‘ปิยบุตร’ สวน ส.ว.ยันรัฐบาลแห่งชาติทำไม่ได้ ย้ำ ปธ.สภาฯ ต้อง ‘ก้าวไกล’
‘ปิยบุตร’ สวน ส.ว.เปิดช่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติทำไม่ได้ ขัด รธน.ชัดเจน ย้ำ ‘ประธานสภาฯ’ ต้องเป็นของ ‘ก้าวไกล’ เรียกร้อง ‘2 ป.’ แถลงยอมรับความพ่ายแพ้ รับแก้ ม.112 ไม่ง่าย อาจถูกตีตกได้ในทุกวาระ
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา นายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการคณะก้าวหน้า และผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล เปิดเผยผ่าน "เนชั่นทีวี" ถึงข้อเสนอของนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว.ให้มีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ไม่ทราบว่า ส.ว.ท่านนี้จะเสนอช่องทางไหนถ้าเสนอโดยงดเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตรา ทำไม่ได้แน่นอน เพราะผิดรัฐธรรมนูญชัดเจน และอาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วย
“ข้อเสนอ การแก้ไขบางมาตรา เกี่ยวกับ ส.ว.ไม่ให้เลือกนายกฯ สมัยเป็น ส.ส. พยายามผลักดัน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ปิดสวิทซ์ จริง ๆ ถ้า ส.ว.ไม่สะดวกในการลงมติ เลือกนายกฯ มีอีกวีธีแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิทย์ ส.ว.ตัวเองเลย แก้มาตรา 272 ให้ตัวเองไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แล้วให้ ส.ส.เลือกกันเอง เป็นทางออกให้ ส.ว.ที่ไม่อยากมาร่วมลงมติครั้งนี้” นายปิยบุตร กล่าว
ส่วนกรณีที่ ส.ว.ส่งสัญญาณการจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จจะบานปลายสู่ความรุนแรงท้องถนน นายปิยบุตร กล่าวว่า จินตนาการมากเกินไป ส.ว.บางท่าน อย่าเอาความเชื่อปะปนความจริง ความจริงตอนนี้ เสียงข้างมากเลือกก้าวไกล 14 ล้านเสียง เพื่อไทย 10 ล้านเสียง ทั้งกลุ่มรวมกัน 25 ล้านเสียง เกินกว่ากึ่งหนึ่งมามากแล้ว อยากจะเชิญส.ว.ที่จินตนาการไปไกลขณะนี้ว่า มองถึงความเป็นจริงว่าเสียงข้างมากคือ มติมหาชน เขาสนับสนุนพรรคใดกลุ่มใด ตั้งรัฐบาล อย่าเอาจินตนาการ ความเชื่อความกลัวมาใช้
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ส.ว.บางท่านสนับสนุนจะโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ บางท่านยังไม่แสดงออก บางท่านไม่สนับสนุนเป็นดุลพินิจแต่ละท่าน สำหรับท่านที่ไม่สนับสนุน เอาง่ายๆวันนั้นก็ไปยกมือเลย แต่อย่าสร้างความหวาดกลัวให้สังคมไทย การเมืองไทยกำลังเข้าสู่ระบบปกติกันแล้ว กลุ่มก้อนที่เขาชนะเลือกตั้ง ต้องไม่ลืมว่าเขาชนะภายใต้กติการัฐธรรมนูญปี 60 ที่สืบทอดการออกแบบโดยคณะรัฐประหารด้วย จึงต้องยอมรับกติกาให้ชัดเจน
"ผมยังมั่นใจว่าคุณพิธา จะได้เป็นนายกฯแน่นอนที่สุดหล่ะ มีสำนวนที่ว่า มารไม่มีบารมีไม่เกิด ยิ่งมีอุปสรรคเป็นธรรมดา แล้วยิ่งอุปสรรคมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สังคมไทย เห็นความผิดปกติพิกลพิการของรัฐธรรมนูญ 60" นายปิยบุตร กล่าว
อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า สมัยเป็นเด็กติดตามการเมืองไทย วันสองวันประกาศชัยชนะเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลแล้ว แต่รัฐธรรมนูญปี 60 ให้เวลา กกต.ทอดยาวไปอีกกว่าจะรับรองผล หลังจากนั้นกว่าจะเรียกประชุมสภา กว่าจะเลือกประธานสภา เลือกนายกฯ กินเวลาไปอีกสองเดือน นี่คือความผิดปกติของรัฐธรรมนูญ60 และยังมีความผิดปกติ ของส.ว.เลือกนายกฯ ดังนั้นยิ่งแสดงให้เห็นแบบนี้มากเท่าไหร่ แสดงให้เห็นรัฐธรรมนูญ มีปัญหาจริงๆ ทำให้สังคมนานาอารยประเทศ มองว่า เลือกตั้งแล้วทำไมยังตั้งรัฐบาลไม่ได้
“ผมเชื่อจริงๆ ส.ว.จำนวนมาก มีวุฒิภาวะ สมชื่อวุฒิสภา เชื่อว่าหลายท่าน ปฏิบัติตัว ครองตัวตามคำนี้เลย น่าจะเห็นความสำคัญ ของบ้านเมือง ที่จะต้องเห็นทางออกให้บ้านเมืองไปต่อให้ได้ เมื่อกติกาให้เลือกตั้งมา พรรคเหล่านี้ ชนะเลือกตั้งก็ควรให้การสนับสนุน มั่นใจส.ว.จำนวนมาก เล็งเห็นประเทศไทยจะต้องผ่าทางตัน เรื่องนี้ได้” นายปิยบุตร กล่าว
เมื่อถามถึงตำแหน่ง"ประธานสภาฯ" ยังเป็นของพรรคก้าวไกลหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ความเห็นเรื่องนี้ ยืนยันแบบเดิม ในประวัติศาสตร์พรรคการเมืองไทย พรรคอันดับหนึ่ง ส.ส.อันดับหนึ่ง ไม่ได้เป็นประธานสภามีอยู่แค่สองครั้ง คือ ในช่วงที่พรรคชาติไทย ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่ง เสนอนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานสภาฯ ต่อมาถูกเตะเป็นฝ่ายค้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ พรรคชาติไทยเสนอ นายอุทัย เป็นประธานสภา ปี 62 พรรคพลังประชารัฐ คะแนนอันดับหนึ่ง เสนอนายชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภา มีแค่สองครั้งเอง
เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา พรรคอันดับหนึ่งเป็นคนเสนอ มีกรณีหนึ่งอยากชวนให้ดู ในปี 2539 พรรคความหวังใหม่ ได้ 125 เสียง ปชป. 123 เสียง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นประธานสภา ต่อมาปี 40 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ลาออก จากนายกฯเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ปชป.เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล นายวันมูหะมัดนอร์ แสดงสปิริตลาออกจากประธานสภา และให้นายพิชัย รัตตกุล จาก ปชป. เป็นประธานสภา และนายชวน หลีกภัย เป็นนายกในช่วง ปี 40 นั่นแสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์การเมืองอดีตตามประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมา พรรคอันดับหนึ่งที่มี ส.ส.ตนเองเป็นประธานสภา เรื่องที่สอง เท่าที่แสดงความเห็น ดูนโยบายพรรคก้าวไกล มีความตั้งใจในการเสนอกฎหมาย ทำสภาโปร่งใส เชื่อมั่นว่าท้ายสุด พรรคก้าวไกลไปพูดคุยเพื่อไทย ได้อย่างรู้เรื่อง ส่วนความเห็นส่วนตัวของผม ยังยืนยันประธานสภา ควรเป็นของพรรคก้าวไกลในรอบนี้
อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวอีกว่า ตามที่บางฝ่ายคาดการณ์ว่าในที่สุดตำแหน่งประธานสภาเป็นของพรรคเพื่อไทยนั้น เชื่อว่าคงไปไม่ถึงเหตุการณ์นั้น สองพรรคคงคุยกันได้ เนื่องจาก จุดเริ่มต้นรัฐบาลชุดหน้ามาถึง
1.แบกความคาดหวังประชาชนสูงมาก และเป็นรัฐบาลลักษณะพิเศษ สองพรรคใหญ่ ร่วมกันตั้ง จึงมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว ระหว่างทางมีความเห็นไม่ตรงกัน ความเห็นของผู้บริหารพรรคก้าวไกลจะประนีประนอม เจรจาต่อรองกับเพื่อไทยอย่างไร
2. จะบริหารความรู้สึกผู้ลงคะแนนให้พรรคก้าวไกลที่มีหลากหลายกลุ่มอย่างไร เมื่อเข้าสู่อำนาจบริหาร กระทรวงต่างๆ เขาจะส่งมอบนโยบาย ที่หาเสียงไว้อย่างไร นี่คือความท้าทายของพรรคก้าวไกล
“ผมให้ความเห็นทางวิชาการเมื่อเทียบเคียงประวัติศาสตร์การเมืองในอดีต ชี้ให้เห็นว่า ส.ส.ก้าวไกล ควรได้เป็นประธานสภา” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า ไม่ทราบว่า ให้คณะเจรจาสองพรรคพูดคุยกัน ตนแสดงความเห็นส่วนบุคคล ส่วนตกลงได้หรือไม่ได้เป็นเรื่องเจรจาของสองพรรค คิดว่าประเด็นประธานสภา เป็นประเด็นเดียว ไม่ได้ใหญ่มากมายกับอีกหลายเรื่องที่ สองพรรคต้องทำงานร่วมกัน แต่เบื้องต้น มีความเห็นส่วนตัวแบบนี้ ตนไม่มีอำนาจไม่มีส่วนไปทะเลาะกับเขา
ส่วนมีความเป็นไปได้ การเสนอรับตำแหน่งประธานสภาแบบคนละครึ่งหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ให้สองพรรคไปเจรจาพูดคุยกัน ยังมีเวลาตามที่เขาบอก จะพูดคุยกันเอง เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจบ ยังมีอีกหลายเรื่องที่ตองทำงานร่วมกัน นี่เป็นลักษณะพิเศษ ของพรรคอันดับหนึ่งอันดับสอง ต้องเจรจาอีกหลายเรื่องนอกจากประเด็นประธานสภา
"ผมยังเชื่อมั่นว่า พรรคก้าวไกล ได้ตำแหน่งประธานสภา แล้วก็ถ้าผมจะแสดงความเห็นอะไร ว่ากันอีกที แต่จุดยืนของผมแสดงไปแล้ว เมื่ออาทิตย์กว่าไปแล้ว และไม่เปลี่ยนความเห็น" นายปิยบุตร กล่าว
อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ถือโอกาสนี้เรียกร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งสองท่าน ครองอำนาจมาเก้าปีแล้ว ควรยอมรับความเป็นจริง ควรยอมรับผลการเลือกตั้ง เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ท่านประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ และลงอำนาจไปอย่างสวย ๆ เพราะกติกาเหล่านี้ พวกท่านเป็นส่วนในการออกแบบมา แล้วพรรคที่ชนะลงแข่งขันในกติกาของพวกท่าน
"ผมนึกไม่ออกว่า สมมติถ้าเป็นผม เป็นแคนดิเดตนายกฯของพรรค ที่ได้ 30 - 40 เสียง ผมประกาศยอมแพ้แล้ว ตรงไปตรงมา นี่มันประหลาดมากเลย บ้านอื่นเมืองอื่นเขาทำกันหมด พรรคตัวเองแพ้ต้องยอมรับ จนถึงวันนี้ ผมยังไม่ได้ยินพรรคอื่น ๆประกาศยอมรับความพ่ายแพ้เลย น่าเสียดายมาก ควรสร้างวัฒนธรรมการเมือง เมื่อก่อนเราก็ทำ ไม่ทำสมัยนี้ล่ะ บ้านอื่นเมืองอื่นเขาก็ทำ เมื่อคุณเลือกตั้ง และแพ้ก็พร้อมออกจากตำแหน่ง และเตรียมส่งมอบรัฐบาลชุดใหม่ทำงาน" นายปิยบุตร กล่าว
