เปิดประวัติ ‘วันนอร์’ นักการเมืองรุ่นเก๋าผู้ไม่เคยตกกระแส
“วันนอร์” หรือ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นนักการเมืองอีกคนหนึ่งที่กำลังถูกพูดถึงไม่แพ้นักการเมืองหน้าใหม่ ชวนเปิดประวัติ “อาจารย์วันนอร์” ผู้เก๋าเกมในวงการการเมืองทุกยุคทุกสมัย และผ่านบทบาทหน้าที่มากมายจนนับไม่ถ้วน
Key Points:
- ไม่ใช่แค่อดีตประธานรัฐสภา แต่ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หรือ วันนอร์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองมาแล้วหลายตำแหน่ง ในหลายรัฐบาล
- ก่อนเข้าสู่วงการการเมือง วันนอร์ ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงการศึกษาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย จนเข้าสู่วัยทำงาน
- ครั้งหนึ่งในขณะที่ทำงานการเมือง วันนอร์ เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองนานถึง 5 ปี จากคดียุบพรรคการเมือง
“ผมอยากจะวิงวอนกับทุกฝ่าย โปรดให้โอกาส ท่านอาจจะไม่พอใจว่าได้ 100% หรือความต้องการของท่านเต็มบ้าง ไม่ได้เต็มบ้าง ผมอยากจะวิงวอนว่าการเจรจา การทำงานใดๆ นั้น ไม่มีใครได้ 100% มันต้องมีการถอยคนละก้าว เพื่อก้าวไปข้างหน้า อย่างมั่นคง”
นี่คือวลีส่วนหนึ่งจากคำพูดของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา (วันนอร์) หัวหน้าพรรคประชาชาติในการลงนาม MOU ร่วมกับว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลก้าวไกล เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถูกพูดถึงและกลายเป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียล
หากพูดถึงหนึ่งในนักการเมืองไทยที่อยู่ในวงการมาอย่างยาวนานหลายยุคหลายสมัย ชื่อของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่า อาจารย์วันนอร์ คงเป็นชื่อที่คุ้นหูและได้รับการพูดถึงบ่อยครั้ง เนื่องจากท่านเข้าสู่วงการการเมืองมาตั้งแต่ปี 2522 และดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็น “ประธานรัฐสภา” ซึ่งถือเป็นนักการเมืองชาวมุสลิมคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ ไปจนถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 2 สมัย และรองนายกรัฐมนตรี
เรื่องราวของ “วันนอร์” นั้น มีมากกว่าการดำรงตำแหน่งทางการเมือง และพรรคประชาชาติที่เขาเป็นหัวหน้าพรรคนั้น แม้ว่าจะเป็นพรรคที่ก่อตั้งเมื่อปี 2561 แต่เป็นพรรคการเมืองที่ครองเสียงของประชาชนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาตลอด โดยเฉพาะความนิยมใน “กลุ่มวาดะห์” หรือ กลุ่มเอกภาพ ซึ่งเป็นชื่อกลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่เคยทรงอิทธิพลเป็นอย่างมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้ว่าวันนอร์จะเป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองอาวุโส แต่ก่อนที่จะเข้ามาสู่วงการนี้เขาเคยอยู่ในแวดวงการศึกษามาก่อน จนได้รับการยอมรับและความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลา
- จากอาจารย์สู่เส้นทางนักการเมือง
วันมูหะมัดนอร์ มะทา จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้านครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยทุนของกระทรวงมหาดไทย จากนั้นและเข้ารับราชการครูและได้เป็นครูใหญ่ โรงเรียนอัตตรกียะห์ อิสลามมียะห์ จ.นราธิวาส ตั้งแต่ด้วยอายุเพียง 20 ปีเท่านั้น
หลังจากนั้นวันนอร์ย้ายมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยครูสงขลา หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาในปัจจุบัน ก่อนจะขยับขึ้นไปเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลา ซึ่งปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมกับเป็นอาจารย์พิเศษ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2518 ก่อนจะได้รับตำแหน่งรองอธิการบดี วิทยาลัยครูสงขลาในอีก 3 ปีต่อมา
แม้ว่าชีวิตในวัยทำงานในช่วงแรกของวันนอร์จะเกี่ยวข้องกับการศึกษาเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปี 2522 เขาได้เริ่มเข้าสู่วงการการเมือง โดยเข้าร่วม “พรรคกิจสังคม” และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิสภาผู้แทนราษฎร จ.ยะลา เป็นครั้งแรก ก่อนจะย้ายไปสังกัด “พรรคประชาธิปัตย์” พร้อมกับสมาชิกกลุ่มวาดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมผู้ที่ทำงานด้านการเมืองที่มีอิทธิพลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในอดีต ซึ่งการตัดสินใจเข้าสู่เวทีการเมืองครั้งนั้น ทำให้วันนอร์เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับตำแหน่งสำคัญในหลายรัฐบาลในเวลาต่อมา รวมถึงได้เป็น ส.ส. ติดต่อกันยาวนานถึง 10 สมัย
- วันนอร์ นักการเมืองที่อยู่มาทุกยุคทุกสมัย
หลังจากอยู่ในวงการการเมืองมานานหลายปี ในปี 2545 วันนอร์เข้าร่วมกับ “พรรคไทยรักไทย” และได้รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค แต่เนื่องจากคำวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง ในปี 2549 ทำให้เขาถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แม้ว่าจะไม่มีสิทธิ์ทางการเมือง แต่วันนอร์ก็ยังคงให้คำปรึกษาและคำแนะนำกับ ส.ส.กลุ่มวาดะห์ ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชาชน จนกระทั่งในปี 2555 วันนอร์ได้สิทธิ์ทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง และเข้าร่วมทำงานกับ “พรรคเพื่อไทย”
ที่ผ่านมาวันนอร์ได้รับตำแหน่งสำคัญทางการเมืองตั้งแต่เข้าสู่วงการได้เพียงไม่กี่ปี หลังจากสั่งสมประสบการณ์มากขึ้นเป็นเวลาหลายปี ก็มีโอกาสได้รับตำแหน่งที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือ “ประธานรัฐสภา” และ “รองนายกรัฐมนตรี” และตำแหน่งอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่
- ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2533
- รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ปี 2535
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2537
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปี 2538
- ประธานรัฐสภา ปี 2539
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยที่ 2 ปี 2544
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปี 2545
- รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2547
แม้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (14 พ.ค. 2566) เหล่าบรรดาพรรคการเมืองจะยังอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อจัดตั้งรัฐบาลและรอการรับรองผลจาก กกต. ก็มีนักวิชาการและนักการเมืองบางคนให้ความเห็นว่า “วันนอร์” ควรได้นั่งตำแหน่งประธานรัฐสภาอีกสมัย เนื่องจากมีคุณวุฒิและวัยวุฒิเหมาะสม แต่ด้านเจ้าตัวออกมาชี้แจงว่า ตำแหน่งดังกล่าวตามธรรมเนียมแล้ว ควรเป็นของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นของการเสนอชื่อประธานสภาคงต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงข้อมูล : สถาบันพระปกเกล้า, พรรคประชาชาติ และ Thai PBS