ม.113 กฎหมายจับ “ประยุทธ์” บทสรุปลงจากหลังเสือ“ต้องฆ่าเสือ”?
"การลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างาม เรื่องนี้ก็แล้วแต่พวกเรา ผมก็ลงเหมือนคนเดินดินปกติ ส่วนกรณีที่ผ่านมาอดีตนายกฯ หลายคนเวลาลงจากหลังเสือจะบาดเจ็บตลอดนั้น เราก็ลงให้เป็นสิ หรือฆ่าเสือก่อนสิ”
การทำรัฐประหารว่ายากแล้ว แต่การลงจากหลังเสืออย่างไรไม่ให้ถูกเช็กบิลยิ่งยากกว่า กับสถานการณ์ที่ดูเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตกเป็นรอง ซึ่งไม่เพียงแต่ปมแก้มาตรา 112 เท่านั้นที่ประกาศขัดขวางเต็มที่ แต่หมายรวมถึงร่างกฎหมายอื่นใน 45 ฉบับของพรรคก้าวไกล หากปล่อยให้เข้าสู่สภาฯ ย่อมหมายถึงภัยอันตรายต่อผู้เกี่ยวข้องที่ทำรัฐประหารทุกคน
กลเกมการเมือง ขณะนี้อยู่ในช่วงชิงไหวชิงพริบ โดย “ขั้วอำนาจใหม่” เดินสายพบปะภาคประชาชน ประชาสังคม ภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และให้เห็นภาวะความเป็นผู้นำที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศ ควบคู่ไปกับการเดินสายปลุกพลังมวลชนหลายจังหวัด เป็นเกราะคุ้มกันหากใครเล่นตุกติกนอกกติกา
ส่วน “ขั้วอำนาจเก่า” ใช้ความนิ่งสยบความเคลื่อนไหว ฉากหน้าเหมือนยอมจำนน แต่ลับหลังอาศัยกลไกทางกฎหมายเดินเกมสกัด เพราะหากปล่อยให้พรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาลสำเร็จมี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”เป็นนายกฯ โอกาสที่ร่างกฎหมายรื้อมรดก คสช.จะถูกผลักดันเข้าสภาอีกรอบย่อมเป็นไปได้สูง
เพราะตามนโยบายพรรคก้าวไกล ที่ประกาศเดินหน้าผลักดันร่างกฎหมายอย่างน้อย 45 ฉบับนอกเหนือจากเอ็มโอยูที่ลงนามกับพรรคร่วมรัฐบาล ผ่านระบบนิติบัญญัติของรัฐสภา โดยในหมวดการเมือง มี 11 ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง
โดยร่างกฎหมายดังกล่าว เคยถูกตีตกเมื่อปี 2564 ฉบับแรกสภามีมติไม่เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ.... เสนอโดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผอ.โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ด้วยคะแนนเสียง 234 ต่อ 162 งดออกเสียง 3 ไม่ลงคะแนน 1
ฉบับที่สอง สภามีมติไม่เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. เสนอโดย ปิยบุตร แสงกนกกุล ด้วยคะแนนเสียง 229 ต่อ 157 งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 2
ในขณะนั้นได้จัดแบ่ง คำสั่ง-ประกาศ คสช. ออกเป็น 4 หมวด ที่อ้างว่ากระทบสิทธิเสรีภาพ ประกอบด้วย
1. จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมือง 5 คนขึ้นไป ไม่มารายงานตัว
2. กระทบต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น พลเรือนขึ้นศาลทหาร ให้อำนาจทหารตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัว 7 วัน
3. จำกัดเสรีภาพสื่อมวลชน เช่น ระงับการให้บริการส่งข้อความเชิงปลุกระดม ยั่วยุ สร้างความรุนแรง ต่อต้าน คสช.
4. ละเมิดสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม เช่น ปฏิบัติการทวงคืนผืนป่า ตั้งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นำที่ดินสาธารณสมบัติ มาทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรวม 7 จังหวัด ยกเว้นการใช้ผังเมืองรวมสำหรับกิจการบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าชีวมวล โรงงานกำจัดขยะ และอื่นๆ
หากรัฐบาลก้าวไกลผลักดัน พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช.สำเร็จ จะส่งผลให้กฎหมายต่างๆ ถูกยกเลิกทั้งหมด ทุกอย่างจะวกกลับไปใช้กฎหมายตัวเดิมก่อนเหตุรัฐประหารปี 2557 เปิดทางเอาผิด “คณะรัฐประหาร”และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดตามมาตรา 113 เพราะเป็นกฎหมายที่มีอยู่ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจ
โดย มาตรา113 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็น “กบฏ” ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
แต่กระนั้น บทเรียนทั้งด้านการศึกและการสงครามของทหาร ย่อมมีการประเมินถึงระบบการป้องกันตัวรองรับการเช็กบิลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้ตัวดีและเคยพูดทีเล่นทีจริงถึงประเด็นดังกล่าวมาหลายครั้งว่า
"การลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างาม เรื่องนี้ก็แล้วแต่พวกเรา ผมก็ลงเหมือนคนเดินดินปกติ ส่วนกรณีที่ผ่านมาอดีตนายกฯ หลายคนเวลาลงจากหลังเสือจะบาดเจ็บตลอดนั้น เราก็ลงให้เป็นสิ หรือฆ่าเสือก่อนสิ”
ดังนั้นจึงต้องลุ้นว่าวิบากการเมืองของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะฝ่าไปถึงเก้าอี้นายกฯได้หรือไม่ เพราะด่านหินมีตั้งแต่คดีหุ้นสื่อ หรืออุปสรรคจากกลไก ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ ต่อประเด็นแก้ ม.112
สถานการณ์นับต่อจากนี้จึงน่าจับตายิ่ง ว่า เกมการเมืองจะออกมาในรูปแบบใด และเป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ คาดหวังไว้หรือไม่