"พล.อ.ประยุทธ์ ท่านลองพูดกับสื่อมวลชนสักครั้งหนึ่งสิ ยอมรับความพ่ายแพ้ พร้อมลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ถ้าท่านพูดแบบนี้ ฟ้าเปิดขึ้นเยอะ บรรยากาศดีขึ้นเยอะ" นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาเตือนคณะนายพิธา เดินสายพบปะองค์กรต่างๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ อย่ามองตำแหน่งตัวเองเป็นหลัก อีกคณะหนึ่งเตรียมเข้ามาทำงานแล้วควรแสดงความยินดี ใจกว้าง เขาไม่ได้เดินสายพูดคุยผิดแผกแตกต่างอะไร ก็เปิดเผยตามปกติ ในทางตรงข้ามรัฐบาล รัฐบาลที่พ้นจากตำแหน่ง ควรแสดงความยินดีและแสดงความใจกว้างให้มากกว่านี้
ส่วนที่มีมุมมองจากนักวิชาการรัฐศาสตร์เสนอให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องแสดงภาวะผู้นำกล้าตัดสินใจแทนที่ต้องฟังผู้มีบารมีนอกพรรคนั้น นายปิยบุตร กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมีคณะทำงานผู้บริหารของเขา ตนเป็นผู้ช่วยหาเสียงอยู่ประมาณสองเดือนตอนนี้หมดสถานะแล้ว จากนั้นก็กลับไปทำงานด้านวิชาการ เรื่องกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น มั่นใจว่า พวกเขาเหล่านี้ซึ่งเคยอยู่กับพรรคอนาคตใหม่มาด้วยกัน มีความรู้ความสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้หมด
"ที่สำคัญที่สุด ผู้มีบารมีนอกพรรค ตัวจริงของก้าวไกล คือประชาชน ที่เลือกเขามา คนเรานี่หล่ะ ที่เป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก คนเหล่านี้หล่ะที่เป็นผู้มีบารมีนอกพรรคการเมืองตัวจริง ส่วนผมให้ความเห็นทางวิชาการ เห็นอะไรดีก็ชม เห็นอะไรไม่ดีก็วิจารณ์ในฐานพลเมืองคนไทย คนหนึ่ง" นายปิยบุตร กล่าว
ส่วนกรณีนายพิธา ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ยืนยันการแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.มี 3 ช่องทางตามที่ ครม.เสนอ ช่องทางที่สองสภาเสนอ และช่องทางที่สาม ประชาชนเสนอ เชื่อว่า เมื่อถึงสถานการณ์นั้น ครม.คงไม่มีการเสนอ คราวนี้ ส.ส.รณรงค์หาเสียงเอาไว้จึงเป็นภารกิจและจากประชาชนก็คงเสนอเข้าไป ส่วนผ่านไม่ผ่านเป็นเรื่องของสภา
“อย่าลืมว่า พรรคก้าวไกล มี ส.ส. 151 เสียง ยังไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภาฯเลย ผู้ที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงนั้น อย่าวาดความหวาดกลัวจนเกินไป ว่าจะสามารถผลักดันกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งได้สามวาระรวด เป็นไปไม่ได้อยูแล้ว เพราะมีแค่ 151 คน หากร่างกฎหมายเสนอเข้าสภาไปแล้วก็ต้องพูดจาอภิปรายกัน อาจจะตกวาระหนึ่ง หรือตกที่ ส.ว.ก็ได้” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างน้อยที่สุด การนำกฎหมายเข้าไปเป็นการนำเรื่องที่ร้อนอยู่ข้างนอกไปคุยในสภา และเป็นความรับผิดชอบที่หาเสียงกับประชาชนไว้ คิดว่า ประชาชนและสังคมไทย และ ส.ว.จะแยกแยะออกว่าสิ่งที่เขาทำงานนิติบัญญัติ โดย ส.ส.ไม่ใช่ทำในนามรัฐบาล และนิติบัญญัตติ ต้องมีพรรคฝ่ายค้าน พรรคอื่นอีก กว่าจะผ่านแต่ละด่านได้ยากอยู่