที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคดีหุ้นไอทีวี แล้วสั่งให้ คุณพิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ (ขณะนั้นน่าจะรับรองคุณพิธาเป็น ส.ส.แล้ว คำสั่งของศาลก็จะพอสมควรแก่เหตุ) ก็จะทำให้การโหวตแคนดิเดตนายกฯมีปัญหา เพราะ ส.ว.ก็จะไม่โหวตให้คุณพิธา เนื่องจากมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติอยู่ (ศาลยังไม่ชี้ว่าผิด แค่หยุดปฏิบัติหน้าที่)

หากสถานการณ์ไปถึงจุดนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะมีความชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแทน ในฐานะ “พรรคอันดับ 2” ด้วยเหตุผลที่ว่า หากปล่อยเนิ่นช้าไป จะทำให้ประเทศไม่มีรัฐบาล ส่งผลเสียหายต่อบ้านเมือง

นี่คือ “ฉากทัศน์การเมือง” ที่มองต่างกันระหว่างก้าวไกล กับเพื่อไทย คล้ายๆ “สองคนยลตามช่อง” โดยมีเก้าอี้ประธานสภา และนายกฯเป็นเดิมพัน ส่วนใครจะได้เห็นโคลนตม ใครจะได้เห็นแสงดาวพราวแพรว...ต้องรอดู!