"23 ทีม"เปลี่ยนผ่านรัฐบาลใหม่ ปฏิบัติการรุกไล่“ขั้วอำนาจเก่า”
ที่น่าสนใจและถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย คือการตั้ง “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” จากมติที่ประชุม 8 พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งราชการ เอกชน ให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าทำงานอย่างไร้รอยต่อกับรัฐบาลรักษาการ
การเมืองยังขับเคี่ยวกันหนัก ตราบใดที่ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ย่อมต้องเดินเกมให้รอบคอบ
การเดินสายพบปะขอบคุณ “ฐานเสียง-แฟนคลับ” ในหลายจังหวัดทั้ง กทม. นนทบุรี ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ ล้วนมีนัยทางการเมือง ต้องการสื่อให้เห็นพลังมวลชนที่คอยสนับสนุน หาก “เครือข่ายอำนาจ” เล่นนอกกติกา อาจต้องเผชิญกระแสมวลชน
เช่นเดียวกับการเดินสายพบปะ ภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้เห็นว่า สามารถเป็น “ผู้นำ” ขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าได้
ที่น่าสนใจและถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการเมืองไทย คือการตั้ง “คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน” จากมติที่ประชุม 8 พรรคการเมืองที่ร่วมจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พ.ค. อย่างเป็นทางการ เพื่อประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งราชการ เอกชน ให้รัฐบาลใหม่เดินหน้าทำงานอย่างไร้รอยต่อกับรัฐบาลรักษาการ และยังเป็นโชว์ให้เห็นว่ารัฐบาลขั้วใหม่พร้อมทำงานทันที
คณะกรรมการประสานงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน ประกอบด้วย "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นประธาน สำหรับคณะกรรมการประกอบด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล ตัวแทนพรรคก้าวไกล เผ่าภูมิ โรจนสกุล ตัวแทนพรรคเพื่อไทย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ตัวแทนพรรคประชาชาติ
น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย วิรัตน์ วรศสิริน ตัวแทนพรรคเสรีรวมไทย กัณวีร์ สืบแสง ตัวแทนพรรคเป็นธรรม วสวรรธ์ พวงพรศรี ตัวแทนพรรคเพื่อไทรวมพลัง และ เชาวลิต ขจรพงศ์กีรติ ตัวแทนพรรคพลังสังคมใหม่
นอกจากนี้ ยังมีมติตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 คณะ จากทั้งหมด 23 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะทำงานด้านค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันดีเซล และราคาพลังงาน 2. คณะทำงานด้านภัยแล้ง เอลนีโญ 3. คณะทำงานด้านการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
4. คณะทำงานด้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 .คณะทำงานด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมและ PM2.5 6. คณะทำงานด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องและ SME 7. คณะทำงานด้านการแก้ปัญหายาเสพติด
โดยหลังจากนี้จะทยอยแต่งตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมอีก 16 คณะ โดยการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 6 มิ.ย. ที่พรรคเพื่อไทย โดยมีแนวโน้มที่จะตั้งคณะทำงานเพิ่มเติมได้ทันที
สำหรับคณะทำงาน 16 คณะที่ “8 พรรคการเมือง” เตรียมตั้งขึ้นเพิ่มเติม มีดังนี้
• เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา
• ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
• ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยืดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
• เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ
• ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ปราศจากการทุจริต
• แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน โดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
• ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือหักใช้ชั่วคราว ซึ่งใบอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นและเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GOP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรมและสินค้าไทย ให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
• ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
• ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักดันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม แก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
• จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-based budgeting)
• สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
• นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
• ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและแหล่งน้ำ ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อวางผลการผลิตและรักษาผลประโยชน์เกษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
• แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
• ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
• ดำเนินนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเซียน และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศไทยกับประเทศมหาอำนาจ
ขณะเดียวกันต้องจับตาว่า “8 พรรคการเมือง” จะมีการแต่งตั้งคณะทำงาน เกี่ยวกับข้อเห็นพ้องจะร่วมกันบริหารประเทศด้วย 5 แนวทางการปฏิบัติ หรือไม่ หลังจากวางกรอบการทำงานเอาไว้ดังนี้
1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน 2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที 3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง และ 5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้ โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
พิธา อธิบายว่า การตั้งคณะกรรมการประสานงานฯ และคณะทำงานข้างต้น เป็นทางออกของทุกพรรคในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพื่อกลั่นกรองเป็นนโยบายร่วมกันในการแถลงต่อรัฐสภา และนำไปปฏิบัติในฐานะฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป ยืนยันว่าการทำงานเป็นไปด้วยดี เราจะสามัคคีกัน เพื่อที่จะตั้งใจทำงาน ในการแก้ไขปัญหาของประชาชนให้มากสุดเท่าที่เป็นไปได้
สำหรับการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรี 8 พรรคการเมือง มองตรงกันว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล พวกเราพูดคุยในจุดประสงค์เดียวกันว่า สิ่งสำคัญคือการเตรียมพร้อมบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อประชาชน ซึ่งเมื่อสามารถเปิดประชุมสภาฯได้ หวังว่า กกต.จะใช้เวลาไม่นาน ในการรับรอง ส.ส.ทำให้ความสามารถในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ เกิดขึ้นได้โดยเร็ว ทำให้พวกเราบริหาร ผลักดันวาระต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนชาวไทยต่อไป
ความเคลื่อนไหวของว่าที่นายกฯ และว่าที่รัฐบาลใหม่ ที่ถูกจับตาว่ากำลังทำงานซ้อนรัฐบาลรักษาการขั้วอำนาจเดิมหรือไม่ ทั้งที่ยังอาจเกิดเหตุพลิกผันได้ ก็ไม่พ้นท่าทีแสดงความไม่พอใจจากนายกฯ รักษาการเช่นกัน
หลังประชุมครม.เมื่อวันที่ 30 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ตอบคำถามกรณีพรรคก้าวไกล ตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล โดยระบุว่า "ไม่สมควร เพราะสถานการณ์ยังอยู่กับรัฐบาลปัจจุบัน ส่วนวันหน้าก็เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลก็จะเตรียมข้อมูลส่งมอบไว้ด้วย โดยผมได้สั่งการทุกกระทรวงไว้แล้ว ซึ่งมีแผน งานโครงการต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว อะไรที่ยังค้างอยู่ ให้รัฐบาลใหม่ได้รับทราบ จะได้ไม่มีปัญหากัน"
และคำถามที่ว่า ขณะนี้รู้สึกว่ามี “นายกรัฐมนตรีซ้อน” หรือไม่ ก็ได้คำตอบจาก พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยคำว่า "ไม่รู้สึก“ และพูดซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องหลายครั้ง และตอบตัดบทว่า ”ไม่ขอมอง" ...และไม่ไปสร้างความขัดแย้งกับใคร ซึ่งกติกาประชาธิปไตยอะไรก็ว่ากันไป
ขณะที่ท่าที รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย "วิษณุ เครืองาม" ก็มีท่าทีประนีประนอม พร้อมแถมคำแนะนำจากเนติบริกรของหลายรัฐบาลว่า "การตั้งคณะทำงานดังกล่าวนั้นเป็นการเตรียมตัวที่ดี และไม่ได้เป็นการแทรกแซง และการขอความร่วมมือฝ่ายราชการไปชี้แจงก็ถือว่า เป็นการทำด้วยสันถวไมตรีอันดีงาม ก็สามารถทำได้ เพราะในอดีตก็มีการเคยทำ แต่ครั้งนั้นแนบเนียน มิฉะนั้นข้าราชการประจำก็อาจจะลำบากใจ เพราะยังทำงานอยู่กับรัฐบาลอยู่ ที่สำคัญกว่านั้นคือยังไม่รู้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล"
“ถ้ามีวี่แววชัด ๆ ว่าพรรคไหน จะเป็นรัฐบาล เช่น สมัยพรรคไทยรักไทยเป็นรัฐบาล ครั้งแรกที่มี 300 กว่าเสียง ก็ชัดเจนที่จะกลับเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ไม่ต้องอาศัย ส.ว.มาโหวต ตอนนั้น แม้จะยังไม่โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯ เขาก็ไปขอความร่วมมือข้าราชการ ให้ตัวเลขข้อมูล ขณะที่ข้าราชการนั้นไม่ผิด แต่อาจจะอึดอัดใจ ขึ้นอยู่กับว่าขอข้อมูลอะไร”
แม้จะถูกเบรก แต่ว่าที่นายกฯและรัฐบาลก้าวไกลก็ยังมั่นใจสูง เพราะรันคิวต่อเนื่อง โดยวันนี้ 1 มิ.ย.จะถกกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อพูดคุยนโยบายกระจายอำนาจ 5 มิ.ย.พบผู้ว่าฯ กทม. ถัดไปเป็นคิวแลกเปลี่ยนกับภาคเอกชน ทั้งสมาคมธนาคารไทย สมาคมตลาดทุนไทย สมาคมท่องเที่ยวภูเก็ต สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ส่งสัญญาณชัดในการรุกไล่รัฐบาลขั้วอำนาจเก่า หลังจากนี้ทางพรรคก้าวไกลมีแผนหารือกับหลายหน่วยงาน