ประเมินเกม รัฐบาล “ส้มหล่น” ส.ว.เล็งผล “ยุบก้าวไกล” ปมแก้ 112
มุมคาดการณ์ของ "ส.ว." กลุ่มหนึ่ง ที่ยืนขวาง "ก้าวไกล" ก้าวสู่ผู้นำบริหารประเทศ เชื่อว่า อนาคตจะมีจุดคล้ายกับ "อนาคตใหม่" เพราะพฤติกรรม คิดแก้ม.112 ที่มีคนร้องให้ "ยุบพรรค" เพราะเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์การปกครอง
ดีลลับ “ตั้งรัฐบาล” เพื่อตัดขา “พรรคก้าวไกล” แกนนำเบอร์หนึ่ง ดูท่าจะถูก “สยบ” หลัง “ชลน่าน ศรีแก้ว” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันต่อหน้าการแถลงข่าวผลการประชุมจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อ 30 พฤษภาคม ว่า
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะอยู่ด้วยกันตลอดไป เพื่อตั้งรัฐบาลของพี่น้องประชาชนให้ได้”
ทว่า การส่งสัญญาณออกมาแบบนี้ ก็ใช่ว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯ คนที่ 30 จะวางใจได้ว่า จะได้รับเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา
เพราะยังมีอุปสรรคสำคัญจากกลไกของ “ส.ว.” ที่สามารถโหวตนายกฯ ได้ และขณะนี้เสียงส่วนใหญ่ยังตั้งป้อม “ขวาง” นายกฯของพรรคก้าวไกล ให้ขึ้นเป็นผู้นำประเทศ
ขณะเดียวกันในวงหารือเล็กๆ อย่างไม่เป็นทางการของ ส.ว. ได้ประเมินสถานการณ์และค่อนข้างมั่นใจว่า “พรรคเพื่อไทย” จะสลับอันดับขึ้นมาเป็น “ผู้นำรัฐบาล”
ส่วนพรรคก้าวไกล คาดว่าจะซ้ำรอยกับกรณี “พรรคอนาคตใหม่” ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค
ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ต้องพ้นจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ และไม่อาจเลื่อนบัญชีผู้สมัครลำดับถัดไปขึ้นมาแทนได้ ทำให้จำนวน ส.ส.ของพรรคลดลง
หากเป็นไปตามนี้ ส.ส.ของก้าวไกล ที่เป็นว่าที่ส.ส.และนั่งกรรมการบริหารพรรค ประมาณ 14 คน จะถูกตัดสิทธิ ทำให้สัดส่วนว่าที่ ส.ส. เป็นรอง “เพื่อไทย”
เหตุปัจจัยที่ถูกยกมาวิเคราะห์ คือกรณีที่พรรคก้าวไกล “มีการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เหตุดำเนินการเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ การเสนอร่างแก้ไข เมื่อ 25 มีนาคม 2564 ในสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ผ่านมา
ต่อเนื่องถึงการเสนอเป็นนโยบายของพรรคก้าวไกล จนถึงคำอธิบายของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล บนเวทีดีเบตก่อนเลือกตั้ง รวมถึงคำยืนยันหลังจับมือ 8 พรรคลงนามร่วมตั้งรัฐบาล
พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นการดำเนินการ “จนกว่า จะยกเลิกมาตรา 112 สำเร็จ" ตามคำร้องของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ทนายความอิสระ ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อ 22 พฤษภาคม และยื่นต่ออัยการสูงสุดเมื่อ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา
บทสรุปของคำร้องนั้น ขอให้พิจารณาตรวจสอบพรรคก้าวไกลว่า กระทำการขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตร 92 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล
แม้ประเด็นจะไม่อยู่ในอำนาจที่ ส.ว.จะออกความเห็น หรือวิจารณ์ หรือก้าวล่วงคำตัดสินของ กกต. หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ล่วงหน้า ว่าจะออกมาในทิศทางยุบพรรคก้าวไกลหรือไม่
แต่กลับถูกยกเป็น “การคาดการณ์” ต่อสถานการณ์การเมืองช่วงจัดตั้งรัฐบาล ที่ส่งผลโยงเป็นปัจจัยหนึ่ง ของการตัดสินเลือก “แคนดิเดตนายกฯ” ต่อที่ประชุมรัฐสภา นับปฏิทินตามกรอบของรัฐธรรมนูญแล้วจะไม่เกินไปกว่า 15 สิงหาคม นี้
สิ่งที่ “ก๊วน ส.ว.” ยังพูดถึงคือ “โหวตไม่เสียของ” เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน หลังจากการเลือกตั้งไม่สะดุด และไม่ต้องกลับมาเข้าสู่กระบวนการเลือกนายกฯ หลายรอบ
ขณะที่ประเด็น “ขวาง” คนของก้าวไกลเป็นนายกฯ ยังถูกไฮไลต์ไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีระดับผู้นำทางความคิด ใน “สภาจันทรา” ประกาศว่า “ไม่ให้โอกาสเขาได้ดูแลประเทศ” พร้อมกับสร้างกระแสโน้มน้าวการตัดสินใจของ ส.ว. ไปในเชิงว่า “โหวตก้าวไกลเท่ากับคิดล้มสถาบัน”
แม้คนของก้าวไกลจะพยายามอธิบายสาระสำคัญในหลายเวที ต่อมุมมองและแนวคิดว่า ไม่ได้คิดจะล้มสถาบันเบื้องสูง เพียงแค่ปรับเพื่อไม่ให้กฎหมายนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานผู้เห็นต่างทางการเมือง แต่ก็ไม่อาจลบภาพประทับบนชื่อพรรคก้าวไกล และหน้าของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ไปได้
อย่างไรก็ดี ในมุมที่ ส.ว.มีตราประทับว่ามาจาก “ขั้วอำนาจเก่า-คสช.” ขณะนี้มีความพยายามปลุกและสร้างกระแสจาก “จเด็จ อินสว่าง” ที่ต้องการเปิดช่องให้พรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พรรครวมไทยสร้างชาติที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแกนนำ มีที่ยืนในการบริหารประเทศต่อไป
ผสมรวมกับทุกพรรค ตั้ง “รัฐบาลแห่งชาติ” โดยไม่สนใจว่า บนเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญนั้นขีดกรอบ และกติกาทางการเมืองไว้อย่างไร
แม้อภินิหารรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่สร้างกับดัก-ล็อกการเมืองหลังเลือกตั้ง ทว่าหลังเลือกตั้ง 2566 อภินิหารเหล่านั้น ถูกสยบไม่ให้แผลงฤทธิ์จากตัวเลขของพรรคฝั่งเสรีนิยม ที่รวมกันได้เกิน 312 เสียง
ฉะนั้นกับดักสุดท้ายที่รัฐธรรมนูญ 2560 วางไว้ และรัฐบาลขั้วอำนาจใหม่ต้องฝ่าไปให้ได้ คือ “ส.ว.250 คน” ที่มาจากขั้วอำนาจเก่า ที่ขณะนี้พยายามสร้างมูลค่าเป็นตัวแปรสำคัญ เพื่อชี้ทิศทางว่า “ส้มจะหล่น” ไปที่มือใครในตอนสุดท้าย.